อะซิโตน (Acetone)

81907

อะซิโตน (Acetone) เป็นสารตัวทำละลายอินทรีย์ระเหยง่ายที่ไม่มีกลุ่มฮาโลจีเนตเต็ต ใช้มากในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมสำหรับใช้เป็นตัวทำละลายสารต่างๆ สามารถผลิต และสกัดได้จากธรรมชาติ และการสังเคราะห์ทางเคมีจากปิโตรเลียม

อะซิโตนถูกค้นพบครั้งแรกโดย Schardinger จากกระบวนการหมักของแบคทีเรียในสภาวะไม่มีออกซิเจน โดยสามารถผลิตได้จากแบคทีเรียในกลุ่ม Cl. acetobutylicum และCl. beijerinckii ซึ่งวิธีนี้มีต้นทุนค่อนข้างสูง ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์อะซิโตนส่วนมากที่มีใช้ในปัจจุบันจะได้จากกระบวนการสังเคราะห์จากปิโตรเลียม

คุณสมบัติเฉพาะ
ชื่อทางเคมี : 2-Propanone
ชื่ออื่นๆ : Methyl ketone, Ketone propane, Dimethyl formaldehyde
สูตร : CH3COCH3

อะซิโตน

มวลโมเลกุล : 58.08
สถานะ : ของเหลวใส ไม่มีสี มีกลิ่นคล้ายมินท์
จุดเดือด : 56.5 องศาเซลเซียส
จุดหลอมเหลว : -95
จุดวาบไฟ : -2 องศาเซลเซียส
ลุกติดไฟได้เอง : 465 องศาเซลเซียส
ความถ่วงจำเพาะ : 0.79
ความดันไอ : 400 มิลลิเมตรปรอท (39.5 องศาเซลเซียส)
ค่าคงที่เฮนรี่ : 3.97 x 10-5 ลบ.ม.-บรรยากาศ (25 องศาเซลเซียส)
การละลายน้ำ : ละลายน้ำได้ดี

ประโยชน์
1. ในภาคอุตสาหกรรม
มักใช้เป็นตัวทำละลายในกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเคมี ผลิตยา ผลิตสี หมึกพิมพ์ น้ำมันขัดเงา กาว แลคเกอร์ เครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมพลาสติก เช่น เรซิน Bisphenol A สำหรับเป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกหลายชนิด เช่น โพลีคาร์บอเนต โพลียูรีเทน และเรซิน เป็นต้น
2. ห้องปฏิบัติการ
มักใช้อะซิโตนสำหรับเป็นตัวทำละลายในการเตรียมสารเคมี หรือ ใช้เป็นสารทำละลายสำหรับการสกัดสารอินทรีย์จากพืชหรือสัตว์
3. ประโยชน์ด้านอื่นๆ ได้แก่ ใช้สำหรับการชะล้าง และเป็นสารไล่น้ำ

ข้อมูลความปลอดภัย และข้อแนะนำ
ความเป็นอันตราย
– อะซิโตนจัดเป็นสารอันตรายประเภทที่3 ตามประกาศ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย ปี 2535
– ค่า LC50 เท่ากับ 50100 มก./ลบ.ม. (ในหนูที่ 8 ซม.)
– ค่า OSHA-PEL เท่ากับ 2400 มก./ลบ.ม.

การเกิดปฏิกิริยา
– อะซิโตนมีความเสถียรภายใต้สภาวะปกติ
– สารที่เข้ากันไม่ได้ ได้แก่ กรดไนตริกเข้มข้น กรดซัลฟูริก คลอโรฟอร์ม สารประกอบคลอรีน สารออกซิไดซ์ ยางธรรมชาติ ยางสังเคราะห์ พลาสติก เป็นต้น
– การเกิดปฏิกิริยา และการสลายตัวจะเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และคาร์บอนมอนอกไซด์

การเกิดอัคคีภัย
อะซิโตน จัดเป็นสารไวไฟ มีจุดวาบไฟที่น้อยมากที่ -2 องศาเซลเซียส และลุกติดไฟได้เองที่ 465 องศาเซลเซียส ดังนั้น จึงมีโอกาสเกิดการติดไฟ และระเบิดได้ง่ายหากสัมผัสกับความร้อน และเปลวไฟ และเกิดระเบิดได้เองหากส่วนผสมของไอระเหยกับอากาศอยู่ภายใต้ขีดจำกัดความไวไฟที่ได้รับความร้อนมากเพียงพอ

อันตรายต่อสุขภาพ
1. ระบบหายใจ : การสูดดมหรือหายใจเอาอะซิโตนเข้าสู่ระบบหายใจจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองของเยื่อบุทางเดินหายใจ มีอาการไอ แน่นหน้าอก เวียนศรีษะ ปวดหัว
2. ทางผิวหนัง : เมื่อมีการสัมผัสทางผิวหนังจะทำให้ชั้นไขมันผิวหนังถูกทำลาย ผิวหนังแดง อักเสบ มีอาการปวดแสบปวดร้อน
3. สัมผัสกับตา : เมื่อมีการสัมผัสกับตาจะทำให้ตาระคายเคือง น้ำตาไหล มีอาการตาแดง และปวดตา
4. การกลืนกิน : การกลืนกินเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารจะทำให้รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศรีษะ ปวดหัว
5. ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ที่อยู่ใกล้เคียงขณะปฏิบัติงาน ควรสวมถุงมือยาง รองเท้าบูท ผ้าปิดจมูก แว่นตาป้องกันสารเคมี และสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดทุกครั้ง

การเก็บรักษา
– ควรเก็บในภาชนะที่ปิดบรรจุมิดชิด จัดเก็บในบริเวณที่แห้ง เย็น มีการระบายอากาศที่ดี
– ควรเก็บในภาชนะที่ทำจากกแก้ว หลีกเลี่ยงการเก็บในภาชนะที่ทำด้วยโลหะ ใยสังเคราะห์ และพลาสติก
– ควรเก็บให้ห่างจากแหล่งความร้อน แสงแดด เปลวไฟ และสารที่เข้ากันไม่ได้
– อุณหภูมิสถานที่เก็บไม่ควรเกิน 30 องศาเซลเซียส
–  สถานที่เก็บควรถูกต้องตามกฎหมายที่กรมโรงงานกำหนดในเรื่องการจัดเก็บวัตถุอันตราย มีป้ายเตือนอันตราย ป้ายเตือนให้สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ป้ายห้ามสูบบุหรี่ ระยะห่างจากแหล่งความร้อน แหล่งเชื้อเพลิง อาคารสามารถป้องกันประกายไฟ เป็นต้น