โบท็อกซ์

4849

โบท็อกซ์ (Botox®) เป็นชื่อทางการค้าของสาร โบทูลินัม ท็อกซิน เอ (Botulinum toxin A) ที่ใช้เป็นยาชนิดหนึ่งในทางการแพทย์ เป็นโปรตีนที่สกัดได้จากแบคทีเรียแกรมบวกชื่อ Botulinum clostridium นำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์หลายด้าน โดยเฉพาะในด้านการเสริมความงาม ที่ใช้ลบเลือนริ้วรอย รอยเหี่ยวย่น ทำให้ใบหน้าเต่งตึง และดูอ่อนเยาว์ นิยมนำมาใช้ด้วยการฉีดซึ่งต้องอาศัยแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี เช่น แพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลปะ และแพทย์ศัลยกรรมพลาสติก

โบท็อกซ์ (Botox®) เป็นชื่อที่ถูกตั้งขึ้นโดยบริษัท Allergan Inc. เพื่อใช้เรียก และจดลิขสิทธิ์ของสาร Botulinum toxin A ปัจจุบันมี Botulinum toxin A มีการสกัด และทำเป็นผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายหลายยี่ห้อ เช่น Vistabel®, Dysport®, Xeomin® เป็นต้น

ความเป็นมาของโบท็อกซ์
ในปี ค.ศ. 1949 มีการศึกษาคุณสมบัติของ Botulinum toxin A พบว่า เป็นสารที่สามารถยับยั้งการหลั่งของสารสื่อประสาท ทำให้กล้ามเนื้อหยุดการทำงานชั่วคราว ในปี ค.ศ. 1980 จักษุแพทย์ชื่อ นายแพทย์ อลัน สก็อต ได้ทดลองใช้ Botulinum toxin A รักษาอาการตาเหล่ และต่อมามีการใช้รักษาอาการกล้ามเนื้อตาหดเกร็งผิดปกติ เช่น หนังตากระตุก เปลือกตากระตุก เปลือกตาปิดไม่สนิท  และในปี ค.ศ. 1987 จีนน์ คารูเธอร์ (Jean Caruthers) และ อลาสแตร์ คารูเธอร์ (Alastair Caruthers) ได้ทดลองใช้รักษาอาการกล้ามเนื้อตาหดเกร็งผิดปกติ แล้วพบว่า มีผลทำให้รอยย่นที่หัวคิ้วของคนไข้หายได้ จากนั้นจึงเริ่มนิยมนำ Botulinum toxin A มาใช้สำหรับรักษารอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

โบท็อกซ์

ปี ค.ศ. 1989 สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา ประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศอนุญาตให้ใช้ Botulinum toxin A ในผู้ป่วยตาเหล่ และผู้ที่มีอาการผิดปกติของการควบคุมกล้ามเนื้อตา สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และขึ้นทะเบียนเป็นสารสำหรับใช้แก้ไขรอยย่นระหว่างคิ้ว ในปี ค.ศ. 2002 และในปี ค.ศ. 2004 ประกาศขึ้นทะเบียน Botox® เป็นสารสำหรับรักษาอาการเหงื่อออกใต้วงแขนผิดปกติ

บริษัท Allergan Inc.ได้ลิขสิทธิ์ในการใช้ Botulinum toxin A เป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อการค้าว่า Botox® ค.ศ. 2000 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ใช้ Botox® ในการรักษาอาการทรงตัวของศีรษะที่ผิดปกติ และการปวดกล้ามเนื้อคอในผู้ใหญ่

การทำงานของ Botulinum Toxin A
โบทูลินัม ท็อกซิน เอ จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้เกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ โดยเข้ายับยั้งการปล่อยตัวสื่อสารจากปลายเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่สั่งงานไปยังกล้ามเนื้อ เมื่อไม่ได้รับการสั่งการให้ทำงาน กล้ามเนื้อจึงหยุดการทำงานชั่วคราว คือ มีอาการเหมือนเป็นอัมพาต และอ่อนแรงชั่วคราว โดยสารโบทูลินัม ท็อกซิน เอ จะค่อยๆสลายไปได้เองตามธรรมชาติ เมื่อฉีดเข้าที่ใบหน้าบริเวณรอยเหี่ยวย่นจะทำให้รอยเหี่ยวย่นนี้ค่อยๆจางหาย อันเป็นผลมาจากกล้ามเนื้อบริเวณนั้นมีการคลายตัวนั่นเอง

ในปี ค.ศ. 2004 เจฟฟรี่ซู โดเวอร์ และอาร์น ได้ศึกษาฉีดสารโบทูลินัม ท็อกซิน เอ รักษารอยเหี่ยวย่นด้วยสารปริมาณเท่ากัน แต่ใช้ปริมาณน้ำเกลือเจือจางที่ต่างกัน พบว่า อาสาสมัคร 9 ใน 10 ราย ที่ใช้อัตราการเจือจางที่มากกว่ามีการจางหายของรอยย่นที่มากกว่ากลุ่มคนที่ใช้อัตราการเจือจางน้อยกว่า และพบว่า ลักษณะการจางหายของรอยย่นจะเกิดในลักษณะวงรี จึงสรุปผลว่า การกระจายตัวของยา และผลการรักษาจะเพิ่มขึ้นเมื่อใช้ปริมาณน้ำเกลือเจือจางที่เพิ่มขึ้นที่ความเข้มข้นของตัวยาน้อยกว่าหนึ่งหน่วยปริมาตร

สอดคล้องกับการทดลองของคิม และคณะ (2003) ที่ทดลองใช้สารโบทูลินัม ท็อกซิน เอ ด้วยการเจือจางที่ต่างกัน พบว่า การหยุดการทำงานของกล้ามเนื้อจะเพิ่มขึ้นเมื่อใช้อัตราการเจือจางที่เพิ่มขึ้น จึงสรุปได้ว่าประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ของโบทูลินัม ท็อกซิน เอ จะขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำเกลือที่ใช้เจือจาง แต่ปริมาณการเจือจางน้อยสามารถควบคุมการกระจายตัวของยาได้ดีกว่าการเจือจางมาก

ประโยชน์ของโบท็อกซ์
การนำโบท็อกซ์มาใช้ประโยชน์ในช่วงแรกในด้านความสวยความงามจะใช้เพื่อแก้ไขริ้วรอยระหว่างคิ้วของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงปานกลางถึงมากให้ดูดีขึ้นได้ชั่วคราว โดยองค์การอาหาร และยาของสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ใช้กับผู้ที่มีอายุไม่เกิน 65 ปี เท่านั้น เพราะโบทูลินัม ท็อกซิน เอ จะมีประสิทธิภาพการลดริ้วรอยมากในผู้ที่มีอายุน้อย ซึ่งใช้ได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป จนถึง 65 ปี และเพราะยังไม่มีผลทดสอบความปลอดภัยที่แน่ชัดต่อการฉีดโบทูลินัม ท็อกซิน เอ ในผู้ที่สูงอายุกว่านี้

ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการใช้โบทูลินัม ท็อกซิน เอ จึงแตกต่างจากการฉีด คอลลาเจนหรือสารไฮยาลูโรนิก แอซิด ที่เป็นสารเติมเต็มผิวทำให้ใบหน้าดูเต่งตึง อันมีสาเหตุมาจากเนื้อเยื่อผิวถูกทำลาย

ข้อบ่งใช้ที่ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหาร และยาประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แก่
– อาการ strabismus (ตาเข)
– อาการ blepharospasm (อาการที่ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อตาได้)
– อาการ cervical dystonia (อาการทรงตัวที่ผิดปกติของศีรษะและการปวดกล้ามเนื้อคอ)
– อาการ hyperhidrosis (อาการเหงื่อออกใต้วงแขนมากผิดปกติ)
– การฉีดเพื่อลดริ้วรอยบริเวณรอบปากบน และล่าง มุมปาก คาง คอ ร่องแก้ม และการปรับแต่งจมูก

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาใช้สารโบท็อกซ์ที่ให้ผลน่าพอใจต่อการรักษาโรคต่างๆ เช่น อาการปวดเส้นประสาท ปวดหัวไมเกรน และโรคอ้วน เป็นต้น

การฉีดโบท็อกซ์

ขนาดยาที่ปลอดภัย
ปริมาณโบทูลินัม ท็อกซิน เอ ที่ปลอดภัยในการใช้ได้ศึกษา พบว่า มีค่า LD50 ในหนูเท่ากับ 20 กรัม ค่า LD50 ในลิงเท่ากับ 3.9 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ส่วนค่า LD50 ในมนุษย์ พบว่า ในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัว 70 กิโลกรัม มีค่า LD50 เท่ากับ 3,000 ยูนิต ซึ่งฉีดได้ครั้งละประมาณ 60-400 ยูนิต และแนะนำไม่เกิน 360 ยูนิต ในแต่ละครั้ง ในระยะเวลา 12 สัปดาห์

ผลข้างเคียง
อาการข้างเคียงที่พบสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
– สภาพภูมิไวต่อสารของผู้ป่วย
– การใช้สารโบทูลินัม ท็อกซิน เอ ที่ติดเชื้อ และไม่ได้มาตรฐาน
– การใช้สารโบทูลินัม ท็อกซิน เอ ของปลอม หรือมีการปลอมปนของสารอื่น
– ประสบประการณ์ และความชำนาญของแพทย์ รวมถึงความพร้อมด้านอุปกรณ์

อาการข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ อาการปวดศีรษะ ปวดใบหน้า ปวดบริเวณที่ฉีด แดงตรงบริเวณที่ฉีด หนังตาตก ความรู้สึกเหมือนเป็นหวัด กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถหายได้เอง แต่ในบางรายอาจเป็นนาน 2-3 เดือน นอกจากนั้น ความชำนาญ และประสบประการณ์ของแพทย์ยังมีผลต่อลักษณะผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นด้วย

ผลข้างเคียงโบท็อกซ์

การระคายเคืองบริเวณที่ฉีด อาจเกิดตุ่มแดงที่หายได้เองภายใน 2 ชั่วโมง หรือจุดซ้ำแดงที่หายได้เองภายใน 7 วัน หรือตุ่มแดงหรือจุดซ้ำแดงมีอาการอักเสบ และติดเชื้อทำให้บวมแดง กลายเป็นแผล และมีหนอง

ทั้งนี้ การฉีดสารโบท็อกซ์ในปัจจุบันยังคงเป็นวิธีการหนึ่งของการแก้ปัญหาเรื่องริ้วรอย และช่วยให้ใบหน้าเต่งตึง แต่ผู้ใช้บริการควรพิจารณาถึงผลข้างเคียงที่ และประสิทธิภาพเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีอื่นๆ แต่หากต้องการใช้บริการฉีดสารก็ควรได้รับการปรึกษา และปฏิบัติโดยแพทย์ผู้มีความรู้ และชำนาญการโดยเฉพาะ

ค่าใช้จ่ายในการักษาแต่ละครั้งจะขึ้นกับขนาดบริเวณพื้นที่รักษา และปริมาณยาที่ใช้ เพราะแต่ละคนจะตอบสนองต่อยาแตกต่างกันไป โดยพบว่า การฉีด 1 ครั้ง จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 4,500 ถึง 12,000 บาท แต่เนื่องจากการรักษาจะไม่ถาวร ซึ่งผลการักษาจะอยู่ได้ประมาณ 120 วัน จนถึง 1 ปี จึงจำเป็นต้องฉีดซ้ำอีกเพื่อให้คงนานมากขึ้น ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายตามมาด้วย การฉีดแต่ละครั้งแนะนำไม่ควรฉีดบ่อยเกิน 1 ครั้ง ต่อ 3 เดือน และแต่ละครั้งควรฉีดในปริมาณน้อยที่สุดเท่าที่จะจะทำให้เห็นผลได้