โทลูอีน (Toluene)/ฟีนิลมีเทน

25433

โทลูอีน (Toluene) หรือ ฟีนิลมีเทน เป็นสารตัวทำละลายอินทรีย์ที่สำคัญในกลุ่มของสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่ไม่มีกลุ่มฮาโลจีเนตเต็ต มีโครงสร้างเหมือนกับเบนซีน ใช้มากในอุตสาหกรรมต่างๆสำหรับเป็นตัวทำละลาย และเป็นสารตั้งต้นสำหรับการผลิตสารชนิดอื่นๆ

คุณสมบัติเฉพาะ
ชื่อทางเคมี : Methyl-Benzene
ชื่ออื่นๆ : Toluol, Methylbenzol, Monomethyl benzene, Methacide
สูตรทางเคมี : C7H8
มวลโมเลกุล : 92.13
สถานะ : ของเหลวใส ไม่มีสี มีกลิ่นฉุนเล็กน้อย ค้ลายกลิ่นเบนซีน
จุดเดือด : 110.6 องศาเซลเซียส
จุดหลอมเหลว : -95 องศาเซลเซียส
จุดวาบไฟ : 6 องศาเซลเซียส
ลุกติดไฟได้เอง : 535 องศาเซลเซียส
ความดันไอ : 22 มิลลิเมตรปรอท (20 องศาเซลเซียส)
ความหนาแน่น : 0.8669 (กรัม/มล. ที่ 20 องศาเซลเซียส)
ความถ่วงจำเพาะ : 0.8623 (ที่ 20 องศาเซลเซียส)
ค่าคงที่เฮนรี่ : 6.74 x 10-3 ลบ.ม.-บรรยากาศ (25 องศาเซลเซียส)
การละลายน้ำ : ละลายน้ำได้น้อยมาก ละลายในเบนซีน แอลกอฮอล์ คลอโรฟอร์ม อะซิโตน และอีเทอร์ เป็นต้น

โทลูอีน

สูตรโทลูอีน

การผลิต
ในสมัยแรกๆที่มีการผลิตโทลูอีนจะได้จากผลพลอยได้ของอุตสาหกรรมถ่านหิน แต่หลังจากสมัยสงครามโลกครั้งที่สองได้มีการผลิตโทลูอีนจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมมากขึ้น ซึ่งทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์โทลูอีนส่วนมากจะมาจากการผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และมีบางส่วนที่ได้จากกระบวนการอื่น ซึ่งแบ่งการผลิตโทลูอีนออกเป็น 3 ทาง คือ
– ผลิตจากกระบวนการ catalytic reforming ในการกลั่นปิโตรเลียม
– จากกระบวนการ Pyrolysis gassoline ในกระบวนการผลิตเอทิลีน และโพรไพลีน
– จากผลพลอยได้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ

โทลูอีนที่มีใช้ในประเทศไทยส่วนมากนำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน สหรัฐอเมริกา เยอรมัน อิตาลี เป็นต้น

ประโยชน์
1. กระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่
– ใช้เป็นส่วนผสมของยามะตอย
– ใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมสีพ่นรถยนต์ สีทาบ้าน สีสเปรย์ สีย้อม น้ำมันขัดเงา เรซิน แลกเกอร์ วานิช กาว ยาง พลาสติก พรมน้ำมัน และการทำเครื่องเรือน
– ใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมเคมีหลายชนิด เช่น ผลิตกรดเบนโซอิค ยารักษาโรค ซัคคาริน เบนซีน ฟีนอล น้ำหอม เครื่องสำอาง ยาฆ่าแมลง และวัตถุระเบิด
– ใช้ในอุตสาหกรรมฟอกย้อม หนังเทียม การเคลือบกระดาษ ส่วนผสมยางมะตอย
– ใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมหรืองานพิมพ์ภาพสี

2. เชื้อเพลิง โดยใช้เป็นส่วนผสมของน้ำมันเชื้อเพลิงต่างๆ ในรูป mixtured from
3. ห้องปฏิบัติการ มักใช้โทลูอีนสำหรับการสกัดสารอินทรีย์ในตัวอย่างพืชหรือสัตว์
4. ประโยชน์ด้านอื่น เช่น ใช้เป็นส่วนผสมในสารทำความสะอาด ใช้ล้างขจัดคราบสี

ข้อมูลความปลอดภัย และข้อแนะนำ
ระดับความเป็นอันตราย
– โทลูอีนจัดเป็นสารอันตรายประเภทที่3 ตามประกาศ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย ปี 2535
– ค่า LC50 เท่ากับ 5320 มก./ลบ.ม. (ในหนู)
– ค่า LD50 เท่ากับ 5000 มก./กก. (ในหนู)
– ค่า OSHA-PEL เท่ากับ 200 ppm

ระดับความเป็นอันตรายในมนุษย์
– ความเข้มข้น 50-100 ppm จะไม่สังเกตเห็นความผิดปกติหลังการสัมผัส แต่ในบางรายอาจเกิดอาการร่างกายเหนื่อยล้า อ่อนเพลียได้ง่าย
– ความเข้มข้น 200 ppm ในระยะเวลา 8 ซั่วโมง เกิดอาการเหนื่อยล้า และความคิดสับสน
– ความเข้มข้น 300 ppm ในระยะเวลา 8 ซั่วโมง เกิดอาการเหนื่อยล้า เกิดการชาที่ผิวหนัง นอนไม่หลับ กระวนกระวาย
– ความเข้มข้น 400 ppm ในระยะเวลา 8 ซั่วโมง เกิดอาการเช่นเดียวกับความเข้มข้น 300 ppm แต่อาการจะแสดงนานขึ้น
– ความเข้มข้น 600 ppm ในระยะเวลา 3 ซั่วโมง เกิดอาการเช่นเดียวกับความเข้มข้น 300 ppm ระยะแสดงอาการนานขึ้น จิตใจฟุ้งซ่าน สับสน
– ความเข้มข้น 800 ppm ในระยะอันสั้น มีอาการมัึนงง สับสน อาการเหนื่อยล้ามาก และแสดงอาการนาน เวียนศรีษะ คลื่นเหียนอาเจียน บางรายอาจหมดสติ
– ความเข้มข้นมากกว่า 800 ppm ในระยะอันสั้น เกิดอาการเช่นเดียวกับความเข้มข้น 800 ppm บางรายอาจเกิดอาการโลหิตจาง และตับโต

การเกิดอัคคีภัย
โทลูอีน จัดเป็นสารไวไฟ มีจุดวาบไฟที่ต่ำที่ 6 องศาเซลเซียส และลุกติดไฟได้เองที่ 535 องศาเซลเซียส จึงมีโอกาสติดไฟ และระเบิดได้ง่ายหากสัมผัสกับความร้อน และเปลวไฟ

อันตรายต่อสุขภาพ
1. ระบบหายใจ : การสูดดมหรือหายใจเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจจะทำให้รู้สึกมนงง มีอาการประสาทหลอน เมื่อสูดดมมากจะทำลายระบบประสาท และสมอง
2. ทางผิวหนัง : เมื่อสัมผัสกับหนังจะทำให้ผิวหนังแดง อักเสบ มีอาการปวดแสบ
3. สัมผัสกับตา : เมื่อสัมผัสกับตาจะทำให้ตาระคายเคือง มีอาการตาแดง และปวดตา
4. การกลืนกิน : จะทำให้รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มีอาการมึนงง
5. ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ที่อยู่ใกล้เคียงขณะปฏิบัติงาน ควรสวมถุงมือยาง รองเท้าบูท ผ้าปิดจมูก แว่นตาป้องกันสารเคมี และสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดทุกครั้ง

การปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม
แหล่งการปลดปล่อยสารโทลูอีนสู่สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเกิดจากกิจกรรมต่างของมนุษย์ ได้แก่
– การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากเครื่องยนต์ต่างๆ เช่น รถยนต์ เรือ เครื่องบิน ที่ใช้เชื้อเพลิงที่มีส่วนประกอบของสารโทลูอีน
– การระเหยโดยตรงจากแหล่งจัดเก็บ และกิจกรรมการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้สารโทลูอีน

การเก็บรักษา
– ควรเก็บในภาชนะปิดสนิท จัดเก็บในบริเวณที่แห้ง เย็น มีการระบายอากาศที่ดี
– ควรเก็บในภาชนะที่ทำจากแก้ว ห้ามใช้ภาชนะที่ทำด้วยโลหะ ใยสังเคราะห์ และพลาสติกสำหรับเก็บรักษา
– ควรเก็บให้ห่างจากแหล่งความร้อน แสงแดด เปลวไฟ
–  สถานที่เก็บควรถูกต้องตามกฎหมายที่กรมโรงงานกำหนดในเรื่องการจัดเก็บวัตถุ อันตราย มีป้ายเตือนอันตราย ป้ายเตือนให้สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ป้ายห้ามสูบบุหรี่ ระยะห่างจากแหล่งความร้อน แหล่งเชื้อเพลิง อาคารสามารถป้องกันประกายไฟ เป็นต้น