หมากฝรั่ง ประโยชน์ และข้อเสียหมากฝรั่ง

35246
ยางต้นซาโปดิลลา

หมากฝรั่ง (Gum) เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเคี้ยวที่ผลิตขึ้นจากกัม และแบะแซ และผสมสารให้รสหรือสารอื่นเข้าไป เพื่อให้เกิดรสสัมผัสที่ดี และประโยชน์ในด้านอื่นๆ อาทิ ช่วยป้องกันฟันผุ ช่วยดับกลิ่นปาก ทำให้ลมหายใจมีกลิ่นหอม เป็นต้น

ประวัติหมากฝรั่ง
มนุษย์รู้จักเคี้ยวยางมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ แต่มีหลักฐานที่ชัดเจนที่พบในสมัยกรีกโบราณ คือ ชาวกรีกนิยมเคี้ยวเปลือกของต้นมาสติค (mastic) และมีหลักฐานที่พบการเคี้ยวหมากฝรั่งในยุคต่อมา ก็คือ การเคี้ยวยางไม้ที่เริ่มการเคี้ยวหมากฝรั่งที่เป็นยางไม้ครั้งแรกนี้ที่เม็กซิโก และนำเข้ามาเผยแพร่ต่อที่สหรัฐอเมริกา โดยนายพลอันโตนิโอ โลเปซ เอก ซานตา อันนา แห่งเม็กซิโก ซึ่งเป็นหมากฝรั่งยางไม้ที่ได้จากต้นซาโปดิลลา (Sapodilla) ในป่าของเม็กซิโก โดยยางไม้ชนิดนี้ชาวเม็ก เรียกว่า ซิคเคิล (Chicle)

ยางต้นซาโปดิลลา

ยางต้นซาโปดิลลา

ต่อมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 จึงเริ่มทำหมากฝรั่งเพื่อการค้าขึ้น โดยโทมัส อดัมส์ นักประดิษฐ์ และนักถ่ายภาพ ที่เกิดความสนใจยางไม้ที่ไม่มีรสนี้ขึ้น ด้วยทำเป็นหมากฝรั่งยางไม้ มีรูปกลมๆ ไม่มีรส จำหน่ายในท้องถิ่นขึ้น โดยวางจำหน่ายครั้งแรกในร้านขายยาแห่งหนึ่งที่เมืองโฮโบเค็น รัฐนิวเจอร์ซี่ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1871 ในราคาเม็ดละ 1 เพนนี ต่อมาจึงเปลี่ยนรูปให้เป็นสีเหลี่ยมแบนๆ และมีการผสมสารให้รสแก่หมากฝรั่ง โดยเภสัชกร จอห์น คอลแกน เป็นผู้ริเริ่มเติมสารให้หมากฝรั่งมีรสชาต โดยเป็นรสขี้ผึ้งหอมทูโล ที่เป็นตัวยาทางการแพทย์ มีรสคล้ายกับยาแก้ไอน้ำเชื่อมของเด็ก และตั้งชื่อหมากฝรั่งที่มีรสของเขาว่า “แทฟฟี่ ทูโล” และหลังจากนั้น โทมัส อดัมส์ จึงได้เริ่มเติมรสชะเอมให้แก่หมากฝรั่งของเขา และให้ชื่อหมากฝรั่งที่มีรสนี้ว่า “แบลคแจ็ค” และยังเป็นรสหมากฝรั่งที่ยังมีขายมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนหมากฝรั่งที่มีรสยอดนิยม คือ หมากฝรั่งเปปเปอร์มินต์ ถูกผลิตขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1880 โดยนายวิลเลียม เจ ไวท์ ที่ได้ผสมชิคเคิ้ลกับน้ำเชื่อมข้าวโพด พร้อมกับเติมรสเปปเปอร์มินต์ ซึ่งเป็นรสที่ขายดีมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนหมากฝรั่งที่เป่าเป็นลูกได้ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1906 โดยสองพี่น้องที่ชื่อเฮนรี่ และแฟรงค์ ฟลรีเออร์ แต่หมากฝรั่งชนิดเป่าที่ผลิตครั้งแรกนี้ยังไม่มีคุณภาพนัก เพราะมีเนื้อค่อนข้างเหนียว และเป่าแตกง่าย จนต่อมา ในปี ค.ศ. 1928 วอลเตอร์ เดมเมอร์ ได้พัฒนาคุณภาพให้สามารถเป่าได้โตกว่าหมากฝรั่งของสองพี่น้องได้ถึง 2 เท่า และตั้งชื่อหมากฝรั่งของตนว่า Dubble Bubble หลังจากนั้น ได้มีการพัฒนาคุณภาพของหมากฝรั่ง และจำออกจำหน่ายในทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน

หมากฝรั่งมินต์

หมากฝรั่งในตลาดบริโภคมีความหลากหลาย เช่น หมากฝรั่งไม่มีน้ำตาล หมากฝรั่งสำหรับเลิกบุหรี่ เพื่อตอบโจทย์ของผู้บริโภคที่รักสุขภาพ สำหรับหมากฝรั่งไม่มีน้ำตาลนั้น ส่วนใหญ่เป็นหมากฝรั่งสำหรับเคี้ยวที่ใช้สารให้ความหวานประเภทพอลิออล (Polyols) แทนน้ำตาล เช่น ไซลิทอล (Xylitol)ซึ่งเป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ที่มีคาร์บอน 5 อะตอม ในโครงสร้าง เพราะเชื้อแบคทีเรียในช่องปากไม่สามารถย่อยสลายน้ำตาลแอลกอฮอล์เป็นอาหารได้ จึงช่วยลดปริมาณการเกิดคราบฟัน นอกจากนี้ น้ำตาลแอลกอฮอล์ยังช่วยกระตุ้นการหลั่งของน้ำลาย และเป็นตัวกลางในการนำแร่ธาตุที่มีประโยชน์มาหล่อเลี้ยงฟันจึงช่วยลดอาการฟันผุ

ประเภทหมากฝรั่ง
หมากฝรั่งมี 2 ชนิด จำแนกตามชนิดของหมากพื้นฐานดังนี้
1. หมากฝรั่งสำหรับเคี้ยว (Chewing Gum)
หมากพื้นฐานที่ใช้ คือ ยางธรรมชาติผสมกับสไตรีน (Styrene) พอลิเอทิลีน (Polyethylene: PE) และยางสังเคราะห์ เช่น บิวตะไดอีน(Butadiene)
2. หมากฝรั่งสำหรับเป่า (Bubble Gum)
หมากพื้นฐานที่ใช้ คือ ยางสังเคราะห์ผสมกับสไตรีน พอลิเอทิลีน และพอลิไวนิลแอซีเทต (Polyvinyl Acetate: PVA) ซึ่งเป็นพอลิเมอร์ที่มีแขนงหนาแน่น มีลักษณะโมเลกุลแบบอะแทกติก ไม่มีความเป็นผลึก ช่วยให้เป่าเป็นลูกโป่งได้ และยางสังเคราะห์นี้จะมีส่วนผสมที่สูงกว่าหมากฝรั่งชนิดเคี้ยว

ส่วนประกอบหมากฝรั่ง
– กัมเบส (Gum Base) 15-25%
– แบะแซ (Glucose syrum) 22-25%
– น้ำตาล น้อยว่า 50%
– กลิ่น และรส 1%
– สารเติมแต่งอื่นๆ เช่น สี

มหากฝรั่ง

กัมเบส (Gum Base)
กัมเบส (Gum Base) ที่ใช้ผลิตหมากฝรั่งจะแตกต่างกันตามชนิดของหมากฝรั่ง คือ กัมเบสสำหรับหมากฝรั่งชนิดเคี้ยว และกัมเบสสำหรับหมากฝรั่งชนิดเป่า ซึ่งมีทั้งชนิดที่เป็นกัมเบสที่ส่วนผสมแบบกรด และชนิดที่ไม่มีส่วนผสมของกรด

แบะแซ (Glucose syrum)
แบะแซ หรือ Glucose syrum เป็นส่วนผสมประเภทน้ำตาลที่ใช้ในรูปของน้ำเชื่อมกลูโคสสำหรับรักษาความชื้นของหมากฝรั่ง โดยน้ำเชื่อมกลูโคสนี้จะมีค่า DE ประมาณ 38-42 และมีค่า Buame ประมาณ 45° หากมีค่า DE สูงกว่า 44 จะทำให้หมากฝรั่งเหนียวติดกระดาษห่อ และหากต่ำกว่า 40 จะทำให้หมากฝรั่งอ่อนตัวมากเกินไป ส่วนค่า Buame หากมีค่าสูงมากจะทำให้หมากฝรั่งมีเนื้อแข็ง ไม่นุ่มขณะเคี้ยว

น้ำตาล
น้ำตาลที่ใช้ผสมจะเป็นน้ำตาลทรายบดละเอียดขนาดเล็กมาก ประมาณ 150 ไมครอน skd-หากน้ำตาลที่ใช้ผสมมีขนาดเล็กมากก็จะทำให้เนื้อหมากฝรั่งแข็ง แต่หากมีขนาดเม็ดใหญ่มากก็จะทำให้หมากฝรั่งมีเนื้อหยาบ และสก

กลิ่น และรส
กลิ่น และรสที่ใช้ผสม ได้แก่ กลิ่นเปปเปอร์มินต์ หรือ รสสตอเบอรี่ เป็นต้น

สารอื่น อาทิ สี
สีที่ใช้ผสมกับหมากฝรั่งมี 2 แบบ คือ
– Dye ที่อยู่ในรูปสารละลายเข้มข้นในน้ำเกลือหรือกลีเซอรีน สีชนิดนี้จะกระจายตัวในเนื้อหมากฝรั่งได้ดี ทำให้สีหมากฝรั่งสม่ำเสมอ แต่สีชนิดนี้จะจางซีดง่าย
– Lake ที่เป็นผงละเอียด ไม่ละลายน้ำ สีชนิดนี้ จะกระจายตัวในเนื้อหมากฝรั่งได้ไม่ดีเท่า สีชนิด dye แต่จะให้ความเข้มของสีที่นานกว่า

กระบวนการผลติหมากฝรั่ง
การผลิตหมากฝรั่งเริ่มในปี ค.ศ. 1871 โดยโทมัส อดัมส์ วางขายในร้านขายยา เมืองโฮโบเคนสหรัฐอเมริกา ทำจากหมากพื้นฐาน (Gumbase) ที่หลอมให้มีความนุ่ม แล้วนำมาผสมกับสารปรุงแต่ง เช่น ผงให้ความหวาน ไซรัป สี กลิ่น สารอิมัลซิไฟเออร์ และแอสปาแตม (Aspartame) ที่มีความหวานมากกว่าน้ำตาล 200 เท่า

หมากพื้นฐานที่ใช้ผลิตหมากฝรั่งทั้งสำหรับเคี้ยว และสำหรับเป่ามีลักษณะเป็นของแข็ง สีขาวขุ่นเมื่อนำมาหลอมจะเป็น Non-Newtonian Fluid ประเภท Pseudoplastic และมีพฤติกรรม เป็นของไหลที่มีค่าความหนืดไม่คงที่ที่อุณหภูมิหนึ่ง และการเปลี่ยนแปลงความหนืดขึ้นกับอัตราเฉือน (Shear Rate) หรือความเร็วของการกวน

กลไกการหลอมหมาก
1. โมเลกุลหมากพื้นฐานเรียงตัวเป็นระเบียบมากขึ้นตามทิศทางของแรงกวน
2. เมื่อโมเลกุลหมากพื้นฐานเรียงตัวเป็นระเบียบ ช่องว่างระหว่างโมเลกุลจะลดลงทำให้น้ำที่อยู่ในช่องว่างถูกปล่อยออกมาภายนอก ช่วยให้การไหลดีขึ้น
3. แรงยึดระหว่างโมเลกุลหมากพื้นฐานลดลงทำให้ความหนืดลดลง

ขั้นตอนการผลิตหมากฝรั่ง
1. การทำให้กัมเบสแตกตัวเป็นก้อน
2. การหลอมกัมเบสในเครื่องหลอม (Melting Tanks) อุณหภูมิภายในเครื่องหลอมประมาณ 85 องศาเซลเซียส พร้อมกวนด้วยใบกวน หมากพื้นฐานที่หลอมแล้วจะถูกพักไว้ที่ถังพักที่รักษาอุณหภูมิด้วยน้ำร้อน และไอน้ำแล้วส่งเข้ากระบวนการต่อไป
3. ผสมกัมเบสที่หลอมแล้ว (Melted Gumbase) เข้ากับสารอื่น เช่น แบะแซ สารให้ความหวาน กลิ่น และสี แล้วนวดให้เป็นเนื้อเดียวกันภายในเครื่องผสมชนิดแนวนอน
4. ทำการรีด และตัดหมากฝรั่งที่ผสมแล้ว (Gum Compounds) และโรยด้วยสารให้ความหวานที่มีลักษณะเป็นผงคล้ายแป้ง (Sweeteners) ตามชนิดของผลิตภัณฑ์ เพื่อไม่ให้หมากฝรั่งติดกับเครื่องรีด และตัด และกระดาษห่อ
5. การกรีดหมากฝรั่งที่ถูกรีดแล้วให้เป็นร่องตามชนิดหมากฝรั่งแบบเม็ดหรือแบบแผ่น และ
วางลูกรีดตามขนาดของหมากฝรั่งที่ต้องการผลิต การตัดจะตัดเป็น Gum Product แผ่นใหญ่ก่อน
แล้วส่งเข้ากระบวนการบ่มต่อไป
6. การบ่มหมากฝรั่งในห้องที่ควบคุมความชื้นและอุณหภูมิเพื่อควบคุมความแข็งของเนื้อหมากฝรั่ง
7. การเคลือบผิวหมากฝรั่งแบบเม็ด เพื่อเพิ่มความมันวาวและสีสัน โดยใช้สารให้ความหวาน สี และแว็กซ์ (Wax) แต่หากเป็นหมากฝรั่งชนิดแผ่นแบบ Stick และ Slab จะไม่ผ่านกระบวนการนี้
8. การบรรจุผลิตภัณฑ์ลงขวด หรือห่อด้วยกระดาษแล้วบรรจุลงบรรจุภัณฑ์

ที่มา : ชนกนาถ บู่สาลี (2556)(1)

ประโยชน์หมากฝรั่ง
1. ช่วยกระตุ้นการไหลของน้ำลาย
2. ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบการย่อยอาหารทั้งระบบ เช่น ระบบรับสัมผัสรสอาหาร ระบบการหลั่งน้ำย่อยอาหาร และการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
3. ช่วยป้องกันฟันผุ เนื่องจากหมากฝรั่งในปัจจุบันมีการเปลี่ยนมาใช้สารให้ความหวานที่ไม่ใช่น้ำตาลแทนน้ำตาล ได้แก่ Xylitol ซึ่งมีคุณสมบัติให้ความหวานเหมือนน้ำตาล และสามารถป้องกันฟันผุได้ด้วย

ประโยชน์ของหมากฝรั่งอื่นๆ
หมากฝรั่งนิโตตินหรือหมากฝั่งเลิกบุหรี่ เป็นหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมของนิโคตินสำหรับเคี้ยวเพื่อการเลิกบุหรี่ โดยการลดพฤติกรรมการสูบบุหรี่ แต่ยังได้รับสารนิโคตินที่ผสมในหมากฝั่งเหมือนเดิม แต่สารนิโคตินที่ได้รับจะมีปริมาณน้อยกว่าที่ได้รับจากการสูบจริง จึงทำให้มีแนวโน้มที่ผู้สูบุหรี่จะเลิกการสูบบุหรี่ได้หลังการเคี้ยวหมากฝรั่ง

ข้อเสียหมากฝรั่ง
1. หมากฝรั่งที่มีส่วนผสมของน้ำตาลมักทำให้เกิดอาการฟันผุได้ง่าย โดยเฉพาะการเคี้ยวในปริมาณมากในเด็ก
2. การเคี้ยวหมากฝรั่งมากๆจะทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าของกาม และการระคายเคืองของเยื่อกระพุ้งแก้ม
3. การเคี้ยวหมากฝรั่งบ่อยๆ อาจทำให้เกิดการติดด้วยพฤติกรรม
4. อาจมีการกลืนกินหมากฝรั่ง ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ซึ่งจะมีผลขัดขวางทางเดินในระบบอาหาร
5. หมากฝรั่งชนิดเป่า อาจส่อถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อาทิ การเคี้ยวหรือเป่าในสถานที่หรือกาลที่ไม่เหมาะสมเช่น การเคี้ยวหรือเป่าหมากฝรั่งในขณะเรียน ขณะพูดจากับผู้ใหญ่ เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง
1