ยากำจัดปลวก

9779

ปลวก เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่มีการอยู่อาศัยแบบแมลงสังคม เหมือนกับพวกผึ้ง แตน ต่อ มด ทำให้มีจำนวนมากในแต่ละรัง และถือเป็นศัตรูสำคัญในการกัดกินไม้ที่เป็นส่วนประกอบของบ้านจนผุผัง

ปลวกแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
1. ปลวกดิน แบ่งได้ ดังนี้
ปลวกใต้ดิน ถือเป็นปลวกที่ทำความเสียหายให้กับมนุษย์มากที่สุด เป็นปลวกดินชนิดที่อาศัยอยู่ใต้ดินเกือบตลอดทั้งวงจรชีวิต อาศัยรวมกันเป็นกลุ่ม สร้างรังขนาดใหญ่ ขณะที่ออกมาเหนือผิวดินเพื่อหาอาหารจะสร้างท่อทางเดินหุ้มไว้ ซึ่งมักพบปล่อยบริเวณเสาไม้ที่เป็นแนวท่อปลวกเป็นเส้นๆ

ปลวกตามจอมปลวก เป็นปลวกที่อาศัยอยู่ใต้ดิน โดยรวมกันเป็นกลุ่ม และสร้างรังขนาดใหญ่ เหมือนปลวกใต้ดิน แต่จะสร้างจอมปลวกสูงเด่นขึ้นมาเหนือผิวดินเป็นรังนอกเหนือจากรังในส่วนใต้ดิน ชอบอาศัยตามพื้นดินที่มีหญ้าหรือต้นไม้ชนิดต่างๆขึ้นรอบข้าง จึงไม่มักพบตามบ้านเรือนของมนุษย์

ปลวกรังเล็ก เป็นปลวกที่ไม่รวมกลุ่มกันขนาดใหญ่เหมือน 2 ชนิดแรก เพียงอาศัยรังที่ทำจากดินผสมกับเศษไม้ขนาดเล็กอาศัยอยู่ในจำนวนไม่มาก ซึ่งอาจทำรังบนพื้นดินตามกองเศษไม้หรือสร้างรังขนาดเล็กโดดๆอยู่ใต้ดิน เป็นชนิดที่ทำความเสียหายให้แก่มนุษย์น้อย

2. ปลวกไม้
ปลวกกัดไม้แห้ง เป็นปลวกชนิดที่รวมกลุ่มกันน้อย มีเพียงไม่กี่ตัวในกลุ่มหนึ่ง ชอบสร้างรัง และอาศัยตามเนื้อไม้แห้ง

ปลวก

ปลวกกัดไม้เปียก เป็นปลวกชนิดอาศัยตามพื้นที่ชื้น มีต้นไม้ขึ้นรอบข้าง ชอบกัดกินเนื้อไม้ดิบเป็นอาหาร

ปลวกชนิดปลวกใต้ดิน ถือเป็นชนิดที่ก่อความเสียหายให้แก่มนุษย์มากที่สุด เนื่องจากอาศัยกันเป็นกลุ่มใหญ่ และชอบกัดกินเนื้อไม้แห้งตามบ้านเรือนที่ปลูกด้วยไม้ ซึ่งการกำจัดในปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยสารเคมีช่วยในการกำจัดจึงจะมีประสิทธิภาพพอ

เนื่องจากธรรมชาติของปลวกจะชอบเลียทำความสะอาดบริเวณลำตัวซึ่งกัน และกัน จึงทำให้สารเคมีที่ติดมาจากปลวกตัวหนึ่งสามารถแพร่สู่ปลวกตัวอื่นๆได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้ปลวกเมื่อได้รับสารเคมีแล้วจะตายเป็นจำนวนมาก วิธีการกำจัดปลวกด้วยยากำจัดปลวกจึงเป็นวิธีที่นิยม ง่ายสะดวก และได้ประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งจะพบว่ามีบริษัทรับกำจัดปลวกก่อตั้งขึ้นมากมาย รวมถึงมีการผลิตยากำจัดปลวกออกมาจำหน่ายให้เลือกใช้กันหลายยี่ห้อ ทั้งในรูปของน้ำยา และผงกำจัดปลวก ซึ่งยาเหล่านี้มักจะประกอบด้วยสารเคมีชนิดต่างๆ คือ

SAMSUNG DIGITAL CAMERA

ชนิดยาที่นิยมใช้กำจัดปลวก
– chlorpyrifos 40%
– bifenthrin 10% EC
– fipronil 2.5% EC
– imidacloprid
– cypermethrin
– deltamethrin
– hexaflumuron ควบคุมการเจริญเติบโตของแมลง
– คลอร์ไพริฟอส ในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต
– ไบเฟนทริน ในกลุ่มไพรีทรอยด์
– ฟิโพรนิล ในกลุ่มเพนนิล ไพราโซล
– อิมิดาคลอพริด ในกลุ่มคลอโรนิโคตินิล

ลักษณะการใช้งาน
ยากำจัดปลวกที่มีจำหน่ายในท้องตลาดส่วนมากจะพบในรูปผลิตภัณฑ์ของเหลว  และผง มีลักษณะใช้งาน ดังนี้
– ชนิดน้ำ ทำการใช้ผสมน้ำ และฉีดพ่นบริเวณพื้นดิน โคนเสา หรือบริเวณที่มีปลวกอาศัยอยู่ รวมถึงการใช้วิธีเทราดบนพื้นดินก่อนก่อสร้างบ้าน และนำมาทาโคนเสาไม้ ทาตามพื้นไม้ของบ้าน

– ชนิดผง ใช้โดยการโดยผสมดินก่อนสร้างบ้าน หรือโรยบริเวณที่มีปลวกอาศัยอยู่

กลไกการกำจัดแมลง
สารเคมีที่ใช้ในการกำจัดแมลงส่วนมากจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส  (Acetylcholinesterase) ที่ทำหน้าที่ช่วยในการสังเคราะห์สารสื่อประสาทของแมลงที่เกรียกว่า อะซิติลโคลีน พร้อมกับออกฤทธิ์เร่งการย่อยสลายสารสื่อประสาทอะซิติลโคลีน มีผลทำให้แมลงไม่สามารถสร้างสารสื่อประสาทดังกล่าวได้ ซึ่งแมลงจะแสดงอาการว่องไวมากกว่าปกติ สั่น ชัก และเป็นอัมพาตตายในที่สุด

นอกจากการออกฤทธิ์ในการยับยั้งสารสื่อประสาทแล้ว ยังมียากำจัดปลวกหลายชนิดที่ออกฤทธิ์กำจัดปลวกในทางอื่น ได้แก่
– ยาในกลุ่มไพรีทริน และไพรีทรอยด์สังเคราะห์บางชนิดจะออกฤทธิ์แบบน๊อกดาว์น และยับยั้งการกินอาหารของปลวก

– ยาในกลุ่มไพรีทรอยด์บางชนิด เช่น ไบเฟนทริน และกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต และ DDT ออกฤทธิ์ยับยั้ง และรบกวนการส่งผ่านในระบบกระแสประสาท

ความเป็นพิษต่อมนุษย์
1. พิษเฉียบพลัน (acute toxicity) เมื่อร่างกายได้รับพิษในปริมาณสูงจะมีผลเฉียบพลันต่อระบบประสาทยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส  ทำให้มีอาการทางระบบประสาท หายใจถี่ กล้ามเนื้อกระตุก เกร็ง กลืนน้ำลายลำบาก ตัวสั่น หายใจไม่ออกจนเสียชีวิตในที่สุด

2. พิษเรื้อรัง (chronic toxicity) เมื่อได้รับสารพิษในปริมาณต่ำ และติดต่อกันเป็นเวลานาน ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงของระดับเอนไซม์อะซิติลโคลีนเอสเทอเรสทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายตามมา เช่น ปวดหัว พูดลำบาก สติปัญญาต่ำ สติเลอะเลือน เป็นต้น

ข้อมูลความปลอดภัย
1. การใช้ผลิตภัณฑ์แต่ละครั้ง ควรสวมเสื้อผ้า และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลทุกครั้ง
2. การฉีดพ่น ผู้ใช้ต้องอยู่เหนือลมทุกครั้ง
3. หากได้รับสารพิษด้วยการกลืนกิน ห้ามทำอาเจียน และรีบนำส่งแพทย์