แมกนีเซียมออกไซด์ (MgO) และประโยชน์แมกนีเซียมออกไซด์

37715

แมกนีเซียมออกไซด์ (MgO) เป็นสารประกอบของแมกนีเซียมที่นำมาใช้ประโยชน์ในหลายด้าน อาทิ ใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญของยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ใช้เป็นส่วนผสมของซีเมนต์ก่ออิฐทนไฟ ใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมผลิตยาง อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และสารทำความสะอาด เป็นต้น

คุณสมบัติทางเคมี
• สูตรทางเคมี : MgO (Mg = 60.29%, O = 39.67%)
• สถานะ : ผลึกหรือผง สีขาวหรือไม่มีสี ไม่มีกลิ่น
• มวลโมเลกุล : 40.3044 กรัม / โมล
• ความหนาแน่น : 3.58 g / cm³ ที่ 20 °C
• จุดเดือด : 3600 °C
• จุดหลอมเหลว : 2,852 °C
• การละลาย : ละลายได้ดีในน้ำ (ละลายน้ำที่อุณหภูมิ 30 °C ประมาณ 0.0086 กรัม / 100 มล. ) [1]

แมกนีเซียมออกไซด์ เป็นแร่สีขาวหรือเป็นผลึกไม่มีสีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีสูตรเคมีทั่วไป คือ MgO โดยผลิตได้จากการเผาแร่แมกนีเซียมในสภาพที่ใช้ออกซิเจนในการเผาไหม้ ซึ่งในธรรมชาติพบในรูปของแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Mg(OH)2) เป็นส่วนมาก เพราะเป็นแร่ที่ชอบดูดความชื้นได้ดี และไม่ละลายน้ำ แต่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ด้วยการให้ความร้อนกำจัดน้ำออก

𝑀𝑔𝑂 + 𝐻2𝑂 → 𝑀𝑔(𝑂𝐻)2   Δ𝐻298𝐾 𝜃 = 81.47 𝑘𝐽/𝑚𝑜𝑙

การผลิตแมกนีเซียม
แมกนีเซียมผลิตได้จากการเผาแร่หรือหินที่มีแมกนีเซียมเป็นองค์ประกอบภายใต้การให้ออกซิเจน มีวัตถุดิบตั้งต้น ได้แก่
1. Dolomite (MgCO3.CaCO3)
2. Magnesite : Magnesium carbonate (MgCO3)
MgCO3 = MgO + CO2
3. Bishofita (MgCl2 x 6H2O)
4. Magnesium hydroxide (Mg(OH)2)
5. แร่แมกนีเซียมบริสุทธิ์ (Mg)
2mg + O2 = 2MgO

ประโยชน์แมกนีเซียมออกไซด์
1. แมกนีเซียมออกไซด์ใช้เป็นตัวยาสำคัญของยาลดกรดในกระเพาะอาหาร มีคุณสมบัติในการ neutralize กรดได้ดี โดยเฉพาะกรดไฮโดรคลอริก กลายเป็นแมกนีเซียมคลอไรด์ และน้ำ ดังสมการ [2]

𝑀𝑔𝑂 + 2HCl → 𝑀𝑔Cl2 + H2O

2. แมกนีเซียมออกไซด์ใช้เป็นยาลดกรดในกระเพาะอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง โดยเฉพาะกรดแลคติคที่เกิดจากการหมักเซลลูโลสของจุลินทรีย์ หรือที่เกิดภาวะ lactic acidosis ดังสมการ [2]

𝑀𝑔𝑂 + CH3CHOHCOOH → (CH3COHCOO)2 + H2O

นอกจากนั้น แมกนีเซียมออกไซด์ ยังถูกนำมาใช้ประโยชน์ต่อสัตว์เคี้ยวเอื้องที่เกิดภาวะ hypomagnesaemia หรือภาวะที่มีระดับแมกนีเซียมในเลือดลดต่ำกว่าปกติ ซึ่งมักเกิดเมื่อสัตว์กินหญ้าอ่อนจำนวนมาก เพราะหญ้าอายุน้อยจะมีแมกนีเซียมต่ำ ประกอบกับหญ้าอายุน้อยจะมีไนโตรเจนสูง เมื่อย่อยจะถูกเปลี่ยนเป็นแอมโมเนียจำนวนมาก ก่อนที่แอมโมเนียจะเข้าจับกับแมกนีเซียมที่มีน้อยในหญ้า ทำให้แมกนีเซียมอยู่ในรูปที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ ทั้งนี้ การเสริมแมกนีเซียมให้สัตว์เคี้ยวเอื้องจะใช้วิธีเสริมในอาหาร วันละ 50-80 กรัม/ตัว/วัน

3. แมกนีเซียมออกไซด์ใช้เป็นตัวประสานสำหรับก่ออิฐทนไฟในอุตสาหกรรม เช่น เตาเผา เตาอบ เป็นต้น รวมถึงวัสดุก่อสร้างต่างๆ อาทิ แผ่นฝ้า แผ่นปูผนัง หลังคากระเบื้อง เป็นต้น เพราะเป็นสารที่มีความคงตัวได้ดีแม้ถูกความร้อนสูง ซึ่งมีจุดหลอมเหลวที่อุณหภูมิสูงถึง 2,852 °C

4. แมกนีเซียมออกไซด์ใช้เป็นสารดูดซับ และเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้อยู่ในรูปของคาร์บอเนต ดังสมการ

MgO + CO2 = MgCO3

5. ใช้เป็นตัวพาเฉื่อยหรือ inert carrier ให้กับสารอื่น เช่น แคลเซียมซัลเฟต สำหรับดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้ในอุตสาหกรรมเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่อากาศ โดยแมกนีเซียมออกไซด์จะไม่สูญเสียออกซิเจนขณะเกิดการเผาไหม้ [3]
6. ใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมผลิตยาง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และสารทำความสะอาด
7. ใช้เป็นสารแห้งสำหรับทำความสะอาดหรือขัดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
8. ใช้เป็นสารเติมแต่งในอุตสาหกรรมอาหารที่ช่วยป้องกันอาหารจับรวมกันเป็นก้อน และช่วยป้องกันการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์
9. ใช้เป็นสารเคลือบโลหะหรือวัสดุที่ช่วยทำหน้าที่สะท้อนแสงหรือรังสี
10. ใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาของโลหะออกไซด์ต่าง
11. ใช้เป็นสารกึ่งตัวนำในเซลล์แสงอาทิตย์ที่นำความร้อนได้น้อย แต่สามารถเพิ่มการแพร่ของอิเล็กตรอนให้มากขึ้น ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะช่วยให้เซลล์แสงอาทิตย์มีความไวต่อแสง ได้เพิ่มขึ้น

ขอบคุณภาพจาก Alibaba.com

เอกสารอ้างอิง
[1] http://www.azonano.com, Magnesium Oxide (MgO) Nanoparticles – Properties, Applications, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.azonano.com/article.aspx?ArticleID=3353/.
[2] วีณาพร จันทะสินธุ์, 2547, การตอบสนองของโครีดนมต่ออาหาร-
ที่เสริมด้วยหญ้าแห้งและโซเดียมไบคาร์บอเนต-
ร่วมกับแมกนีเซียมออกไซด์.
[3] อรณี พูนศรีธนากูล, 2556, ผลของการเติมแมกนีเซียมออกไซด์ต่อการเผาไหม้-
แบบเคมิคอลลูปิงของมีเทนด้วยตัวพาออกซิเจน-
ชนิดแคลเซียมซัลเฟต.