ยาแก้ไอ ยาแก้หวัด และยาลดน้ำมูก

97156

ยาแก้ไอ ยาแก้หวัด และยาลดน้ำมูก ในปัจจุบันมีมากมายหลายตำรับยา โดยส่วนมากจะเป็นยาสูตรผสมสำหรับลดอาการไอ ช่วยขับเสมหะ ลดอาการไข้ เป็นหวัด และน้ำมูกไหลในตำรับเดียวกัน ซึ่งโดยทั่วไปสามารถหาชื้อมารับประทานเองได้ เนื่องจากเป็นยาที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งจากแพทย์ก่อน ทั้งนี้ ยาเหล่านี้อาจมีส่วนผสมที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดการเสพติดได้ เช่น สาร Codeine ที่ออกฤทธิ์คล้ายกับฝิ่น ดังนั้น ผู้ชื้อจึงควรศึกษา และเลือกชนิดยาที่เหมาะสม รวมถึงการปฏิบัติตามข้อบ่งใช้ในเอกสารกำกับยาให้เคร่งครัดเสมอ

1. ยาแก้ไอ
การไอถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เนื่องจากเป็นกลไกในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมออกจากหลอดอาหารหรือระบบทางเดินหายใจ แต่อาการไอที่เกิดจากคอแห้ง และการระคายคอมักทำให้เกิดอาการเจ็บปวด และก่อให้เกิดความรำคาญ รวมถึงอาการไอแบบมีเสมหะที่มีอาหารไออย่างต่อเนื่อง และรุนแรง อาจทำให้เกิดการปวดเจ็บ และการอักเสบของหลอดลม และหลอดอาหารได้ ดังนั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมักซื้อยามารับประทานเพื่อลดอาการไอ และกำจัดเสมหะที่เป็นสาเหตุขอการไอให้น้อยลง

i

สรรพคุณยาแก้ไอ
– บรรเทาอาการไอ ทำให้ชุ่มคอ ช่วยละลายเสมหะ และขับเสมหะ สำหรับผู้ป่วยที่ไอแบบมีเสมหะ
– บรรเทาอาการไอ และทำให้ชุ่มคอ สำหรับผู้ป่วยที่ไอแบบไม่มีเสมหะ จากสาเหตุต่างๆ เช่น หลอดลมอักเสบ ไอจากโรคหวัด ไอจากวัณโรค เป็นต้น

ชนิดยาแก้ไอ
โดยทั่วไปตัวยาที่เป็นส่วนประกอบของยาแก้ไอ ได้แก่
1. ยากดอาการไอ (cough suppressant)
2. ยาขับเสมหะ (expectorant)
3. ยาละลายเสมหะ (mucoregulator หรือ mucolytic)

kei

ยาแก้ไอ แบ่งตามลักษณะการออกฤทธิ์ แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
1. ยากดอาการไอ
ตัวยาออกฤทธิ์กดอาการไอ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.1 ยาแก้ไอที่ออกฤทธิ์ทำให้เสพติด (Narcotic Antitussives)
เป็นยาแก้ไอที่ออกฤทธิ์กดอาการไอ หากใช้ในระยะเวลานาน และต่อเนื่องจะทำให้เกิดการเสพติด สารที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการออกฤทธิ์ ได้แก่ Codeine, Opium (ในรูป camphorated opium tincture) และ Hydrocodone เป็นต้น

1.2 ยาแก้ไอที่ไม่ออกฤทธิ์ทำให้เสพติด (Non-Narcotic Antitussives)
เป็นยาแก้ไอที่ออกฤทธิ์กดอาการไอ เมื่อใช้ในระยะเวลานาน และต่อเนื่องจะไม่ทำให้เกิดการเสพติดเหมือนยาในกลุ่ม Narcotic Antitussives สารที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการออกฤทธิ์ ได้แก่ Dextromethorphan, Benzonatate และ Noscapine เป็นต้น

2. ยากำจัดเสมหะ
ตัวยาออกฤทธิ์ลด และกำจัดเสมหะ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
2.1 ยาขับเสมหะ (Expectorant)
เป็นยาแก้ไอที่ออกฤทธิ์กระตุ้นให้เซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจบริเวณหลอดลมหลั่งสารคัดหลั่งมากขึ้น หรือออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทรับความรู้สึกที่กระเพาะอาหารเกิดกลไกการตอบสนองให้มีการหลั่งน้ำ และเมือกมากขึ้น เพื่อช่วยให้เสมหะลดความเหนียวลง และกระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อบริเวณทรวงอก และหน้าที่เพื่อผลักดันเสมหะให้ออกทางช่องปากได้ง่ายขึ้น ยาที่ใช้ในกลุ่มนี้ ได้แก่ Guaiphenesin, Hydriodic Acid, Ammonium Chloride, Potassium Iodine, Ipecacuanha และ Iodinate Glycerol เป็นต้น

2.2 ยาละลายเสมหะ (Mucolytic)
เป็นยาแก้ไอที่ออกฤทธิ์ทำลายแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลในเสมหะ ทำให้เสมหะไม่เหนียวข้นหรือไม่จับตัวกันเป็นก้อน เสมหะมีลักษณะเหลวใส สามารถเคลื่อนออกจากหลอดลมได้ง่ายขึ้น หรือสามารถไอผลักดันเสมหะออกได้ง่ายขึ้น ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ Bromhexine, Acetylcysteien, Ambroxol และ Methylcysteien เป็นต้น (กรอุมา ลาภานุพัฒน์, 2554.)(1)

ยาแก้ไอชนิดผสม Codeine
ยาแก้ไอที่มีส่วนผสมของสาร Codeine จัดเป็นกลุ่มยาแก้ไอที่เกิดอาการเสพติดของผู้รับประทานได้ เนื่องจากสาร Codeine เป็นสารอัลคาลอยด์ที่สกัดได้จากฝิ่น เพราะสารชนิดนี้ไม่มีการผลิตสังเคราะห์ขึ้น เนื่องจากมีการใช้อย่างจำกัด และใช้ในปริมาณน้อยมากจึงไม่คุ้มค่าสำหรับการผลิต จำเป็นต้องใช้สารที่สกัดได้จากฝิ่นแทน ซึ่งปัจจุบัน Codeine ที่ใช้ในวงการแพทย์ส่วนใหญ่จะมาจากการสกัดจากฝิ่น ด้วยวิธี Methylation ใน Phenolic hydroxyl group ของมอร์ฟีน กระบวนการสกัดมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างโมเลกุลน้อยทำให้ Codeine ออกฤทธิ์เหมือนมอร์ฟีน

Codeine ที่ใช้เป็นส่วนผสมเป็นสารในกลุ่มโอปิออยด์ (opioid) ใช้ออกฤทธิ์ระงับอาการปวด และระงับอาการไอ สารนี้สามารถถูกทำลายที่ตับ และขับออกทางปัสสาวะ บางส่วนสามารถเปลี่ยนเป็นมอร์ฟีนได้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจึงมักตรวจพบมอร์ฟีนในปัสสาวะสำหรับผู้ที่รับประทานยาแก้ไอชนิดนี้

Codeine จัดเป็นสารเสพติดชนิดที่ 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ที่ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง จึงนิยมนำมาใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ผสมในยาแก้ไอทั้งยาชนิดแคปซูล ยาชนิดเม็ด และยาชนิดน้ำ เพื่อระงับอาการปวดหรือระงับอาการไอ

ข้อควรระวัง
1. การใช้ยาแก้ไอชนิดที่ผสม Codeine ต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการดื้อยาจนทำให้ต้องใช้ในปริมาณที่สูงขึ้น เป็นผลทำให้เกิดการเสพติดยาตามมา ดังนั้น การรับประทานยาแก้ไอชนิดที่มีส่วนผสม Codeine จึงไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 7 วัน
2. การใช้ยาแก้ไอ โดยเฉพาะชนิดที่ผสม Codeine อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานใกล้กับเครื่องกลหนัก ทำงานในที่สูงหรือเสี่ยงกับสารเคมีหลังการรับประทานยาแก้ไอ
3. ไม่ควรรับประทานยาแก้ไอร่วมกับอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เกิดการง่วงซึมเพิ่มมากขึ้น
4. หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ไอกับหญิงตั้งครรภ์ และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี อย่างเด็ดขาด
5. หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ไอกับผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดหรือมีอาการหายใจลำบาก

สุนันทา และศรัณยา, 2550(2) รายงานการศึกษาพฤติกรรมการเลือกซื้อยาแก้ไอของผู้บริโภคใน 5 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ โยพบพฤติกรรมการเลือกซื้อยาแก้ไอ ดังนี้
1. สถานที่เลือกซื้อยาแก้ไอที่พบบ่อย ได้แก่ ร้านขายยาทั่วไป รองลงมาเป็นโรงพยาบาล คลีนิกหรือสถาบันทางการแพทย์ และร้านขายของชำหรือร้านสะดวกซื้อ โดยตัดสินใจเลือกซื้อด้วยตนเองมากที่สุด รองลงเป็นการเลือกซื้อตามคำแนะนำแพทย์หรือเภสัชกร ส่วนผู้ใช้ยาจะพบการซื้อให้ตนเอง รองลงมาเป็นบุตร และคู่สมรส ตามลำดับ
2. รูปแบบของยาแก้ไอที่เลือกซื้อมากที่สุดเป็นยาเม็ด รองลงมาเป็นยาน้ำ และแคปซูล ตามลำดับ

2. ยาแก้หวัด และลดน้ำมูก
ยาแก้หวัดมักประกอบด้วยตัวยา 2 กลุ่ม คือ
1. แอนติฮีสตามีน (antihistamine)
2. ยาแก้คัดจมูก (decongestant)

แอนติฮีสตามีน (antihistamine)
สารแอนติฮีสตามีน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. Fist- generation antihistamines ได้แก่ Ethylenediamines, Ethanolamines, Akylamines, Phenothaizines, Piperazines และPiperidines

2. Second- generation antihistaminesได้แก่ Terfenadine,Astemizole, Loratidine, และ Cetirizine

โดยทั่วไปเมื่อร่างกายมีปฏิกิริยาภูมิแพ้นั้น สารฮิสตามีนจะถูกหลั่งออกมาจาก mast cell และิ basophil หลังการถูกกระตุ้นโดยแอนติเจน ฮีสตามีน และสารภูมิแพ้อื่นๆ ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของทางเดินหายใจมีการหดตัว หลอดเลือดขยายตัวจนเกิดการรั่วของสารคัดหลั่งออกมาในบริเวณนั้น

ประโยชน์ของแอนติฮีสตามีน
1. สารแอนติฮีสตามีน เข้าแย่งจับกับ H1 receptor ทำให้สารฮีสตามีนหรือสารก่อภูมิแพ้ต่างๆไม่สามารถออกฤทธิ์ทำให้ป้องกันการหลั่งของสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ
2. ลดการหลั่งของสารคัดหลั่งที่มีผลทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจอักเสบ
3. ลดอาการภูมิแพ้ให้ลดลง

ผลข้างเคียงสารแอนติฮีสตามีน
1. อาการง่วงซึม (sedative effect) ที่เกิดจากฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางของตัวยาในกลุ่ม Fist- generation antihistamines ที่ทำให้เกิดการง่วงซึม อาการง่วงซึมสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งการรับประทานในขนาดที่ปกติ และรับประทานในขนาดที่มีตัวยามาก สำหรับเด็กมักพบปัญหาทำให้ผลการเรียนตกต่ำ ดังนั้น การใช้ยาในกลุ่มนี้ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานในช่วงกลางวัน ส่วนยาในกลุ่ม Second- generation antihistamines จะมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการง่วงซึมน้อยมาก
2. anticholinergic effect คือ อาการที่ทำให้เกิดคอแห้ง และการระคายคอ

ยาแก้คัดจมูก (decongestant)
ตัวยาที่ใช้เป็นส่วนผสมสำหรับลดอาการคัดจมูกน้ำมูกไหล ได้แก่ pseudoephedrine, phenylephrine และ phenylpropanolamine ทำหน้าที่ออกฤทธิ์ลดอาการจาม อาการคัดจมูก และลดน้ำมูก โดยมีกลไกหลัก คือ ออกฤทธิ์ทำให้เกิดการหดตัวของเส้นเลือดบริเวณเยื่อบุภายในจมูก ลดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงบริเวณนั้น ทำให้ลดอาการคัดจมูก หายใจโล่ง และช่วยระบายน้ำคัดหลั่งออกมาได้ดีขึ้น ส่วนอาการข้างเคียงของตัวยาเหล่านี้ คือ มีอาการใจสั่น วิงเวียนศรีษะ เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมองต่างๆ โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคเบาหวาน และโรคต้อหิน

ที่มา : จามรี ธีรตกุลพิศาล, 2550.(3)

การลดน้ำมูก
การลดปริมาณน้ำมูกเกิดจากตัวยาแอนติฮีสตามีนที่ออกฤทธิ์ลดปริมาณสารคัดหลั่งร่วมกับการออกฤทธิ์ของยาในกลุ่มยาแก้คัดจมูกที่ช่วยให้มีการระบายสารคัดหลั่งออกมาได้สะดวกทำให้ปริมาณสารคัดหลั่งหรือน้ำมูกลดลงได้ง่าย

 เอกสารอ้างอิง
untitled