สีสเปรย์

21468

สีสเปรย์ หรือเรียกอีกอย่างว่า สีพ่น เป็นผลิตภัณฑ์สีที่ถูกบรรจุอยู่ในภาชนะภายใต้แรงดันก๊าซ เมื่อเปิดใช้งาน สีจะถูกปล่อยออกมาจากภาชนะด้วยแรงดันก๊าซภายใน ผ่านหัวฉีดสเปรย์ทำให้เป็นละอองสีกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ

ส่วนผสมหลักสีสเปรย์
สีสเปรย์ที่มีจำหน่ายในตลาดมีหลายชนิด และมีส่วนผสมที่แตกต่างกัน โดยมากจะมีส่วนประกอบอื่นๆที่เหมือนกัน เช่น ตัวทำละลาย ส่วนที่ทำให้แตกต่างกัน คือ สารที่ทำให้เกิดสี โดยทั่วไปมักพบสารที่ทำให้เกิดสี ได้แก่
1. เม็ดสีสังเคราะห์
2. ผงโลหะสีต่างๆ

สารประกอบอื่นที่สำคัญ
1. อะคริลิค (acrylic)
2. โปลีเอสเตอร์เรซิ่น (polyester resin)
4. ตัวทำละลาย (heavy aromatic solvent naphtha)
1. ไททาเนียมไดออกไซด์ (titanium dioxide)
2. ไซลีน (xylene)
5. alkylated melamine formaldehyde resin

สีสเปรย์

ชนิดของสี
1. โทนสีทั่วไป เป็นชนิดที่ใช้ส่วนผสมของเม็ดสีเป็นหลัก ได้แก่ สีเหลือง สีแดง สีเขียว สีดำ สีขาว สีน้ำเงิน สีฟ้า สีชมพู เป็นต้น

2. โทนสีโลหะ เป็นชนิดที่ใช้ผงโลหะผสม ได้แก่ สีอะลูมิเนียม สีทอง สีตะกั่ว สีโครเมียม สีเหล็ก เป็นต้น

การใช้งาน
สีสเปรย์ถูกบรรจุอยู่ในภาชนะภายใต้แรงดันของก๊าซ เมื่อเปิดใช้ด้วยการกดหัวสเปรย์ สีจะพุ่งออกมาเป็นละอองฝอยขนาดเล็กภายใต้แรงดันก๊าซที่ถูกปล่อยออกมา

การพ่นสีสเปรย์ต้องให้มีระยะห่างที่เหมาะสมเพื่อให้ละอองสีกระจายตัวให้ทั่วถึง และละอองสีไม่จับตัวกันจนเป็นก้อนหรือหยดสี ซึ่งมักจะอยู่ในช่วง 20-30 เซนติเมตร จากพื้นผิววัสดุ ขณะใช้ควรเขย่าก่อนทุกครั้งหรือเขย่าก่อนฉีดพ่นเพื่อให้ภายในขวดสเปรย์มีการกระจายตัว

ข้อมูลความเป็นอันตราย
1. มีความไวไฟ และอาจเกิดไฟฟ้าสถิตขณะใช้งานได้
2. ประกอบด้วยสารเป็นพิษ และสารก่อมะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะไซลีน (xylene) ที่สามารถเข้าสู่ร่างกาย และสะสมในเลือดได้
3. เป็นภาชนะที่มีแรงดัน อาจเกิดการระเบิดได้หากถูกกระแทกหรือได้รับความร้อน

ข้อมูลความปลอดภัย และการปฐมพยาบาล
1. สามารถเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ, ทางเดินอาหาร, ผิวหนัง และทางตา โดยทำให้เกิดการระคายเคือง และการอักเสบ
2. กรณีสัมผัสทางผิวหนัง : ให้ล้างออกด้วยน้ำร่วมกับสบู่ ผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาด
3. กรณีสัมผัสทางตา : ล้างด้วยน้ำสะอาด, น้ำยาล้างตา หากมีอาการทางสายตาให้รีบไปพบแพทย์
4. ควรสวมหน้ากากป้องกันไอสารเคมีหรือผ้าปิดจมูก ถุงมือ และแว่นตากันสารเคมีขณะใช้งาน และควรใช้งานในบริเวณที่มีการระบายอากาศที่ดี
5. กรณีสัมผัสทางการหายใจ : ให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปสถานที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก อาจใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ ในกรณีรุนแรง หลีกเลี่ยงการช่วยหายใจโดยการผายปอดแบบเป่าปาก
6. การจัดเก็บ ให้ปิดฝาภาชนะบรรจุให้สนิท และเก็บในที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก เก็บให้ห่างจากแสงแดด ความร้อน ประกายไฟ โดยตรง และห้ามโยนภาชนะอย่างแรง
7. ผู้ใช้งานควรทำการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะคนงานในบางอุตสาหกรรมที่มีการใช้สีสเปรย์หรือสีพ่นมาก
8. ขวดสีสเปรย์ที่ใช้แล้วห้ามทิ้งถังขยะทั่วไป ควรเก็บรวบรวมและส่งกำจัดให้ถูกต้องตามกฏหมาย โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้ เพราะถือว่าเป็นขยะอันตรายชนิดหนึ่งที่ทางกรมโรงงานบังคับให้กำจัดอย่างถูกสุขลักษณะ และเป็นไปตามประกาศของกรมโรงงาน