ปูนปลาสเตอร์ (Plaster) และประโยชน์ปูนปลาสเตอร์

61530

ปูนปลาสเตอร์ (Plaster) คือ ปูนที่มีเนื้อเป็นผงสีขาว และมีเนื้อละเอียด ที่ได้จากการนำแร่ยิปซัมหรือเรียก เกลือจืด หรือ แก้วแกลบ มาเผาไฟหรือให้ความร้อนเพื่อไล่น้ำออกจนเหลือผงเนื้อละเอียดสีขาว หรือเรียกว่า ปูนปลาสเตอร์

ปูนปลาสเตอร์นี้ เมื่อผสมกับน้ำจะได้น้ำปูนหนืดหรือเหลว ก่อนนำไปใส่แม่พิมพ์เพื่อขึ้นรูปตามต้องการ ซึ่งจะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีสีขาว และมีน้ำหนักเบาเมื่อเทียบกับการใช้ปูนชนิดอื่น เนื่องจากเนื้อปูนมีความพรุนตัวสูง

ปฏิกิริยาการผลิตปูนปลาสเตอร์ และการขึ้นรูป

1. CaSO4.2H2O (ยิปซั่ม) + ความร้อน = CaSO4.1/2H2O (แอลฟาปลาสเตอร์ หรือเบตาปลาสเตอร์) + 1.5 H2O

2. CaSO4.1/2H2O (ปูนปลาสเตอร์) + น้ำ = CaSO4.2H2O (เนื้อปูนเหลวในสภาพอิ่มตัวด้วยน้ำ) + คายความร้อน

3. CaSO4.2H2O (เนื้อปูนเหลวในสภาพอิ่มตัวด้วยน้ำ) + ความร้อน = CaSO4.2H2O (เนื้อปูนในรูปผลิตภัณฑ์ที่แห้งแล้ว)

1 : การผลิตปูนปลาสเตอร์
2 : การผสมปูนปลาสเตอร์
3 : การขึ้นรูปชิ้นงาน

%e0%b8%9b%e0%b8%b9%e0%b8%99%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%aa%e0%b9%80%e0%b8%95%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b9%8c

ประวัติปูนปลาสเตอร์
ปูนพลาสเตอร์ถูกค้นพบมาตั้งแต่เมื่อหลายพันปีมาแล้ว และพบบรรทุกการค้นพบ และมีการใช้งานมาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณที่มีการนำยิปซั่มมาเผาไฟ แล้วบดเป็นผง ก่อนนำมาใช้ฉาบรอยต่อของก้อนหินในขั้นตอนการสร้างพีระมิด

ในปี ค.ศ.1545 พบบันทึกการใช้ปูนปลาสเตอร์ในอิตาลี และต่อมาประมาณปี ค.ศ. 1770 จึงเริ่มผลิต และใช้ปูนปลาสเตอร์กันมากขึ้นในประเทศฝรั่งเศส และค่อยขยายใช้กันมากขึ้นทั่วไปในประเทศต่างๆของทวีปยุโรป

ที่มา : 1), 2)

ประโยชน์ปูนปลาสเตอร์
1. ใช้สำหรับผลิตแม่พิมพ์ในงานอุตสาหกรรม
2. ใช้ขึ้นรูปชิ้นงานหัตถกรรมต่างๆ ตุ๊กกระตา และรูปปั้นต่างๆ
3. ใช้ขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ครัวเรือน อาทิ ถ้วย โถ จาน ชาม
4. ใช้ขึ้นรูปเครื่องใช้สุขภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ถังน้ำ โถชักโครก
5. ใช้ขึ้นรูปในงานทันตกรรม
6. ใช้ขึ้นรูปผลิตแผ่นกระเบื้องมุงหลังคา
7. ใช้ฉาบ ปุปิดผนัง รอยต่อ รอยแตกหรือใช้ฉาบปิดตกแต่งงานก่อสร้างต่างๆ

%e0%b8%9b%e0%b8%b9%e0%b8%99%e0%b8%9b%e0%b8%b1%e0%b9%89%e0%b8%99

ชนิดปูนปลาสเตอร์ตามลักษณะผลึกทางเคมี
1. แอลฟาปลาสเตอร์ (Alpha Plaster)
แอลฟาปลาสเตอร์ หรือปูนปลาสเตอร์หิน หรือปูนปลาสเตอร์ซีเมนต์ มีชื่อทางเคมี แอลฟาแคลเซียมซัลเฟตเฮมิไฮเดรต ซึ่งผลิตได้จากการนำแร่ยิปซัมมาผ่านการให้ความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 120 องศาเซลเซียส ภายใต้สภาวะที่มีความชื้นหรือมีแรงดันไอน้ำ

ปูนปลาสเตอร์ชนิดนี้ มักผลิตออกมาให้มีสีฟ้าหรือสีเขียว เนื้อปูนเป็นผงที่มีความละเอียดสูง ดูดน้ำต่ำ ต้องการน้ำในการผสมน้อย ทำให้เนื้อผลิตภัณฑ์มีความพรุนน้อย ผลิตภัณฑ์มีความแข็งแรงสูง ไม่แตกหักง่าย แต่จะมีน้ำหนักมากกว่าปูนชนิดที่สอง และมีราคาที่สูงกว่า โดยผลิตภัณฑ์ที่ใช้ปูนชนิดนี้เป็นวัตถุดิบในการผลิต อาทิ กระเบื้องหลังคา และแม่พิมพ์ในงานอุตสาหกรรม

2. เบตาปลาสเตอร์ (Beta Plaster)
เบตาปลาสเตอร์ หรือปูนปลาสเตอร์ธรรมดา มีชื่อทางเคมี เบตาแคลเซียมซัลเฟตเฮมิไฮเดรต เช่นเดียวกับชนิดแรก ซึ่งผลิตได้จากการนำแร่ยิปซัมมาเผาหรือผ่านการให้ความร้อนภายใต้สภาวะแห้งหรือไม่มีไอน้ำ ซึ่งจะเผาตั้งแต่ระดับอุณหภูมิ 128 องศาเซลเซียส ถึง 163 องศาเซลเซียส

ปูนปลาสเตอร์ชนิดนี้ มีลักษณะเป็นผงสีขาว ราคาที่จำหน่ายจะถูกกว่าปูนชนิดแรก เนื่องจาก ผลิตภัณฑ์จะมีความพรุนสูง ดูดซึมน้ำได้มาก และต้องการน้ำในการผสมมากกว่าปูนปลาสเตอร์ชนิดแรกถึง 2-3 เท่า ทำให้มีความความแข็งแรงต่ำ แตกหักง่าย จึงเหมาะสำหรับใช้ทำแม่พิมพ์ขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ปูนชนิดนี้ อาทิ ปูนปั้นตุ๊กกระตาหรือรูปปั้นต่างๆ

ข้อเปรียบเทียบปูนปลาสเตอร์ชนิดแอลฟา และเบตา

คุณสมบัติ

แอลฟาปลาสเตอร์

เบตาปลาสเตอร์

  1. ราคา
แพง ถูก
2. ความละเอียดของเนื้อปูน ละเอียดมาก ละเอียดปานกลาง
3. การดูดน้ำหรือปริมาณที่ใช้ในการผสม ดูดน้ำหรือใช้น้ำน้อย ดูดน้ำหรือใช้น้ำมาก
4. ความเหนียวขณะเปียกน้ำ เหนียวน้อย เหนียวมาก
5. ความเร็วในการแข็งตัว แข็งตัวช้า แข็งตัวเร็ว
6. ความพรุน มีความพรุนน้อย มีความพรุนมาก
7. ความแข็งแรง แข็งแรงมาก แข็งแรงน้อย
8. น้ำหนัก มีน้ำหนักมาก มีน้ำหนักเบา
9. ลักษณะผิวผลิตภัณฑ์ ผิวเรียบลื่นเป็นมัน ผิวหยาบ

 

ชนิดปูนปลาสเตอร์ตามลักษณะการใช้งาน
1. Tablaware
เป็นปูนปลาสเตอร์สำหรับทำเพื่อขึ้นรูปในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ครัวเรือน อาทิ ถ้วย จาน ชามหรือแก้วน้ำในลักษณะต่างๆ

2. Sanitary
เป็นปูนปลาสเตอร์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสุขภัณฑ์ชนิดต่างๆ สามารถให้ผลิตภัณฑ์ที่มีความแข็งแรงสูง และมีอายุการใช้งานยาวนาน

3. Giftware
เป็นปูนปลาสเตอร์ที่ใช้ในงานขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ภายใต้แรงดันปานกลาง (Medium Pressure) และผลิตภัณฑ์ภายใต้แรงกด (Ram press)

4. Profin
เป็นปูนปลาสเตอร์ที่ใช้สำหรับฉาบรอยต่อแผ่นยิปซั่ม ฉาบปิดหัวสกรู ฉาบรอยปุผนัง หรืองานซ่อมแซมพื้นผนังต่างๆ วึ่งเหมาะสำหรับงานภายในอาคารที่มีมีโอกาสสัมผัสน้ำ

5. Proplaster
เป็นปูนปลาสเตอร์ที่มีเนื้อปูนละเอียดสูง เหมาะสำหรับฉาบทับหน้าไฟเบอร์ยิปซั่ม เพื่อเพิ่มความแข็งแรง และให้มีเนื้อกลมกลืนกับแผ่นยิปซั่ม

%e0%b8%9b%e0%b8%b9%e0%b8%99%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%aa%e0%b9%80%e0%b8%95%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b9%8c1

คุณสมบัติของปูนปลาสเตอร์ที่ดี
1. เนื้อปูนเป็นผงละเอียด ไม่จับตัวเป็นก้อน
2. เนื้อปูนปลาสเตอร์เมื่อผสมน้ำจะต้องมีการถ่ายความร้อนออกมา
3. เป็นปูนที่ต้องใช้น้ำในการผสมน้อย แต่เนื้อปูเหลว และไหลลื่นดี
4. สามารถอุ้มน้ำในเนื้อปูนให้ไว้ได้นานตลอดช่วงก่อนที่จะทำงานเสร็จ ไม่ใช่เนื้อปูนแห้งเร็วในขณะที่งานยังไม่เสร็จ
5. เมื่อเนื้อปูนแห้งหรือแข็งตัว เนื้อปูนควรมีการขยายตัวน้อยหรือคงที่ให้มากที่สุด
6. เนื้อปูนปลาสเตอร์มีการแข็งตัวในเวลาที่พอเหมาะ ไม่เร็ว หรือช้าเกินไป ซึ่งปกติใช้เวลาแข็งตัวประมาณ 5-10 นาที
7. เนื้อปูนปลาสเตอร์ไม่ทำปฏิกิริยากับแม่พิมพ์ที่รุนแรงหรือทำให้แม่พิมพ์เสื่อมตัวเร็วเกิน

การผสมปูนปลาสเตอร์
1. การผสมด้วยมือ
เป็นวิธีผสมปูนปลาสเตอร์ที่ใช้เนื้อปูนไม่มาก ซึ่งมักใช้ในงานประดิษฐ์หรือขึ้นรูปผลิตภัณฑ์เพียงไม่กี่ชิ้นงาน และมีขนาดของชิ้นงานที่ไม่ใหญ่หรือมีน้ำหนักมากจนเกินไป อาทิ การขึ้นรูปตุ๊กกระตา หรือ งานปูนปั้นขนาดเล็กต่างๆ

2. การผสมด้วยเครื่องติดใบพัด
เป็นวิธีการผสมปูนปลาสเตอร์ในถังผสมที่ติดใบพัดสำหรับกวนผสมปูนกับน้ำ ซึ่งมักใช้ในงานที่มีการขึ้นรูปหรือประดิษฐ์ชิ้นงานขนาดใหญ่ โดยพัดพัดกวนจะวิ่งด้วยความเร็วรอบต่ำ เพื่อป้องกันฟองอากาศแทรกตัวในเนื้อปูน และบางครั้งอาจต้องใช้การกวนด้วยมือต่อเพื่อไล่ฟองอากาศออกให้หมดก่อนนำมาใช้งาน

3.การผสมด้วยเครื่องกวนสูญญากาศ
เป็นการผสมปูนปลาสเตอร์ในถังกวนขนาดใหญ่ที่มักใช้งานในระดับอุตสาหกรรมหรือการผลิตชิ้นงานจำนวนมากหรือมีขนาดใหญ่ โดยการกวนจะเกิดขึ้นภายใต้สภาวะที่ไร้อากาศด้วยเครื่องดูดอากาศออกขณะกวนผสม ทำให้เนื้อปูนที่ได้ไม่มีฟองอากาศแทรกตัวในเนื้อปูน ซึ่งทำให้ทำเนื้อปูนมีความละเอียด และมีคุณภาพสูง

ขอบคุณภาพจาก www.moderncmi.com, https://th.aliexpress.com, www.anubistfx.com

เอกสารอ้างอิง
1) www.th.wikipedia.org. ปูนปลาสเตอร์. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2559. เข้าถึงได้ที่ https://th.wikipedia.org/wiki/ปูนปลาสเตอร์/
2) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์. บทที่1 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับปูนปลาสเตอร์. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2559. เข้าถึงได้ที่ http://elearning.nsru.ac.th/web_elearning/ceramic/lesson1.php/