ยูเรเนียม

10710

ยูเรเนียม (U) จัดเป็นธาตุกัมมันตรังสีที่ทราบ และรู้จักกันดีสำหรับการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ หรือ ปรมาณู และปัจจุบัน ยังมีบทบาทสำคัญสำหรับใช้เป็นแหล่งให้ความร้อนในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ประวัติยูเรเนียม
ธาตุยูเรเนียม ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1789 โดยนักเคมีชาวเยอรมัน Martin Klaproth ที่ค้นพบในแร่พิซเบลนด์ (pitchblend) และตั้งชื่อให้เป็น ยูเรเนียม ตามดาวนพเคราะห์ที่เพิ่งถูกค้นพบในขณะนั้น และต่อมาประมาณปี ค.ศ. 1842 หรือประมาณอีก 53 ปี จึงได้ค้นพบวิธีการแยกยูเรเนียมออกจากสินแร่ได้ โดยนักเคมีชาวฝรั่งเศส ชื่อ Peligot

ต่อมาในปี ค.ศ. 1896 ได้มีการค้นพบว่า ธาตุยูเรเนียมเป็นธาตุกัมมันตรังสี ชนิดที่แผ่คลื่นสั้นได้ ซึ่งไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า โดยนักเคมีชาวฝรั่งเศส ชื่อ Becquerel และยูเรเนียมถูกนำมาผลิตเป็นปรมาณู และมีการทดลองได้สำเร็จในรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา เมื่อ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1789

ลักษณะกายภาพ และเคมี
– สัญลักษณ์ : U
– สถานะ : ของแข็ง สีเงิน-ขาว เป็นประกาย แข็งแต่อ่อนกว่าเหล็ก และสามารถตีเป็นแผ่นได้
– เลขอะตอม : 92
– มวลอะตอม : 238.029
– ความถ่วงจำเพาะ : 19.05
– จุดหลอมเหลว : 1133 °C
– เลขออกซิเดชัน : 3,4,5 และ6
– รูปของออกไซต์ : UO, UO2, UO3 และU3O8

ยูเรเนียม

ชนิดยูเรเนียม
ยูเรเนียมในธรรมชาติจะแบ่งออกเป็น 3 ไอโซโทป คือ
1. ยูเรเนียม 234 พบประมาณ 0.0054%
2. ยูเรเนียม 235 พบประมาณ 0.7110%
3. ยูเรเนียม 238 พบประมาณ 99.2805%

แหล่งที่พบ
ยูเรเนียมพบได้ทั่วไปบนโลก โดยพบมากในแร่ pitchblend (U3O8 2+) และ uraninite (UO2 2+) เป็นต้น และสามารถพบได้มากในหินฟอสเฟต หินลิกไนต์ และทรายโมนาไซต์ ในความเข้มข้นประมาณ 50-3000 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ส่วนในดินจะพบยูเรเนียมที่ความเข้มข้นประมาณ 0.3-11.7 มก./กก.

ปฏิกิริยายูเรเนียม
ในธรรมชาติยูเรเนียมจะเกิดปฏิกิริยากับอากาศได้เร็วมาก และหลังเกิดปฏิกิริยาจะเกิดเป็นออกไซด์ของยูเรเนียมที่มีลักษณะเป็นแผ่นฟิล์มปกคลุมชั้นผิว โดยช่วงแรกจะเป็นสีทอง และจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีดำ

พิษของยูเรเนียม
ยูเรเนียมมีความเป็นพิษเหมือนกับโลหะหนัก เช่น แคดเมียม และปรอท ที่สามารถทำปฏิกิริยากับโปรตีนในร่างกายทำให้ร่างกายดูดซึมกลูโคส และกรดอะมิโนได้น้อยลง รวมถึงการแผ่รังสีจาการสลายตัวของยูเรเนียมยังเป็นอันตรายต่อมนุษย์ได้หากได้รับรังสี เช่น เนื้อเยื่อตาย ฮอร์โมนทำงานผิดปกติ เป็นต้น นอกจากนั้น การสลายตัวของยูเรเนียมจะได้ก๊าซเรดอนที่เป็นก๊าซกัมมันตรังสีที่ไม่มีสี และกลิ่น หากได้รับในปริมาณมากจะทำให้เกิดมะเร็งปอด