กรดโฟลิก หรือ โฟเลต

20847

กรดโฟลิก (Folic acid) หรือ โฟเลต มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า กรดเทอโรอิลกลูตามิก (pteroylglutamic acid, PGA) จัดอยู่ในกลุ่มวิตามินที่ละลายได้ในน้ำ สถานะเป็นของแข็ง ผลึกสีเหลือง สลายตัวง่ายเมื่อถูกความร้อนในสภาพเป็นกรด และเมื่อถูกแสงในสภาพที่เป็นกลาง และด่าง มีโครงสร้างประกอบด้วยเทอริดีน (pteridine) กรดพาราอะมิโนเบนโซอิก และกรดแอล-กลูตามิก มีกรดแอล-กลูมตามิก เชื่อมต่อกับหมู่คาร์บอกซิลของกรดพาราอะมิโนเบนโซอิกเป็น 2-อะมิโน 4-ไฮดรอกซีเทอริดีน

โฟเลต เป็นคำที่นิยมเรียกสารประกอบที่มีโครงสร้างทางเคมี และมีคุณค่าทางโภชนาการเหมือนเหมือนกับคำว่า กรดโฟลิก ในปัจจุบันจึงนิยมใช้คำว่า โฟเลต แทน กรดโฟลิก

กรดโฟลิกที่พบในธรรมชาติจะอยู่ในรูปของโฟเลต โดยพบได้ทั้งในพืช และในสัตว์ ตัวอย่างอาหารที่มีโฟเลตสูง ได้แก่ พืชใบสีเขียว และเมล็ดธัญพืช เช่น ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วลิสง เป็นต้น ส่วนในสัตว์ พบในเนื้อเยื่อต่างๆ พบมากในตับ ไต และเครื่องใน ส่วนจุลินทรีย์ที่พบปริมาณโฟเลตสูง คือ ยีสต์

กรดโฟลิค

โฟเลต

ประโยชน์โฟเลต/กรดโฟลิก

โฟเลต/กรดโฟลิก เป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโต และการสืบพันธุ์ ป้องกันความผิดปกติของเลือด และเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับกลไกทางชีวเคมีของร่างกาย

เมื่อร่างกายได้รับโฟเลต/กรดโฟลิก จะถูกเปลี่ยนเป็นเป็นโคเอนไซม์ที่สำคัญ ได้แก่ กรดเตตตระไฮโดรโฟลิก (tetrahydrofolic acid: FH4) ซึ่งจะกระจายเข้าสู่ทั่วร่างกาย แต่จะพบมากบริเวณตับ ซึ่งสารโคเอนไซม์เหล่านี้มีหน้าที่ที่สำคัญ คือ ทำหน้าที่ในปฏิกิยาที่เกี่ยวข้องกับการขนย้ายคาร์บอน อะตอม ในกระบวนการสร้างสารเพียวรีน (purine) และไพริมิดีน (pyrimidine) ที่เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์กรดนิวคลีอิก นอกจากนี้  โฟเลต/กรดโฟลิก และโคเอนไซม์ ยังเป็นสารสำคัญที่ช่วยในการสังเคราะห์กรดอะมิโนที่จำเป็น เช่น ไกลซีน และซีรีน ที่ใช้สำหรับการสร้างโปรตีนให้แก่ร่างกาย

โฟเลต/กรดโฟลิก ถือเป็นสารที่สำคัญสำหรับหญิงตั้งครรภ์ และในวัยเด็ก เป็นสารที่ช่วยลดการเกิดโรคโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์ และในวัยเด็ก ลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดประสาทปลายเปิดในทารก (NTDs) ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง และโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ

ผลของการขาดโฟเลต/กรดโฟลิก

การขาดโฟเลต/กรดโฟลิก จะมีผลทำให้การสังเคราะห์กรดนิวคลีอิกได้น้อยลง ซึ่งจะส่งผลต่อการสังเคราะห์ DNA และRNA ได้น้อยลงตามมา รวมถึงมีผลต่อการสร้างกรดอะมิโนต่างๆที่จำเป็นด้วย สิ่งเหล่านี้ ทำให้เกิดการเจริญ และการแบ่งตัวของเซลล์ช้ากว่าปกติ เช่น โปรตีนในร่างกาย เซลล์เม็ดเลือดแดง และเซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร เป็นต้น

ในเด็กที่ขาดโฟเลต/กรดโฟลิกจะมีผลต่อการเจริญเติบโต ร่างกายแคระแกร็น การพัฒนาการทางสมองช้า หากเกิดการขาดหลังวัยเด็กจะทำให้เกิดโรคโรหิตจางชนิด megaloblasttic เป็นชนิดโรคโลหิตจางที่พบ megaloblast จำนวนน้อยลงในไขกระดูก และเม็ดเลือดแดง โดย megaloblast ที่พบจะมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีอายุสั้นกว่าปกติ อาการของโรคโลหิตจางชนิดนี้ คือ เหนื่อยหอบง่ายกว่าปกติ สีผิวซีด มีความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร มีอาการท้องเดิน ปวดท้อง กรดในกระเพราะอาหารน้อยลง เบื่ออาหาร ลิ้น และปากมีการอักเสบ

หญิงตั้งครรภ์ที่เกิดภาวะขาดโฟเลต/กรดโฟลิกในระหว่างตั้งครรภ์ จะมีระดับ 5-Methyl-THF  ที่เป็นอนุพันธ์โฟเลต/กรดโฟลิก ในระบบเลือดลดต่ำลง ทำให้มีการยับยั้งกระบวนการ remethylation ของ homocysteine ให้เป็น methionine ทำให้ระดับ homocysteine ในพลาสมาสูงขึ้น ส่งผลต่อการเจริญเติบโต และการพัฒนาของตัวอ่อน (embryo) ในครรภ์

กรดโฟลิคเสริม

ความต้องการโฟเลต/กรดโฟลิก
1. ทารก
– อายุ 0-0.5 : 50 ไมโครกรัม
– อายุ 0.5-1 : 50 ไมโครกรัม

2. เด็ก
– อายุ 1-3 : 100 ไมโครกรัม
– อายุ 4-6 : 200 ไมโครกรัม
– อายุ 7-10 : 300 ไมโครกรัม

3. ผู้ชาย
– อายุ 11-14 : 400 ไมโครกรัม
– อายุ 15–18 : 400 ไมโครกรัม
– อายุ 19-22 : 400 ไมโครกรัม
– อายุ 23-50 : 400 ไมโครกรัม
– อายุตั้งแต่ 51 ขึ้นไป : 400 ไมโครกรัม

4. ผู้หญิง
– อายุ 11-14 : 400 ไมโครกรัม
– อายุ 15-18 : 400 ไมโครกรัม
– อายุ 19-22 : 400 ไมโครกรัม
– อายุ 23-50 : 800 ไมโครกรัม
– อายุตั้งแต่ 51 ขึ้นไป : 600 ไมโครกรัม

5. หญิงมีครรภ์ : 800 ไมโครกรัม

6. หญิงให้นมบุตร : 600 ไมโครกรัม

ที่มา : ศศิเกษม และพรรณี, 2530.

ปัจจุบัน มีการสกัด และสังเคราะห์โฟเลตเพื่อใช้เป็นส่วนผสมหรือเป็นอาหารเสริม โดยเฉพาะในวัยเด็ก และหญิงตั้งครรภ์ที่ต้องการมาก รวมถึงใช้เป็นส่วนผสมในอาหารอื่นๆที่สามารถเป็นแหล่งโฟเลตเสริมสำหรับทุกเพศทุกวัย