ดินสอพอง

15562

ดินสอพอง หรือ มาร์ล เป็นเป็นผงแร่ที่ได้จากธรรมชาติ มีลักษณะเป็นก้อนหรือผงสีขาว สีขาวขุ่น ขาวออกเหลืองขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ นิยมนำมาใช้สำหรับร่างกายในด้านความสวยความงาม และมีใช้ในภาคครัวเรือน และอุตสาหกรรมบางส่วน

ดินสอพองมีองค์ประกอบหลักเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต (CO3) และแร่ดินเหนียว หรือเรียกว่า หินปูนเนื้อดิน รวมถึงส่วนประกอบอื่นๆ เช่น แมกนีเซียม แคลเซียม ซิลิกา เหล็ก และอาราโกไนต์ เป็นต้นสามารถพบได้ในชั้นดินที่มีกลุ่มของหินปูนเนื้อดินซึ่งจะพบอัตราส่วนของแคลเซียมคาร์บอเนตมากกว่าแร่ดินเหนียว ลักษณะของกลุ่มดินสอพองที่พบในชั้นดินจะมีลักษณะเป็นกลุ่มดินสีขาวขุ่นแทรกตัวอยู่ในชั้นดิน

ดินสอพอสามารถพบได้ทั่วไปในประเทศไทย แต่จะพบ และมีการขุดขึ้นมาใช้ประโยชน์มากในแถบพื้นที่ที่มีหินปูน ได้แก่
– ภาคกลาง ได้แก่ สระบุรี ลพบุรีนครสวรรค์
– ภาคตะวันตก ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี
– ภาคเหนือ ได้แก่ เพชรบูรณ์ ตาก ลำปาง เชียงใหม่
– ภาคอีสาน ได้แก่ เลย ชัยภูมิ
– ภาคใต้ ได้แก่ กระบี่

ดินสอพอง

การนำมาใช้ประโยชน์
1. ใช้สำหรับเป็นส่วนผสมสำหรับประเทืองผิว และในด้านความสวยความงามต่างๆ
2. ใช้เป็นสารปรับปรุงดิน เนื่องจากมีส่วนประกอบของแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นส่วนใหญ่ที่ให้ความเป็นด่างได้ดีสำหรับปรับสภาพดินที่เป็นกรด และสำหรับการฆ่าเชื้อในดิน นอกจากนั้น ยังมีส่วนประกอบของแร่ธาตุอื่นๆ เช่น แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม โซเดียมที่อยู่ในรูปสารประกอบต่างๆ สามารถเป็นแร่ธาตุอาหารให้แก่พืชได้
3. ใช้สำหรับการปรับความเป็นกรด-ด่าง ของน้ำ ทำให้น้ำมีสภาพเป็นด่างมากขึ้น เช่น กระบวนการบำบัดน้ำเสีย หรือ เติมปรับสภาพน้ำในแหล่งน้ำขังตามบ้าน ฟาร์ม แปลงเกษตร เป็นต้น
4. ใช้สำหรับการฆ่าเชื้อในดิน ฆ่าเชื้อในแหล่งน้ำ เช่น ใช้โรยฆ่าเชื้อบริเวณฟาร์มหรือคอกปศุสัตว์ เป็นต้น
5. ใช้ในงานไม้ งานก่อสร้าง เช่น การรองพื้นก่อนทาสี การปะปิดร่องหรือรูไม้ รูผนังปูน เป็นต้น
6. ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ
– อุตสาหกรรมผลิตปูน เช่น เป็นส่วนผสมของการผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ขาว
– อุตสาหกรรมแปรรูปไม้ เช่น ใช้ขัดผิวไม้ ขัดเฟอร์นิเจอร์
– อุตสาหกรรมขึ้นรูปโลหะ เช่น ใช้ขัดทำความสะอาดผลิตภัณฑ์ทอง ทองแดง เงิน นาค อะลูผลิตภัณฑ์โลหะอื่นๆ

การใช้ประโยชน์ด้านร่างกาย
1. ใช้สำหรับผสมน้ำให้ข้นหรือทำเป็นแป้งน้ำแล้วทาประทินผิวบริเวณใบหน้า รักษาสิว ลดความมัน ป้องกันแบคทีเรีย ซึ่งอาจจะผสมผงสมุนไพรเพื่อให้มีลักษณะน่าใช้ มีกลิ่นหอม และมีประโยชน์มากขึ้น
2. ใช้เป็นส่วนผสมของสบู่เพื่อให้มีลักษณะเนื้อนวลขึ้น
3. ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำอบทาบริเวณผิวหนังแก้ผดผื่นคัน
4. ใช้เป็นส่วนผสมสำหรับการทำน้ำแป้งทาหน้า และร่างกาย
5. ใช้สำหรับการขัดหน้า ขัดผิวกายให้สะอาด
6. ใช้ผสมสมุนไพรในการขับพิษ แก้อาการบวมร้อน ผดผื่น ตามร่างกาย

การผลิต
ขั้นแรก คือ การหาแหล่งบ่อดินสอพอง และขุดตักมากองบริเวณบ่อแยกกากหรือบ่อกาก เพื่อแยกส่วนประกอบอย่างอื่นออก เช่น เศษหิน เศษไม้ เป็นต้น ด้วยการใส่ดินสอพองลงในบ่อ และเติมน้ำให้ท่วม พร้อมเดินย่ำบ่อให้ดินละลาย ส่วนที่เป็นดินสอพองจะแขวนลอยอยู่ด้านบน ส่วนที่เป็นเศษหินหรือดินจะนอนตกตะกอนลงส่วนล่าง

เมื่อดินสอพองละลายในน้ำดีแล้วจนเหลือแต่ส่วนที่หนักจมลงด้านล่าง ให้ตักหรือสูบน้ำด้านบนใส่ในบ่อพักน้ำดินสอพองหรือบ่อเนื้อเพื่อรวบรวมน้ำดินสอพอง ให้แยกจากเศษวัสดุต่างๆ

บ่อดินสอพอง

ขั้นที่สอง ตักหรือดูดน้ำจากบ่อเนื้อลงในบ่อตกตะกอนหรือบ่อทำแผ่น โดยทิ้งไว้ 1 คืน เพื่อดินสอพองตกตะกอน หลังจากนั้น ทำตักน้ำส่วนด้านบนออกจนเหลือแต่ตะกอนดินสอพองที่มีลักษณะเป็นโลนเหลวอยู่ด้านล่าง

ขั้นที่สาม ทำการตักโคลนดินสอพองใส่ในแม่พิมพ์หรือปั้นเป็นก้อนวางตากบนลานตากที่ปูรองพื้นด้วยผ้าใบเพื่อดูดซับน้ำ ทิ้งไว้ประมาณ 2-5 ชั่วโมง ก้อนดินสอพองจะหมาดเกาะกันเป็นก้อนจนสามารถหยิบจับได้ แล้วจึงนำมาตากบนตะแกรงไม้ไผ่ต่อประมาณ 2-3 วัน ก็จะเป็นก้อนแห้งสนิท

ข้อแนะนำ
– การใช้ดินสอพองในการพอกหน้าอาจทำให้หน้าตึง และลดความชุ่มชื้นได้ เนื่องจากดินสอพองสามารถดูดซับความชื้นได้ดี และเมื่อละลายน้ำจะมีฤทธิ์เป็นด่าง โดยเฉพาะดินสอพองที่มีลักษณะเป็นผงสีขาวมาก เพราะมีความบริสุทธิ์ของแคลเซียมคาร์บอเนตสูง
– ดินสอพองที่ผลิตไม่ควรใกล้แหล่งโลหะหนักหรือไม่ควรมีโลหะหนักปะปน เช่น ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม เป็นต้น
– การใช้ดินสอพองแบบผง เช่น การหว่านโรย ควรสวมผ้าปิดจมูกทุกครั้งเพื่อป้องกันการสูดดมเข้าร่างกาย