ยาจุดกันยุง (Mosquito coil)

29690

ยาจุดกันยุง  (Mosquito coil) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับการจุดเพื่อป้องกัน และกำจัดยุง มีลักษณะเป็นแท่งรูปทรงกระบอกขดไปมาเป็นลักษณะวงกลม

ยาจุดกันยุง ตามคำนิยามของ มอก. 309-2522 หมายถึง ผลิตภัณฑ์ยากันยุงที่เมื่อจุดใช้สามารถระเหยสารออกฤทธิ์ขับไล่ยุงหรือฆ่ายุงได้ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
– ยาจุดกันยุงชนิดแท่ง โดยมีน้ำหนักของแท่งเดี่ยวไม่ต่ำกว่า 12.00 กรัม
– ยาจุดกันยุงชนิดขด โดยมีน้ำหนักของขดเดี่ยวไม่ต่ำกว่า5.50 กรัม

ยาจุดกันยุงต่างกับสเปรย์กันยุง และยาทากันยุงตรงที่ยาจุดกันยุงสามารถป้องกัน และฆ่ายุงได้ ส่วนสเปรย์กันยุง และยาทากันยุงมีลักษณะการใช้เพื่อป้องกันยุงมากกว่า และลักษณะการใช้งานจะใช้วิธีการจุดฟันเพื่อให้เกิดควันพิษแก่ยุง

คุณลักษณะจำเป็นตาม มอก.
– ยาจุดกันยุงทั้งสองชนิด เมื่อแยกออกจากกันจะแตกหรือหักไม่เกินร้อยละ 5
– ยาจุดกันยุงชนิดขด เมื่อทดสอบตามมาตรฐาน มอก. ต้องไม่แตกหรือร้าวเป็นวงแหวนมากกว่าร้อยละ 8
– ยาจุดกันยุงชนิดแท่ง เมื่อทดสอบตามมาตรฐาน มอก. ต้องไม่แตกหรือร้าวเป็นวงแหวนมากกว่าร้อยละ 5
– ควันที่เกิดจากการเผาต้องไม่เป็นอันตรายเฉียบพลันต่อผู้ใช้
– สามารถทำให้ยุงตกมาหงายท้องได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ใน 20 นาที
– อัตราการเผาไหม้ในห้องอับลม สำหรับชนิดขด ขดเดี่ยวต้องจุดได้นานไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง ชนิดแท่งเดี่ยวต้องจุดได้นานไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง
– ความชื้นต้องไม่เกินร้อยละ 12

ยาจุดกันยุง

ลักษณะการป้องกัน และกำจัดยุง
1. ใช้ด้วยการจุดไฟ โดยหันหรือวางไว้ในทิศทางเหนือลมหรือบริเวณที่ต้องการไล่ยุง และกำจัดยุง
2. ยุงเมื่อสัมผัสกับควันพิษในระดับความเข้มข้นน้อยที่ไม่มีผลทำให้ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้หรือตายจะไม่เข้าไกล้กับแหล่งควันหรือบริเวณที่เกิดควัน
3. เมื่อยุงได้รับสารพิษจากควันสู่ผิวหนังจะทำให้ลดการเคลื่อนไหวของยุง และทำให้ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้
4. เมื่อได้รับพิษในระยะหนึ่งจะทำให้ยุงตาย

ส่วนผสม
ส่วนผสมหลักในยาจุดกันยุง คือ สารสังเคราะห์ในกลุ่มของ ไพรีทรอยด์ (pyrethroids) ที่สังเคราะห์เลียนแบบสารไพรีทรินที่สกัดได้จากดอกไม้จำพวกเบญจมาศ ดอกไพรีทรัม เป็นต้น โดยสารนี้มีลักษณะเป็นผงสีเขียวปนน้ำตาล สลายตัวได้เร็วใสภาวะเป็นด่าง สามารถออกฤทธิ์ในการป้องกัน และกำจัดแมลงได้ ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อคน และสัตว์ แต่ทั้งนี้ การสกัดสารไพรีทรินมีต้นทุนสูงมากจึงได้มีการพัฒนาสังเคราะห์สารเคมีเลียนแบบขึ้นมาทดแทน

การสังเคราะห์สารไพรีทรอยด์ครั้งแรกมีขึ้นประมาณปี ค.ศ. 1950 จนได้สารที่ชื่อว่า แอลเลอทริน ซึ่งนำมาใช้ในระยะแรกได้ผลดี แต่ในช่วงต่อมามีการต้าน และดื้อยาของยุงทำให้มีการผลิตสารชนิดใหม่ขึ้นมาเรื่อยในปัจจุบัน

ส่วนผสมหลักที่ใช้
1. สารออกฤทธิ์ คือ สารสังเคราะห์ไพรีทรอยด์ เช่น
– แอลเลอทริน (Allethrin) มีลักษณะเป็นน้ำมัน สีเหลืองอ่อน มีจุดเดือด 140 องศาเซลเซียส  ละลายน้ำได้เล็กน้อย และละลายได้ดีในตัวทำละลายอินทรีย์

– ไบโอแอลเลอทริน หรือ ดี-แอลเลอทริน (Bioallethrin, d-Allethrin) ออกฤทธิ์รุนแรงกว่าแอลเลอทริน มีลักษณะเป็นของเหลวเหนียวเป็นยาง สีเหลืองอำพัน ไม่ละลายน้ำ แต่ละลายในตัวทำละลายอินทรีย์

2. วัสดุช่วยเผาไหม้ เช่น ผงไม้โกบ๊วย
3. สารยึดเกาะ เช่น แป้งจากธรรมชาติ
4. สารเติมแต่ง เช่น สี ยากันบูด

นอกจากนี้บางผลิตภัณฑ์อาจมีส่วนผสมของสารสกัดสมุนไพรที่ให้กลิ่น และช่วยออกฤทธิ์ เช่น ตะไคร้ ขมิ้น มะกรูด สะเดา เป็นต้น

 กลไกการออกฤทธิ์
สารสังเคราะห์ไพรีทรอยด์ และสารสกัดธรรมชาติไพรีทริน ออกฤทธิ์ได้ดีในสัตว์จำพวกแมลง และไม่ค่อยมีผลต่อมนุษย์ และสัตว์ เพราะมีอัตราการซึมผ่านในระบบทางเดินอาหาร และผิวหนังน้อยมาก ซึ่งเมื่อเทียบกับแมลงจะออกฤทธิ์ซึมผ่านไคตินบริเวณผิวหนังของแมลงได้ดี

การออกฤทธิ์เมื่อเข้าสู่ผิวหนังของแมลง สารเหล่านี้จะจับกับไขมันในเซลประสาทของแมลง ยับยั้งการทำงานการส่งต่อกระแสประสาททำให้แมลงสั่น กระตุก เป็นอัมพาต และตายในที่สุด

ลักษณะการใช้งาน และข้อควรระวัง
1. ใช้สำหรับเฉพาะการจุดไฟเพื่อให้เกิดควัน
2. จุด และวางไว้บริเวณเหนือจุดที่ต้องการไล่ยุงในทิศเหนือลม
3. การจุดต้องใช้วัสดุโลหะรองทุกครั้ง เพื่อป้องกันไฟไหม้
4. ห้ามกินเด็ดขาด
5. ไม่ควรใช้ขณะที่มีเด็ก หญิงตั้งครรภ์หรือหญิงให้นมบุตรอาศัยอยู่
6. หากมีอาการแพ้ควันให้รีบดับ และเลิกใช้
7. ควรใช้ในสถานที่ที่มีการระบายอากาศได้ดี
8. ไม่ควรใช้ในบริเวณที่มีอาหารหรือขณะรับประทานอาหาร
9. ควรเก็บให้ห่างจากมือเด็ก
10. ล้างมือทุกครั้งที่มีการหยิบใช้