สารส้มเหลว/สารส้มน้ำ

32577

สารส้มเหลว หรือ สารส้มน้ำ หมายถึง ผลิตภัณฑ์ของสารส้ม หรือ อลูมิเนียมซัลเฟต (Al(SO4)2.12H2O) ที่อยู่ในรูปของเหลวที่มีสารส้มละลายอยู่ในความเข้มข้นต่างๆเป็นผลิตภัณฑ์สารส้มชนิดที่มีการใช้มากในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในระบบบำบัดน้ำเสีย

ความเข้มข้นของสารส้มเหลวที่พบจำหน่ายมากในปัจจุบัน คือ สารส้มเหลว 8% (aluminium sulphate 8%) นอกจากนั้นยังมีความเข้มข้นอื่นๆ ตามความต้องการของลูกค้า การผลิตสารส้มเหลวผลิตได้จากการละลายสารส้มก้อนในน้ำสะอาดตามความเข้มข้นที่ต้องการในหน่วยร้อยละของน้ำหนัก มีบรรจุในรูปถังขนาดต่างๆ จนถึงบรรจุส่งด้วยรถบรรทุกสารเคมีโดยเฉพาะ

ความบริสุทธิ์ของสารส้ม
1. สารส้มในรูปสารประกอบของเกลือ เช่น เกลือโพแทส K2-SO4*Al(SO4)3*24H2O และเกลือแอมโมเนียม (NH4)2-SO4*Al(SO4)3*24H2O
2. สารส้มบริสุทธิ์ เป็นสารประกอบของสารส้มบริสุทธิ์อย่างเดียว คือ Al(SO4)2.12H2O

สารส้มเหลว

ลักษณะเฉพาะ
– ของเหลวใสไม่มีสี หรือมีสีเขียว สีเหลืองอ่อน ไม่มีกลิ่น
– ความถ่วงจำเพาะ 1.32
– ละลายน้ำได้ดี
– ความเป็นกรดด่าง 2.8-3 (สารละลาย 5%)
– ไม่ติดไฟ
– ไม่มีไอระเหย มีความเสถียรสูง

การเตรียมสารละลาย
สารส้มเหลว หรือ สารส้มน้ำ มีวิธีการผลิตที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งสารถทำได้ทั่วไปด้วยการละลายสารส้มก้อนในตัวทำละลาย คือ น้ำ และปรับความเข้มข้นด้วยการเพิ่มปริมาณสารส้มที่ต้องการละลาย ตัวอย่างเช่น สารส้มเหลวความเข้มข้น 10% สามารถเตรียมได้จากการใช้สารส้มก้อนน้ำหนัก 10 กรัม ละลายในน้ำปริมาณ 90 ซีซี หรือง่ายๆ คือใช้สารส้ม 100 กรัม หรือ 1ขีด ละลายในน้ำ 1 ลิตร แต่จะทำให้ได้ปริมาตรเป็น 1.1 ลิตร ทั้งนี้ น้ำที่ใช้ควรเป็นน้ำสะอาดที่หาได้ง่าย ไม่มีความกระด้าง เช่น น้ำฝน น้ำประปา หรือน้ำบาดาลที่มีความกระด้างน้อย

การนำมาใช้ประโยชน์
– สารส้มเหลวมีใช้มากในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะใช้สำหรับกระบวนการบำบัดน้ำเสีย และใช้มากในกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำของการผลิตน้ำประปา

– ภาคครัวเรือนสามารถหาชื้อได้ที่ร้านเคมีภัณฑ์ทั่วไปหรือเตรียมใช้เองด้วยวิธีข้างต้น เพื่อความสะดวกในการใช้งานที่ไม่ต้องใช้สารส้มก้อน เช่น ใช้ตกตะกอนน้ำบาดาลในบ่อพัก ใช้ทำความสะอาดพืชผักทางการเกษตร ใช้สำหรับฆ่าเชื้อบริเวณผิวหนัง เป็นต้น

สารส้มเหลวที่นำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม และการผลิตน้ำประปามีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้สารแขวนลอยขนาดเล็กรวมตัวเป็นอนุภาคตกตะกอนทำให้ปริมาณสารแขวนลอยลดน้อยลงก่อนที่จะผ่านเข้าสู่กระบวนการต่อไป นอกจากการตกตะกอนสารแขวนลอยแล้ว สารส้มยังสามารถนำมาใช้ในการตกตะกอนของสารโลหะหนักได้อีก

การตกตะกอนในขั้นตอนการผลิตน้ำประปาจะเกิดใน 2 ขั้น คือ
กระบวนการกวนเร็ว ด้วยการเติมสารส้มเหลวเข้าในถังน้ำดิบที่มีการกวนเร็ว สารส้มจะแตกตัวให้ประจุบวก และลบ คือ

Al2(SO4)3 = (2Al)+3 + (3SO4)-3

Al+3  +  H2O = (Al(OH)2)+ +  H+

ประจุทั้งสองจะเข้าทำลายเสถียรภาพของสารแขวนลอยภายใต้ความปั่นป่วนอย่างรุนแรงทำให้สารส้มกระจายตัวเข้าแลกเปลี่ยนประจุกับสารแขวนลอยได้อย่างทั่วถึง

กระบวนการกวนช้า เมื่อสารส้มถูกเติมในถังกวนเร็วจนกระจายตัวอย่างทั่วถึง น้ำดิบจะเข้าสู่ถังพักเพื่อชลอความเร็วทำให้ตะกอนเข้าจับตัวกันกลายเป็นก้อนตะกอนใหญ่ตกตะกอนในที่สุด

ส่วนกระบวนการตกตะกอนสารแขวนลอย และโลหะหนักสำหรับการบำบัดน้ำเสียของภาคอุตสาหกรรมด้วยสารส้มจะใช้หลักการเดียวกันกับการตกตะกอนในการผลิตน้ำประปา

ข้อมูลความปลอดภัย
– กรณีสัมผัสทางผิวหนังหรือตาสารส้มจะออกฤทธิ์เป็นกรดทำให้เกิดอาการระคายเคือง และหากมีความเข้มข้นสูง และสัมผัสเป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการผื่นแดง อักเสบบริเวณที่สัมผัสได้
– การดื่มกินมีผลต่อการอักเสบของเนื้อเยื่อบุผิวในระบบทางเดินอาหาร
– ขณะปฏิบัติงานหรือใช้งานสารส้มควรสวมถุงมือ รองเท้าบูท แว่นตากันสารเคมี ผ้าปิดจมูก รวมถึงสวมเสื้อผ้าให้มิดชิิดทุกครั้ง
– การจัดเก็บสารส้ม ไม่ควรจัดเก็บในถังโลหะ ควรจัดเก็บในถังพลาสติกแทน เนื่องจากสารส้มเหลวมีฤทธิ์เป็นกรดสามารถกัดกร่อนโลหะได้
– บริเวณจัดเก็บสารเคมีหรือพื้นที่ปฏิบัติงานควรมีที่อาบน้ำ และอ่างล้างหน้า สำหรับทำความสะอาดร่างกายกรณีเกิดสัมผัส