ผงวิเศษ และสารสำคัญ

81454

ผงวิเศษ หรือที่เรียกให้ถูกตามชื่อผลิตภัณฑ์ว่า ผงพิเศษ เป็นผลิตภัณฑ์เคมีชนิดผงที่ใช้สำหรับการฆ่าเชื้อ รักษาแผล แผลติดเชื้อ แผลอักเสบ แผลพุพอง เป็นหนอง รวมถึงใช้ฆ่าเชื้อตามบริเวณต่างๆของร่างกาย

ส่วนประกอบ (ผงพิเศษ ตราร่มชูชีพ)1
1. ซัลฟานิลาไมด์ (Sulfanilamide) 99.3%
2. แทนนิน (Tannin) 0.41%

วิธีใช้ : ล้างทำความสะอาดแผล และทาด้วยผง วันละ 1-2 ครั้ง

การใช้กับสิว : เมื่อเอาหัวสิวสุกออกแล้ว ล้างหน้าให้สะอาด ทาผงบริเวณแผลสิวทุกครั้ง การกำจัดแบคทีเรียตามใบหน้าหรือร่างกายใช้ผงละลายน้ำเล็กน้อย แล้วลูบทาทั่วใบหน้าหรือตามจุดที่ต้องการ

การเก็บรักษา : เก็บในสถานที่ห่างจากมือเด็ก อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส และไม่ให้ถูกแสงสว่างหรืออยู่ใกล้บริเวณที่มีอุณหภูมิสูง

ผงพิเศษ

ซัลฟานิลาไมด์ (Sulfanilamide) หรือพาราอะมิโนเบนซีนซัลโฟนาไมด์ (Para-aminobenzene sulfonamide) ประกอบด้วยสารออกฤทธิ์ที่อยู่ในรูปเอไมด์ (Amide) ของกรดซัลฟานิลิค (Sulfanilic acid) ใช้รับการฆ่าเชื้อทั้งภายใน และภายนอกร่างกาย

ซัลฟานิลาไมด์

ซัลฟานิลาไมด์ มีลักษณะเป็นของแข็ง มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว ละลายนํ้าได้เล็กน้อย มีฤทธิ์ในการต้านแบคทีเรียทั้งแกรมบวก และแกรมลบ เช่น สแตปไฟโลคอกคัส (Staphylococcus), สเตรปโตคอกคัส (Streptococcus), เอสเชอริเชียโคไล (Escherichia coli), พาสเจอเรลลา (Pastuerella), โพรเทียส (Proteus) และเชื้อบิด (Coccidia) จึงใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ และยาฆ่าเชื้อ

• การเข้าสู่ร่างกาย
ซัลฟานิลาไมด์สามารถแพร่เข้าสู่กระแสเลือดเกิดขึ้นโดยการแพร่ (Passive diffusion) บริเวณตำแหน่งของบาดแผล โดยมีอัตราการดูดซึมของสารขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น อายุ  รูปของสาร และปริมาณเส้นเลือดบริเวณที่มีการดูดซึม เป็นต้น

หลังจากซัลฟานิลาไมด์ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด บางส่วนจะรวมกับโปรตีนอัลบูมินในเลือด (Albumin) ทำให้ไม่ออกฤทธิ์ต่อจุลชีพ ส่วนซัลฟานิลาไมด์ที่ไม่ได้รวมตัวกับโปรตีนจะกระจายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย และออกฤทธิ์ต่อจุลชีพ

เมื่อซัลฟานิลาไมด์ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด บางส่วนจะเกิดกระบวนการทางเคมี เช่น อะเซทิเลชัน (Acetylation), ออกซิเดชัน (Oxidation) และการรวมกัน (Conjugation) กับกลุ่มซัลเฟตหรือกรดกลูคูโรนิค

กระบวนการอะเซทิเลชันของซัลฟานิลาไมด์เกิดเป็นอะเซทิลซัลฟา (Acetylsulfa) ในเลือด บางส่วนที่ไม่ละลายจะทำให้เกิดผลึกอุดตันในท่อไต แต่กระบวนการอะเซทิเลชันส่วนใหญ่เป็นการรวมตัวกับกลุ่มซัลเฟตหรือกรดกลูคูโรนิคเพื่อขับถ่ายสารออกจากร่างกายให้ได้เร็วขึ้น

ซัลฟานิลาไมด์จะถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ อุจจาระ นํ้าดี นํ้านม น้ำลาย นํ้าตา และเหงื่อ แต่ส่วนใหญ่จะถูกขับออกทางปัสสาวะ ผ่านกระบวนการกรอง และการดูดซึมกลับที่ท่อไต

• กลไกการออกฤทธิ์
กรดโฟลิก (Folic acid) เป็นสารสำคัญต่อการดำรงชีวิตของจุลชีพ โดยเฉพาะในรูปของกรดเตตราไฮโดรโฟลิก (Tetrahydrofolic acid) ที่ใช้เอนไซม์เตตราไฮโดรโฟลิกรีดักเทส (Tetrahydrofolic reductase) เปลี่ยนกรดโฟลิกเป็นกรดเตตราไฮโดรโฟลิก

กรดเตตราไฮโดรโฟลิกนี้ถือเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์เพียวรีน และไพริมิดีนของจุลชีพ ทำให้มีการค้นพบสารต้านการทำงานของเอนไซม์เตตราไฮโดรโฟลิกรีดักเทสตามมาเพื่อตัดกระบวนการสร้างกรดโฟลิกของจุลชีพ

ส่วนซัลฟานิลาไมด์ออกฤทธิ์ต่อจุลชีพด้วยการยับยั้งการแบ่งเซลล์ และการเจริญเติบโตของจุลชีพ ด้วยการเข้าจับกับกับกรดพาราอะมิโนเบนโซอิก (Paraaminobenzoic acid, PABA) ที่เป็นสารจำเป็นต่อการสร้างกรดโฟลิก (Folic acid) ของแบคทีเรียสำหรับสร้างสารพันธุกรรม ส่งผลให้เชลล์แบคทีเรียตาย และไม่สามารถแบ่งเซลล์ และเจริญเติบโตได้

แทนนิน (Tannin)
แทนนิน เป็นสารที่พบได้เฉพาะในพืช มีลักษณะเป็นผงสีเหลืองหรือสีน้ำ ใช้เป็นส่วนผสมของผงพิเศษเพื่อให้เกิดสารสีเหลือง ช่วยในการยึดเกาะของผง และเป็นสารชนิดหนึ่งที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพได้ดี อ่านเพิ่มเติม

ข้อควรระวังในการใช้
1. ซัลฟานิลาไมด์เป็นสารที่ใช้ได้ทั้งภายใน และภายนอกร่างกาย สำหรับการใช้ภายในร่างกายอาจเกิดการรวมตัวกับสารอื่นหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีทำให้ตกผลึกตกค้างที่ไตได้
2. การใช้ผลิตภัณฑ์ซัลฟานิลาไมด์ และแทนนินที่เป็นผงทาภายนอกมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการฆ่าเชื้อเท่านั้น แต่สภาพความเป็นกรด-ด่างของสารทั้งสองอาจมีผลต่อการกัดเซลล์ผิวชั้นนอกบ้างเล็กน้อย

ผงพิเศษทาหน้า
3. แทนนิน เป็นสารที่ใช้ภายนอก หากรับประทานจะเกิดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย
4. การใช้ผลิตภัณฑ์ของซัลฟานิลาไมด์ที่ผิวหนังภายนอกร่างกายสามารถออกฤทธิ์ต้านแบคทีเรียได้ แต่อาจเกิดการแพ้หากใช้ในปริมาณมาก โดยเฉพาะคนที่มีภูมิไวต่อสารชนิดนี้
5. ผลิตภัณฑ์ซัลฟานิลาไมด์ และแทนนินที่เป็นผงมีคุณสมบัติในการดูดซับความชื้นได้ดี การใช้ภายนอกควรผสมน้ำก่อนพอประมาณ และหลังใช้ไม่ควรปล่อยไว้นาน เพราะสารจะดูดความชื้นของผิวตลอดเวลา
6. การใช้ผลิตภัณฑ์ซัลฟานิลาไมด์ผสมกับสารอื่นอาจทำให้ประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อลดลง เช่น สารที่มีฤทธิ์เป็นกรดหรือด่าง

เอกสารอ้างอิง
untitled