แมกนีเซียม (Mg) และประโยชน์แมกนีเซียม

36847

แมกนีเซียม (Mg) เป็นแรธาตุที่มีความสำคัญต่อร่างกายมนุษย์ และสัตว์ รวมถึงมีความสำคัญต่อการสร้างคลอโรฟิลล์ของพืช โดยพบเป็นองค์ประกอบในแร่ต่างๆ อาทิ ไบโอไทต์ โดโลไมต์ ออไจต์ เซอร์เพ็นทีนและโอลิ เป็นต้น และอยู่ในรูปของสารประกอบต่างๆ ได้แก่ แมกนีเซียมคลอไรด์ (MgCl2), แมกนีเซียมซัลเฟต (MgSO4), แมกนีเซียมไบคาร์บอเนต (Mg(HCO3)2 ), แมกนีเซียมคาร์บอเนต (MgCO3 ) และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Mg(OH)2 )

คุณสมบัติเฉพาะของแมกนีเซียม
– เลขอะตอม : 12
– น้ำหนักอะตอม : 24.32
– โครงสร้างผลึก : HCP
– ความถ่วงจำเพาะ ที่ 20 °C : 1.7388 กรัม/ซม3
– ความถ่วงจำเพาะ ที่ 700 °C : 1.544 กรัม/ซม3
– ความถ่วงจำเพาะที่จุดหลอมเหลว : 1.624 กรัม/ซม3
– ความถ่วงจำเพาะที่จุดแข็งตัว : 1.572 กรัม/ซม3
– การหดขณะแข็งตัว(solidification shrinkage) : 40%
– จุดหลอมเหลว  : 648 °C
– จุดเดือด  : 1120 °C
– การต้านทานไฟฟ้าที่ 20 °C : 4.4699 ไมโครโอมห์/ซม3
– ความแข็งแรงดึงสูงสุด  : 200 เมกกะปาสคาล
– ความแข็งแรงดึงจุดคราก  : 130 เมกกะปาสคาล
– เปอร์เซ็นต์การยืดตัว (%E) ที่ 20 °C : 6
– โมดูลัสความยืดหยุ่น : 44 จิกกะปาสคาล
– Poisson’ Ratio : 0.35
– โมดูลัสเฉือน : 19 จิกกะปาสคาล

ที่มา : สุวรรณ สุนทรีรัตน์, (2529)(3)

Magnesium

การเกิดตะกอนของแมกนีเซียม
• การตกตะกอนร่วมกับซัลเฟต และกรดเกลือ
Mg2+ + SO42- + 2NaOH = Mg(OH)2 (s) + 2Na+ + SO42-

• การตกตะกอนร่วมกับคลอรีน และกรดเกลือ
Mg2+ + 2Cl + 2NaOH = Mg(OH)2 (s) + 2Na+ + 2Cl

• การตกตะกอนร่วมกับไนเตรต และกรดเกลือ
Mg2+ + 2NO3 + 2NaOH = Mg(OH)2 (s) + 2Na+ + 2NO3

ประโยชน์ของแมกนีเซียม
1. แมกนีเซียมต่อมนุษย์ และสัตว์
แมกนีเซียมในร่างกายส่วนใหญ่จะจับกับแคลเซียม และฟอสฟอรัส โดยพบมากในกระดูก รองลงมา ได้แก่ เนื้อเยื่อ และเลือด โดยแมกนีเซียมในร่างกายทำหน้าที่กระตุ้นเอนไซม์ที่สร้างพลังงานและเนื้อเยื่อ รวมถึงควบคุมให้กล้ามเนื้อทำงานอย่างปกติ และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรังได้ นอกจากนั้น แมกนีเซียมช่วยควบคุมการนอนหลับ หากร่างกายได้รับแมกนีเซียมต่ำลง อาจจะมีผลต่อภาวะการนอนหลับได้ เนื่องจาก แมกนีเซียมมีส่วนทำให้เส้นประสาทถูกกระตุ้นน้อยลง และทำให้ acetylcholine ที่ปลายประสาทถูกปลดปล่อยน้อยลงด้วย อีกทั้ง แมกนีเซียมช่วยยับยั้งสารสื่อประสาท N-methyl-Daspartate (NMDA) ที่ทำหน้าที่กระตุ้นระบบประสาท

แมกนีเซียมในร่างกาย
– กระดูก พบประมาณ 53%
– กล้ามเนื้อ พบประมาณ 27%
– Soft tissue พบประมาณ 19%
– Adipose tissue พบประมาณ 0.012%
– Erythrocytes พบประมาณ 0.5%
– Serum พบประมาณ 0.3%

แมกนีเซียม

ความต้องการแมกนีเซียม
– วัยรุ่นเพศชาย 400 mg
– วัยรุ่นเพศหญิง 310 mg
– ผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป 420 mg
– ผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป 320 mg

แหล่งของแมกนีเซียมในอาหาร
แมกนีเซียมพบในอาหารที่มาจากธรรมชาติที่ไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปใดๆ ซึ่งแมกนีเซียมในเมล็ดธัญพืชมักสูญเสียไปกว่า 80% จากกระบวนการที่มีการขัดสี อาหารที่พบแมกนีเซียมมาก ได้แก่ เมล็ดธัญพืชต่าง เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และถั่วลิสง เป็นต้น ส่วนในเนื้อสัตว์ ได้แก่ ปลาโอ ปลาเก๋า และปลากะพง เป็นต้น รวมถึงการรับประทานแมกนีเซียมผ่านในรูปผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชนิดต่างๆ

นอกเหนือจากประโยชน์ของแมกนีเซียมที่ร่างกายได้รับจากอาหารแล้ว แมกนีเซียมยังถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางยาแก่มนุษย์ ได้แก่ ใช้เป็นส่วนผสมของยาลดกรดสำหรับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ รวมไปถึงใช้ผสมกับอาหารสัตว์สำหรับปรับสภาพความเป็นกรดในกระเพาะรูเมนของสัตว์เคี้ยวเอื้องต่างๆเพื่อป้องกันอันตรายจากความเป็นกรดที่อาจทำให้จุลินทรีย์ตายได้

2. แมกนีเซียมต่อพืช
แมกนีเซียมจัดเป็นธาตุอาหารรองที่พืชต้องการในกลุ่มเดียวกันกับ แคลเซียม และกำมะถัน โดยถูกดูดซึมเข้าสู่ต้นพืชในรูปของประจุ Mg2+ แต่อัตราการดูดซึมจะลดลงมาก หากดินนั้นมีประจุของธาตุอื่น ได้แก่ โพแทสเซียม, แอมโมเนียม, แคลเซียม, แมงกานีส และ ไฮโดรเจน และอัตราผลกระทบจะเรียงลำดับจากมากของโพแทสเซียมลงมาจนถึงไฮโดรเจน

แมกนีเซียมใช้เป็นสารในการสังเคาะห์คลอโรฟิลล์ หากพืชขาดแมกนีเซียมจะทำให้พืชสร้างคลอโรฟิลล์ที่เป็นรงควัตถุสีเขียวได้น้อยลง ใบพืชมีสีซีดเหลือง ไม่เจริญเติบโต ลำต้นแคะแกรน และเหี่ยวตายในที่สุด หากขาดในระยะที่พืชกำลังสะสมอาหารในผลหรือหัวก็จะทำให้ปริมาณแป้งในผลหรือหัวลดลง

โดยทั่วไปดินที่มักมีแมกนีเซียมที่ไม่เพียงพอต่อพืชมักเป็นดินเนื้อหยาบที่เป็นกรดจัด pH ต่ำกว่า 5.5 ซึ่งดินประเภทนี้จำเป็นต้องให้แมกนีเซียมประมาณ 0.7-1.1 กิโลกรัม/ไร่

ปริมาณแมกนีเซียมในดินที่มีผลต่อพืชของแมกนีเซียมที่แลกเปลี่ยนได้
• 0-25 มก./กก. : พืชทั่วไปจะแสดงอาการขาด เช่น ใบเหลือง จำเป็นต้องใส่ให้เพิ่ม

• 26-50 มก./กก. : มักพบอาการขาดในต้นบีท มันฝรั่ง ไม้ผลชนิดอื่นๆ  และพืชในเรือนกระจก (มะเขือเทศ แตงกวา และพริกไทย เป็นต้น) ยกเว้นในพืชที่เป็นเมล็ดธัญพืช

• 51-100 มก./กก. :  เป็นปริมาณที่เพียงพอสำหรับพืชไร่ และพืชผัก แต่ไม่เพียงพอสำหรับพืชในเรือนกระจก และหากมีอาการขาดมักเกิดจากปัจจัยด้านอื่น อาทิ อัตราส่วนของโพแทสเซียมและแมกนีเซียมในดิน

• 101-175 มก./กก. : เป็นมาตรฐานสำหรับพืชในเรือนกระจกชนิดต่างๆ

• 176-250 มก./กก. : สำหรับพืชในเรือนกระจกเพียงอย่างเดียว

3. แมกนีเซียมต่ออุตสาหกรรม
– แมกนีเซียมใช้เป็นส่วนผสมของยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
– แมกนีเซียมใช้ผลิตโลหะผสมชนิดต่างๆ อาทิ โลหะอลูมิเนียมผสมกับแมกนีเซียม

เอกสารอ้างอิง
1. สุวรรณ สุนทรีรัตน์, 2529. “แมกนีเซียม”.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.