น้ำยาทำความสะอาดห้องเผาไหม้

6662

น้ำยาทำความสะอาดห้องเผาไหม้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันแร่ที่ผ่านการกลั่นด้วยสารละลาย และสารปรุงแต่งสภาพ เช่น สารชะล้าง สารกระจาย เขม่า และสารป้องกันการสึกหรอของเครื่องยนต์

น้ำยาทำความสะอาดห้องเผาไหม้ที่ผลิตจำหน่ายในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นของเหลว  สีเหลืองอำพัน แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดสำหรับเครื่องยนต์เบนซินแบบหัวฉีด และชนิดสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งองค์ประกอบของน้ำยาทำความสะอาดห้องเผาไหม้ทั้งสองชนิดจะไม่แตกต่างกันมากนัก ราคาจำหน่ายประมาณ 300-1000 บาท

คุณสมบัติ
1. ช่วยลดการสึกหรอของเครื่องยนต์ในส่วนต่างๆ ได้แก่ วาว์ล หัวฉีด ลูกสูบ กระบอกสูบ เป็นต้น
2. มีคุณสมบัติในการชะล้าง และกระจายเขม่าไม่ให้จับตัวกันในเครื่องยนต์ โดยเฉพาะบริเวณหัวฉีด
3. ห้องเผาไหม้มีความสะอาด สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง
4. เพิ่มประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมัน และลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมัน
5. ลดมลภาวะจาการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ในห้องเครื่อง
6. ลดปัญหาเครื่องสดุด เครื่องน็อค
7. ป้องกันการสึกกร่อนของเครื่องยนต์
8. ป้องกันการเกิดสนิม

น้ำยาทำความสะอาดห้องเผาไหม้

วิธีการใช้
1. การใช้สามารถผสมหรือเติมเข้ากับถังน้ำมันเชื้อเพลิงได้ โดยน้ำยาจะผสมในน้ำมัน และจะเข้าสู่ห้องเผาไหม้พร้อมกับน้ำมันเชื้อเพลิง
2. ถอดส่วนประกอบห้องเผาไหม้ และฉีดล้างทำความสะอาดห้องเผาไหม้ หัวฉีด และอุปกรณ์โดยตรง
3. เติมผ่านเครื่องล้างหัวฉีด และอุปกรณ์ห้องเผาไหม้

ข้อมูลความเป็นอันตราย
1. มีส่วนประกอบของสารพิษบางชนิดของสารประกอบน้ำมันต่างๆ ควรได้รับการจัดเก็บ ขนส่งเคลื่อนย้ายให้ถูกสุขลักษณะ สุขอนามัย
2. การสลายตัวที่เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิผลิตภัณฑ์สูง สามารถเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับสภาวะต่าง ๆ ที่เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ขะก่อให้เกิดควัน คาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายและคาร์บอนมอนออกไซด์
3. สารประกอบส่วนมากเป็นพวกน้ำมัน สามารถติดไฟได้

ข้อมูลความปลอดภัย
1. ควรหลีกเลี่ยงในการที่จะสัมผัส / ผสมกับสารที่มีความสามารถในการออกซิไดซ์สูง
2. สารที่ใช้ในการดับเพลิงควรเป็นชนิดโฟมหรือผงเคมีแห้ง
3. เมื่อเกิดการสัมผัสกับดวงตาอาจก่อให้เกิดอาการตาแดงและระคายเคืองชั่วคราว
4. การสัมผัสบริเวณผิวหนังเป็นระยะเวลายาวนาน อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองเป็นผื่นแดงได้
5. การกลืนเป็นจำนวนมาก อาจก่อให้เกิดอาการคลื่นเหียน สะอิดสะเอียน และอาการท้องร่วงได้

การปฐมพยาบาล
1. เมื่อสัมผัสตา โดยขณะล้างตา ต้องลืมตา และล้างด้วยน้ำสะอาดเป็นจำนวนมาก ๆ และควรปรึกษาแพทย์เมื่อภายหลังการล้างตายังเกิดอาการระคายเคือง ตาแดง หรือเมื่อไม่สามารถล้างคราบน้ำมันออกได้หมด
2. การสัมผัสผิวหนัง เมื่อเครื่องนุ่งห่มเกิดการปนเปื้อนน้ำมัน ต้องทำการถอดออก ล้างให้ผิวสะอาดด้วยน้ำสบู่ และน้ำโดยเร็วที่สุด ไม่ควรล้างด้วยผงซักฟอกซึ่งมีค่าความเป็นด่างสูงจะยิ่งชะล้างไขมันธรรมชาติที่ผิวหนังออกไปอีก อาจชะโลมทาด้วยน้ำยาคาลาไมน์เพื่อลดอาการคัน และควรหลีกเลี่ยงการเกา
3. เมื่อมีการกลืนน้ำมันปิโตรเลียมสู่กระเพาะอาหาร  ต้องบ้วนปาก และดื่มน้ำอุ่นตามแล้วนำส่งโรงพยาบาล ถ้าเกิดการกลืนเป็นจำนวนมาก  ห้ามล้วงคอให้อาเจียนอย่างเด็ดขาด เพราะจะเกิดความเสี่ยงที่น้ำมันจะสำรอกออกมาแล้วไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดลม และปอดซึ่งจะทำให้เกิดอาการขาดออกซิเจน เป็นปอดบวมเนื่องจากสารเคมี และมีอันตรายถึงชีวิตได้
4. ถ้าการสูดดมละอองไอต่าง ๆ ของน้ำมัน เป็นสาเหตุของอาการระคายเคืองในหลอดลม และปอด เนื่องจากน้ำมันสัมผัสผิวเยื่อแล้วยังก่อให้เกิดอาการขาดออกซิเจนอีกด้วย ควรพักผ่อนในที่โล่งแจ้งที่มีอากาศบริสุทธิ์ และได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ หากอาการรุนแรง อาจต้องผายปอดหรือให้ออกซิเจนถ้าอาการไม่ดีขึ้นรีบพบแพทย์ทันที