ไฟแช็ค/ไฟแช็คแก๊ส และประโยชน์ไฟแช็ค

33453

ไฟแช็ค หรือ ไฟแช็คแก๊ส (GAS LIGHTER) จัดเป็นอุปกรณ์สำหรับจุดไฟด้วยมือที่มีแก๊สเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งมีการผลิต และนิยมใช้มากที่สุดในปัจจุบัน ทั้งการจุดบุหรี่ การจุดไฟหุงหาอาหาร และการก่อกองไฟ เป็นต้น

ไฟแช็ค หรือ ไฟแช็คแก๊ส ถูกผลิตมาใช้สำหรับการก่อติดไฟ ซึ่งมีความสะดวกกว่าการจุดติดไฟด้วยไม้ขีดไฟที่มีการใช้มายาวนานหลายร้อยปี นอกจากนั้น ยังสะดวกในการพกพา มีความคงทน ใช้งานได้นาน และไม่เสียหายหรือเสื่อมหากสัมผัสน้ำ ต่างกับไม้ขีดไฟที่เสื่อมหรือใช้งานไม่ได้เมื่อสัมผัสน้ำ

ชนิดไฟแช็ค
ชนิดไฟแช็คตามลักษณะบรรจุแก๊ส
1. ไฟแช็คบรรจุแก๊สได้ครั้งเดียว (disposable lighter)
ไฟแช็คบรรจุแก๊สได้ครั้งเดียว เป็นไฟแช็คที่เมื่อใช้แก๊สหมดแล้ว ใช้หมดแล้วทิ้งไป ไม่สามารถบรรจุแก๊สให้ใช้ใหม่ได้ เป็นไฟเช็คที่ผลิตมากที่สุดในปัจจุบัน
2. ไฟแช็คบรรจุแก๊สได้หลายครั้ง (refillable lighter)
ไฟแช็คบรรจุแก๊สได้หลายครั้ง เป็นไฟแช็คที่สามารถบรรจุแก๊สเข้าไปใหม่ได้หลังจากใช้แก๊สหมดแล้ว ไฟแช็คชนิดนี้ ไม่มีการผลิตมาก เพราะผู้ใช้ไม่สามารถบรรจุแก๊สเองได้

ชนิดไฟแช็คตามความสูงเปลวไฟ
1. ไฟแช็คปรับความสูงเปลวไฟได้
ไฟแช็คปรับความสูงเปลวไฟได้ เป็นไฟแช็คที่ผลิต และนิยมใช้มากที่สุด ซึ่งจะมีจุดปรับความแรงแก๊สเพื่อให้เปลวไฟพุ่งสูงได้บริเวณด้านหน้าของไฟแช็ค ดังแสดงในภาพประกอบของไฟแช็คแบบจุดด้วยวงล้อตะไบกับหินขีดไฟ
2. ไฟแช็คปรับความสูงเปลวไฟไม่ได้
ไฟแช็คปรับความสูงเปลวไฟไม่ได้ เป็นไฟแช็คที่มีการผลิต และใช้น้อย พบจำหน่ายตามร้านสะดวกซื้อ อาทิ 7-eleven ซึ่งมีราคาสูงกว่าไฟแช็คแบบปรับเปลวไฟทั่วไป ดังแสดงในภาพประกอบของไฟแช็คระบบแม็กเนโต

ชนิดไฟแช็คตามแบบการจุดประกายไฟ
1. ไฟแช็คแบบจุดด้วยระบบแม็กเนโต
ไฟแช็คชนิดนี้ เป็นไฟแช็คมีที่ระบบจุดติดด้วยถ่านหรือแบตเตอรี่ สามารถใช้งานง่าย จุดติดง่ายด้วยการกดเพียงครั้งเดียว แต่จะมีราคาแพงกว่าแบบหินขีดไฟ

ไฟแช็คแบบจุดด้วยระบบแม็กเนโต

2. ไฟแช็คแบบจุดด้วยวงล้อตะไบกับหินขีดไฟ
ไฟแช็คชนิดนี้ จะจุดติดไฟด้วยการอาศัยประกายไฟจากหินขีดไฟที่เกิดจากการขูดของวงล้อตะไบ เป็นไฟแช็คที่ผลิต และนิยมใช้มากที่สุด อาจจุดติดเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง และมีราคาถูกกว่าแบบระบบแม็กเนโต แต่มีข้อเสียที่ชำรุดง่ายเมื่อถูกความร้อน และหากหินหมดจะใช้งานไม่ได้ จะต้องเปลี่ยนหินใหม่เท่านั้น

ไฟแช็คแบบจุดด้วยวงล้อตะไบกับหินขีดไฟ

ไฟแช็คในสมัยก่อนจะเป็นแบบล้อตะไบหมุนกับหินขีดไฟ โดยมีชุดอุปกรณ์เป็นโลหะทั้งหมด และใช้เชื้อเพลิงเป็นน้ำมันก๊าด หรือ น้ำมันรอนสัน โดยมีนุ่นหรือใยสังเคาะห์ใช้เป็นใส้สำหรับอุ้มซับน้ำมัน และช่วยให้จุดติดไฟได้นาน หรืออาจใช้แอลกอฮอล์ ซึ่งไม่ต้องมีไส้ แต่ปัจจุบันถูกเปลี่ยนมาใช้แก๊สแทน โดยแก๊สที่ใช้มาก คือ แก๊สบิวเทน นอกจากนั้น ยังมีไฟแช็คชนิดอื่นอีก อาทิ ไฟแช็คไฟฟ้า ซึ่งใช้แบตเตอรี่ให้พลังงาน และมีขดลวดทำหน้าที่แปลงเป็นความร้อน แต่ไม่เป็นที่นิยมเท่าไฟแช็คแก๊ส เพราะมีราคาแพงกว่า

ไฟแช็คไฟฟ้า

ลักษณะไฟแช็คที่ดี
1. อุปกรณ์ไฟแช็คทุกอย่างจะต้องไม่มีขอบแหลมคมที่อาจทำให้เกิดบาดแผลแก่ผู้ใช้

2. ไฟแช็คชนิดปรับความแรงแก๊สหรือปรับความสูงเปลวไฟได้ ต้องมีอุปกรณ์หรือจุดปรับที่ควบคุม และหมุนปรับได้ง่าย

3. การปรับความสูงเปลวไฟ
3.1 อุปกรณ์ปรับแบบโรตารี
– หากอุปกรณ์อยู่ด้านบน เมื่อปรับหมุนไปด้านซ้าย ความสูงของเปลวไฟจะต้องลดลง หากปรับหมุนไปด้านขวา ความสูงของเปลวไฟจะต้องสูงขึ้น
– หากอุปกรณ์อยู่ด้านล่าง เมื่อหมุนปรับตามเข็มนาฬิกา ความสูงของเปลวไฟจะต้องลดลง
3.2 อุปกรณ์ปรับที่อยู่ในแนวขนานหรือปรับขึ้นลงในแนวขนานกับเปลวไฟ เมื่อปรับลง ความสูงของเปลวไฟจะต้องลดลง หากปรับขึ้น ความสูงของเปลวไฟจะต้องสูงขึ้น หรือจะต้องมีทิศทางที่สัมพันธ์กันทั้งอุปกรณ์ปรับ และความสูงของเปลวไฟ
3.3 แรงสำหรับปรับหมุนเปลวไฟ ต้องจะใช้ไม่น้อยกว่า 1 นิวตัน (เพื่อป้องกันการเคลื่อนจากแรงอื่น)

4. การทำให้เกิดเปลวไฟ
ไฟแช็คทั้งชนิดแม็กเนโต และแบบหมุนวงล้อกับหินขีดไฟ จะต้องไม่ทำงานที่แรงน้อยกว่า 15 นิวตัน (เพื่อป้องกันการจุดติดไฟจากแรงอื่น)

5. การสำลัก และการดับของเปลวไฟ
หลังการจุดเปลวไฟจะต้องจุดค้างไว้ได้นานตั้งแต่ 5 วินาที ขึ้น โดยเปลวไฟจะต้องไม่ลดวูบหรือกระชาก และอุปกรณ์ที่เป็นโลหะครอบจะต้องไม่ร้อนจนจับไม่ได้ และเมื่อปล่อยอุปกรณ์ปล่อยแก๊ส เปลวไฟจะต้องดับภายใน 2 วินาที

6. ความสูงเปลวไฟ
6.1 ไฟแช็คชนิดปรับความสูงเปลวไฟได้
– ความสูงเปลวไฟที่ยังไม่ปรับอุปกรณ์ต้องอยู่ในช่วง 10-50 มิลลิเมตร ต้องไม่ต่ำหรือสูงกว่านี้
– ความสูงเปลวไฟหลังปรับอุปกรณ์ จะต้องไม่เกิน 100 มิลลิเมตร
6.2 ไฟแช็คชนิดที่ปรับความสูงเปลวไฟไม่ได้ จะต้องอยู่ในช่วง 10-50 มิลลิเมตร ต้องไม่ต่ำหรือสูงกว่านี้

7. การทนการตกกระแทก
อุปกรณ์ไฟแช็ค โดยเฉพาะหลอดบรรจุแก๊สจะต้องมีความคงทน ไม่แตกร้าวหรือเสียหายง่าย และจะต้องไม่มีก๊าซรั่วซึมเกิน 15 มิลลิกรัม/นาที

8. การทนความร้อน
– อุปกรณ์ไฟแช็ค โดยเฉพาะชุดบรรจุแก๊สจะต้องทนความร้อนที่อุณหภูมิ 65 ºC ± 2 ºC ได้นานไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง
– หลังจากจุดไฟในแนวดิ่งค้างไว้นาน 2 นาที อุปกรณ์ไฟแช็คจะต้องไม่เสียหายจากความร้อน และลิ้นเปิดแก๊สจะจะไม่ค้าง

9. ต้องไม่บรรจุแก๊สเกินกว่าร้อยละ 85 ของปริมาตรทั้งหมด และจะต้องมีน้ำหนักรวมไม่เกินกว่าตามที่ระบุไว้

ทั้งนี้ ไฟแช็คทุกยี่ห้อจะต้องมีข้อความต่างแสดงหรือระบุไว้ให้ชัดเจน ได้แก่
1. วันเดือนปีที่ผลิต
2. รหัสหรือรุ่นที่ผลิต
3. คำเตือนในการเก็บรักษา และการทำลายหลังการใช้ อาทิ ห้ามเก็บในที่ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า
50 ºC และห้ามเผาทำลาย เป็นต้น
4. คำเตือนที่ระบุไว้ว่า “ห้ามจุดไฟนานเกิน 2 นาที”
5. น้ำหนักหรือปริมาตรก๊าซที่บรรจุ
6. ชื่อผู้ผลิต และสถานที่ผลิต
7. เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้
8. ประเทศผู้ผลิต

เพิ่มเติมจาก [1]

ประโยชน์ไฟแช็ค
ไฟแช็คมีประโยชน์หลักที่สำคัญ คือ เป็นอุปกรณ์สำหรับจุดติดให้เกิดเปลวไฟเพื่อใช้ ก่อกองไฟ การจุดบุหรี่ และการเผาไหม้วัสดุต่างๆ ซึ่งทำให้สะดวก และง่ายสำหรับการก่อไฟหรือการจุดติดไฟ

ข้อควรระวังการใช้ไฟแช็ค
1. ไม่ควรปรับแต่งไฟแช็ค อาทิ ปรับเร่งแก๊สมากทำให้เปลวไฟให้สูง และการนำครอบเปลวไฟออก เป็นต้น
2. ไม่จุดเปลวไฟแช่ไว้นาน เพราะความร้อนจะทำให้อุปกรณ์ไหม้หรือละลายได้
3. ไม่ควรวางไฟแช็คไว้ในที่แสงแดดส่องถึง หรือวางไว้ในที่อุณหภูมิสูง เช่น ข้างเตาไฟ รถยนต์ที่จอดไว้กลางแจ้ง เป็นต้น
4. ไม่ควรให้ไฟแช็คสัมผัสน้ำ โดยเฉพาะหินขีดไฟ เพราะเมื่อหินขีดไฟเปียกจะจุดติดยาก ต้องเป่าหรือตากแดดหรืออิงไฟให้แห้งก่อน จึงจุดติดได้

เอกสารอ้างอิง
[1] มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไฟแช็กก๊าซ : มาตรฐานเลขที่ มอก. 879-2553, สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, กระทรวงอุตสาหกรรม.