กรดซาลิซิลิก (salicylic acid)

51221

กรดซาลิซิลิก (salicylic acid) เป็นกรดอินทรีย์ที่เป็นอนุพันธ์ของสารฟีนอล สามารถผลิต และสังเคราะห์ได้จากธรรมชาติ และการสังเคราะห์ทางเคมี พบเป็นองค์ประกอบของพืชหลายชนิด เป็นสารที่นำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง อาทิ ใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอาง ใช้เคลือบรักษาผลิตภัณฑ์การเกษตร ใช้สำหรับการป้องกัน และกำจัดจุลินทรีย์ เป็นต้น

การค้นพบซาลิซาลิกเริ่มต้นที่ Leroux สามารถสกัด salicin จาก Willow bark ในปี ค.ศ. 1827 ต่อมาปี Piria สามารถสังเคราะห์กรดซาลิซิลิกได้จาก salicin เป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1838 และปี ค.ศ. 1844 Cahouse สามารถสังเคราะห์กรดซาลิซิลิกได้จาก Oil of gaulthuria มีลักษณะผงสีเหลืองมีสีชมพูปน ต่อมาปี ค.ศ. 1860 Kolbe และ Lauterma ได้สังเคราะห์กรดซาลิซิลิกได้จากสารฟีนอลมีลักษณะเป็นผลึกสีขาวหรือใสไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ซึ่งต่อมามีการขยายการผลิตมากขึ้นในระดับอุตสาหกรรม และมีใช้มากจนถึงปัจจุบัน

ซาลิซิลิก

คุณสมบัติเฉพาะ
ชื่อเคมี : Ortho Hydroxybenzoic acid และ Phenolic acid (2-Hydroxy benzoic acid)
สถานะ : ของแข็ง มีรูปร่างเป็นผงหรือผลึกไม่มีสี
สูตร : C6H4(OH)(COOH) หรือ C7H6O3
มวลโมเลกุล : 138.123 กรัม/โมล
จุดหลอมเหลว : 159 องศาเซลเซียส
จุดหลอมเหลว : 211 องศาเซลเซียส (20 มม. ปรอท)
ความหนาแน่น : 1.443 กรัม/ลบ.ซม.
จุดวาบไฟ : 157 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิที่ติดไฟได้เอง : 54 องศาเซลเซียส
ความสามารถการละลายน้ำ : 0.2 กรัม/ 100 มล. (20 องศาเซลเซียส)

สูตรซาลิซิลิก

การใช้ประโยชน์
1. อุตสาหกรรม
– ใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอางหลายชนิดที่นิยมมากในปัจจุบัน เป็นสารสำคัญสำหรับใช้ลอกผิว และผลัดเซลล์ผิว ซึ่งจะช่วยเร่งวงจรการผัดเซลล์ผิวทำให้สีผิวมีความสมํ่าเสมอ โดยเฉพาะบริเวณผิวที่หมองคล้ำจากแสงแดด ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดอาการเกิดสิว การอุดตนของสิว การอักเสบของสิว รวมถึงช่วยรักษา และลดอาการของโรคหน้าแดง
– ใช้เป็นส่วนผสมของของน้ำยาทำความสะอาดที่ใช้สำหรับร่างกาย และเป็นส่วนประกอบของเคมีภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อจุดประสงค์ในการต้าน และกำจัดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ
– ในช่วงแรกมีการใช้กรดซาลิซิลิกในอุตสาหกรรมอาหาร แต่ปัจจุบันประเทศไทย โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุขประกาศห้ามใช้ในปี พ.ศ. 2536 เพราะหากมีการสะสมในร่างกายในปริมาณมากจะมีผลต่อการเพิ่มความเป็นกรดของเลือด และสารละลายในร่างกายทำให้มีอาการมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน แต่ยังมีการตรวจพบการใช้ในอาหารจำพวกของหมักดองบ้าง เพราะสามารถยับยั้งการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ชนิดต่างๆได้ดี

2. การเกษตร
ใช้สำหรับผลผลิตทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อรักษาคุณภาพ และยืดอายุการเก็บผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยเฉพาะพืชผลไม้ต่างๆที่สุก และเน่าเร็ว ซึ่งจะช่วยลดกระบวนการหายใจของเซลล์ ลดกระบวนการผลิตเอทิลีนที่ทำให้สุกเร็ว คงความแน่นเนื้อ ป้องกันเชื้อรา และละความเสียหายจากความเย็น เป็นต้น ผลิตภัณฑ์การเกษตรที่มีการใช้กรดซาลิซิลิกเพื่อรักษาคุณภาพ เช่น สตอเบอรี่ กล้วย มะละกอ เป็นต้น

3. ทางการแพทย์
ในทางการแพทย์มีการใช้กรดซาลิซิลิกสำหรับเป็นยาทาภายนอกป้องกันเชื้อราบริเวณผิวหนัง และรักษาผิวหนังที่มีลักษณะแข็งหนาให้หลุดลอกออก ซึ่งอาจใช้ในรูปกรดซาลิซิลิกอย่างเดียวหรือผสมกับกรดเบนโซอิคในอัตรากรดซาลิซิลิกกับเบนโซอิค 2:1 ได้แก่ ส่วนผสมของกรดเบนโซอิค 12% กับกรดซาลิซิลิก 6% สำหรับรักษาเชื้อราที่ผิวหนัง และกรดซาลิซิลิก 2-4% ผสมกับผงทัลคัมเป็นแป้งฝุ่นโรยเท้ารักษาอาการเหงื่อที่เท้าออกมากกว่าปกติ ส่วนกรดซาลิซิลิก 10-20% ใช้สำหรับรักษาตาปลา และหูด

กลไกการออกฤทธิ์
การออกฤทธิ์สำหรับการลอกผลัดเซลล์ผิวเกิดจากสารซาลิซิลิกออกฤทธิ์ลดความเป็นกรด-ด่างของผิว ทำให้เกิดการบวมน้ำของเคราตินในชั้นผิวหนังเร่งการผัดผิวของชั้นถัดไป นอกจากนั้น กรดซาลิซิลิกยังออกฤทธิ์ให้สารละลายมีสภาพเป็นกรดช่วยต่อต้าน และยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย

การทำปฏิกิริยา
1. ฝุ่นขนาดเล็กของกรดซาลิซิลิกที่กระจายตัวในอากาศเมื่อสัมผัสกับความร้อน เปลวไฟ ประกายไฟจะเสี่ยงต่อการลุกไหม้ และระเบิดได้ง่าย
2. การสลายตัวเมื่อได้รับความร้อน และการเผาไหม้ทำให้เกิดไอของฟีนอลที่มีฤทธิ์เป็นกรดปานกลางสามารถทำปฏิกิริยากับด่าง และสารออกซิไดซ์อย่างรุนแรง

อันตรายต่อสุขภาพ
1. ระบบหายใจ : การสูดดมฝุ่นหรือไอระเหยจะทำให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุทางเดินหายใจ ไอ แน่นหน้าอก ปวดหัวศรีษะ
2. ทางผิวหนัง : หากสัมผัสทางผิวหนังในความเข้มข้นที่สูงจะทำให้ผิวหนังระคายเคือง แดง อักเสบ
3. สัมผัสกับตา : หากสัมผัสกับตาจะทำให้เยื่อบุตาระคายเคือง ตาแดง น้ำตาไหล
4. การกลืนกิน : การกลืนกินเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารจากกรดซาลิซิลิกบริสุทธิ์หรือการผสมในอาหารจะเกิดการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดทำให้เลือดมีภาวะความเป็นกรดสูงอันตรายต่อชีวิตได้

ข้อแนะนำ
1. เนื่องจากสารละลายมีสภาวะเป็นกรด ดังนั้น ผู้ใช้ควรสวมถุงมือยาง รองเท้าบูท ผ้าปิดจมูก แว่นตากันสารเคมี และสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด
2. ควรเก็บในภาชนะที่ทำจากแก้ว ไม่ควรใช้ภาชนะโลหะ ยาง พลาสติก เพราะจะเกิดการกัดกร่อน รวมถึงควรเก็บให้ห่างจากวัสดุเหล่านี้