สเปรย์พริกไทย ประโยชน์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

14810

สเปรย์พริก หรือ สเปรย์พริกไทย (OC spray) จัดเป็นผลิตภัณฑ์จากพริกหรือพริกไทยที่สกัดเอาสารต่างๆมาใช้ประโยชน์ในการป้องกันอันตรายจากสัตว์หรือภัยจากมนุษย์ด้วยกัน โดยออกฤทธิ์ทำให้ดวงตาสัตว์หรือมนุษย์เกิดการพิการชั่วคราว ทั้งนี้ ในหลายประเทศจัดเป็นวัตถุอันตราย และไม่เข้าข่ายเป็นอาวุธ จึงมีข้อห้ามการใช้ การพกพา และการจำหน่าย รวมถึงประเทศไทยด้วย

OC spray มาจากคำว่า “Oleoresin Capsicum” หมายถึง น้ำมันจากพริก

น้ำมันจากพริก (oleoresin capsicum) เป็นสารที่ออกฤทธิ์ระคายเคืองต่อตา ทำให้น้ำตาไหล เกิดอาการปวดแสบ ปวดร้อน จนต้องหลับ และกระพริบตาอยู่นานเพื่อให้น้ำตาชะเจือจางน้ำมันจากพริกออก

ประโยชน์สเปรย์พริกไทย
1. เพื่อใช้ควบคุมการจลาจลหรือใช้ในการสลายฝูงชน การชุมนุมประท้วงต่างๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้แก่ ทหาร และตำรวจเป็นผู้มีอำนาจใช้สเปรย์พริกไทยได้
2. ใช้เพื่อป้องกันตัวเองจากผู้อื่นที่อาจเข้าทำร้ายหรือข่มขืน เพราะหลังการใช้จะทำให้ผู้ร้ายเกิดอาการแสบนัยน์ตา ไอ จาม หายใจลำบาก ซึ่งอาการจะหายภายใน 15-30 นาที โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้ได้รับ ช่วยให้สามารถหลบหนีจากผู้ร้ายได้ จึงนิยมใช้ในผู้หญิงจำนวนมาก โดยเฉพาะในต่างประเทศ และใช้มากในกลุ่มผู้หญิงที่ทำงาน และกลับบ้านในช่วงกลางคืนคนเดียว
3. ใช้เพื่อป้องกันตัวเองจากอันตรายที่มาจากสัตว์จะเข้าทำร้าย อาทิ หมี และสุนัข โดยเฉพาะต่างประเทศผลิตขึ้นมาใช้มากเพื่อใช้ป้องกันอันตรายจากหมี

สารสำคัญในสเปรย์พริกไทย
สาระสำคัญที่ทำหน้าที่ออกฤทธิ์ทำให้น้ำตาไหล ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในน้ำมันพริกไทย คือ แคปไซซิน (capsaicin) ส่วนสารอื่นๆที่สามารถออกฤทธิ์ทำให้ตาระคายเคือง ได้แก่ pelargonic acid vanillylamide

สเปรย์พริกที่ถูกผลิต และนิยมใช้ในประเทศอังกฤษ และรัสเซีย มีชื่อว่า สเปรย์ PAVA ซึ่งบรรจุในบรรจุภัณฑ์โลหะขนาดเล็ก มีน้ำหนักเบา สามารถพกพาได้สะดวก

โครงสร้างสาร capsaicin

การออกฤทธิ์ของสเปรย์พริกไทย
หลังได้รับน้ำมันสเปรย์พริกไทย ทั้งสัมผัสตา และการสูดดม จะทำให้เกิดการระคายเคืองนัยน์ตาทันที ตาเกิดการอักเสบ ปวดแสบปวดร้อน จากนั้น ร่างกายจะตอบสนองเพื่อลดการอักเสบ ด้วยกลไกการหลั่งน้ำตาออกมา นอกจากนั้น เมื่อสูดดมจะทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ หายใจลำบาก เกิดอาการแสบร้อนในลำคอ และเกิดอาการไอ ทั้งนี้ อาการจะปรากฏมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของน้ำมันสเปรย์ที่ได้รับ ซึ่งทั่วไปจะมีอาการนานประมาณ 15-30 นาที หรือบางรายที่มีอาการแพ้เข้าร่วมอาจมีอาการนานกว่าชั่วโมงจึงจะหาย

ผลของสเปรย์พริกไทยต่อร่างกาย
วารสาร Investigative Ophthalmology and Visual Science ได้ลงตีพิมพ์เผยแพร่ความเป็นอันตรายของน้ำมันน้ำมันสเปรย์พริกไทย ในปี ค.ศ. 1998 ว่า น้ำมันสเปรย์พริกไทย เป็นสารที่ไม่เป็นอันตรายรุนแรงต่อดวงตา แต่อาจมีผลข้างเคียงในระยะยาวที่ทำให้แก้วตามีความไวต่อแสงน้อยลง แต่ไม่มีผลต่อความชัดเจนในการมองเห็น

และในปีเดียวกัน The European Parliament Scientific and Technological Options Assessment (STOA) ได้ตีพิมพ์เผยแพร่เกี่ยวกับอันตรายจากน้ำมันสเปรย์พริกไทยว่า สเปรย์พริกไทยจะมีผลเฉียบพลันต่อตาในระยะเวลา 15-30 นาที คือ ทำให้ตาไม่สามารถมองเห็นได้ ระบบประสาทในระบบทางเดินหายใจอักเสบ ทำให้เกิดอาการไอ 45-60 นาที และหายใจหรือพูดหรือกินได้ลำบากเป็นเวลา 3-15 นาที

ทั้งนี้ ผลของสเปรย์พริกไทยจะทำให้เกิดอาการรุนแรงมากเป็นพิเศษในผู้ป่วยโรคหอบหืด ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการทดลองใช้

การใช้สเปรย์พริกไทยป้องกันตัวจากผู้ร้าย
ผู้หญิงถือเป็นกลุ่มที่ใช้สเปรย์พริกไทยมากที่สุด โดยเฉพาะการใช้เพื่อป้องกันภัยจากผู้ร้ายที่มีประสงค์ร้ายในด้านต่างๆ ทั้งการกรรโชกทรัพย์ และการข่มขืน

การพกสเปรย์พริกไทย ควรพกใส่กระเป๋าสะพายหรือกระเป๋าเสื้อผ้าที่สามารถหยิบจับออกใช้ได้ง่าย หากรู้ตัวว่ามีผู้ประสงค์ร้ายคอยติดตาม ควรหยิบสเปรย์พริกไทยออกมาเตรียมไว้ และใช้ฉีดเมื่อผู้ร้ายอยู่ในระยะมากกว่าแขนเอื้อมอย่างน้อย 30 เซนติเมตร แต่หากกระชั้นชิดเกินก็ไม่ควรน้อยกว่าระยะ 1 ข้อศอก เพราะหากประชิดกว่านี้อาจกดฉีดไม่ทันสถานการณ์ และละอองสเปรย์อาจถูกพัดตีกลับมาเข้าตนเองได้ แล้วกดฉีดเป็นจังหวะ 2-3 ครั้ง เมื่อผู้ร้ายสัมผัสละอองสเปรย์พริกไทยจนเกิดอาการแสบตา อาการไอ แล้วใช้จังหวะนั้นหนีเอาตัวรอดหรือฉีดซ้ำอีก 1-2 ครั้ง ก่อนหลบหนี

การบรรเทาอาการ และปฐมพยาบาล (Deactivation and first aid)
1. หากสัมผัสกับละอองสเปรย์ในที่อับให้รีบออกมาในพื้นที่โล่งที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
2. เมื่อละอองสเปรย์พริกไทยเข้าตา ให้ใช้นมสดหรือนมจืดชนิดไม่พร่องมันเนยนำมาล้างตา เพราะนมที่มีไขมันจะช่วยละลายน้ำมันพริกไทยออกมาได้ง่าย แต่หากหาไม่ทัน ให้ใช้น้ำสะอาดล้างออก

3. หากเกิดการแสบร้อนจากการสูดดม ให้รีบดื่มนมชนิดดังกล่าว 1-2 กล่อง ดื่มเป็นช่วงๆ ไม่ควรดื่มครั้งเดียวหมด หลังจากนั้น ค่อยดื่มน้ำตาม

4. หากเกิดการสัมผัสบริเวณผิวหนัง จนเกิดอาการแสบร้อน ให้นำนมชนิดข้างต้นมาล้างทำความสะอาดหรือใช้น้ำสะอาดร่วมกับสบู่ล้างออก

5. หากใช้มือหยิบจับหรือสัมผัสกับน้ำมันสเปรย์พริกไทย ห้ามนำนิ้วมือขยี้ตาเป็นอันขาด และให้รีบล้างมือออกด้วยสบู่

ทั้งนี้ หากมีอาการรุนแรง โดยเฉพาะการหายใจติดขัดหรือเกิดอาเจียนรุนแรงหรือหากปฐมพยาบาลเบื้อต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบนำส่งแพทย์ ในกรณีที่สัมผัสทางผิวหนัง ในทางการแพทย์จะใช้สำลีชุบ 5% ของ sodium bisulfite เช็ดล้างบริเวณที่สัมผัสกับน้ำมันสเปรย์พริกไทยออก ส่วนกรณีที่สัมผัสตา เคยมีแพทย์ในอเมริกาเหนือใช้น้ำยาหยอดตา 1 ส่วน ผสมกับน้ำ 1 ส่วน ของสารละลาย aluminum hydroxide (Maalox) นำมาล้างตา

การล้างน้ำมันสเปรย์พริกไทยออกจากตาหรือผิวหนัง ไม่ใช่ว่าจะล้างออกได้หมด โดยเฉพาะการล้างด้วยน้ำเปล่า นม และสารทำความสะอาด เพราะน้ำมันสเปรย์พริกไทยไม่ละลายในน้ำ แต่ละลายได้ในไขมัน ทำให้ละลายได้บ้างในน้ำนม และสารทำความสะอาดที่ช่วยลดแรงตึงผิวได้ ดังนั้น หลังการล้างด้วยสารต่างๆแล้ว อาการปวดแสบจะยังคงมีอยู่ แต่อาการจะลดน้อยลง และค่อยหายเป็นปกติภายใน 5-10 นาที แต่หากปล่อยไว้โดยไม่มีการล้างออกจะหายเป็นปกติภายใน 15-30 นาที หรือมากกว่าเป็นชั่วโมง

เทคนิคการปฐมพยาบาล และบรรเทาอาการปวด
1. การสัมผัสตา
– หลังการสัมผัสช่วงแรกให้กระพริบตามากๆเพื่อกระตุ้นให้น้ำตาไหล
– ใช้น้ำเปล่าล้าง 1-2 ครั้ง ห้ามเป็นน้ำอุ่น เพราะน้ำมันพริกไทยจะกระจายตัวได้เร็ว จากนั้น ตามด้วยน้ำจืดชนิดไม่พร่องมันเนย 2-3 ครั้ง
2. การสัมผัสผิวหนัง
– หากถูกเสื้อผ้าให้รีบถอดออกทันที
– ใช้น้ำเปล่าร่วมกับสบู่หรือผงซักฟอกล้าง 1-2 ครั้ง หรืออาจใช้นมจืดร่วมล้าง
– หลังการล้าง หากมีอาการแสบร้อนมาก ให้ใช้ว่านหางจระเข้ทาร่วมกับใช้พัดลมเป่า
3. การสูดดม
– หากอยู่ในห้องอับ ให้รีบออกด้านนอกในที่ร่ม
– หากมีอาการแสบลำคอ ให้ดื่มนม 3-5 ครั้ง ใน 1 กล่อง

ข้อพึงระวังในการใช้ และการเก็บรักษา
1. ไม่ควรฉีดพ่นแบบเป็นวงหรือหมุนขวดสเปรย์ไปมาแบบฉีดยุงหรือการฉีดแบบสเปรย์ปรับอากาศ เพราะผู้ฉีดอาจได้รับละอองสเปรย์เข้าตนเองได้
2. ห้ามฉีดใส่กองไฟหรือเปลวไฟ ประกายไฟ หรือ หลอดไฟฟ้า เพราะจะทำให้เกิดเปลวไฟ
3. ห้ามฉีดใส่สัตว์ มนุษย์เพื่อการกลั่นแกล้งหรือต้องการทำร้าย
4. ควรเก็บสเปรย์พริกไทยให้พ้นมือเด็ก ไม่นำออกมาขู่ จี้ หรือฉีดโดยไม่มีเหตุอันควร
5. ไม่ควรวางขวดสเปรย์ตากแดดหรือใกล้แหล่งความร้อน ควรเก็บไว้ในที่ร่มเท่านั้น

กฎหมายสเปรย์พริกไทยในไทย
กฎหมายประเทศไทย ห้ามมีการจำหน่าย และพกพาสเปรย์พริกไทย ตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะคุณสมบัติของสเปรย์พริกไทยออกฤทธิ์ขัดขวางการทำงานของร่างกายชั่วคราว ทั้งจากากรใช้เพื่อป้องกันตัวหรือทำร้ายผู้อื่น ซึ่งจัดเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ที่ห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่าย และห้ามพกพา หากฝ่าผืนจะมีบทลงโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท แต่ทั้งนี้ ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อบังคับดังกล่าวอย่างกว้างขวาง จนปัจจุบัน อย. ได้นำกลับมาทบทวนถึงการยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนข้อห้ามดังกล่าวเพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการป้องกันตัวมากขึ้น ทั้งนี้ สเปรย์พริกไทยไม่จัดเป็นอาวุธ ดังคำพิพากษาตัวอย่างของศาลฏีกาที่ 2030/2554

การนำขึ้นเครื่องบิน (Air and Cargo)
สเปรย์พริกที่ผลิตในต่างประเทศจะบรรจุในกระป๋องโลหะภายใต้แรงดัน เมื่อเวลาฉีดพ่นจะพ่นละอองออไปได้ไกล และตัวกระป๋องเองสามารถระเบิดได้หากได้รับความร้อนมาก ดังนั้น สายการบินทั่วโลกจะห้ามพกสเปรย์พริกไทยติดตัวเวลาขึ้นเครื่องบิน แต่บางประเทศอนุโลมให้สามารถเก็บในกระเป๋าสัมภาระไว้ใต้ท้องเครื่องได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันที่อาจใช้ทำอันตรายผู้อื่นบนเครื่องบิน และในแต่ละประเทศยังมีข้อบังคับที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องศึกษาก่อนพกพาหรือนำติดตัวระหว่างการเดินทาง

กฎหมายระหว่างประเทศ (International)
ในระหว่างประเทศ การใช้สเปรย์พริกไทยเพื่อการสงครามถูกห้ามด้วยสนธิสัญญาอาวุธชีวภาพ( Biological Weapons convention) มาตั้งแต่ปี 1972 แต่สามารถใช้ได้สำหรับความมั่นคงภายในประเทศ เพราะสนธิสัญญาไม่ครอบคลุมถึงอำนาจการใช้ของแต่ละประเทศ

• สหรัฐอเมริกา (USA)
1. รัฐวอชิงตันดีซี การครอบครองจะต้องลงทะเบียน และขออนุญาตก่อน
2. รัฐแมสซาชูเซตส์ สเปรย์พริกไทยอนุญาตให้ครอบได้สำหรับผู้ที่มีใบอนุญาต
3. รัฐนิวยอร์ก สเปรย์พริกไทยสามารถจำหน่ายได้ หากมีใบรับอนุญาต ทั้งเพื่อการค้าเกี่ยวกับอาวุธ และเภสัชกร
4. รัฐวิสคอนซิน สเปรย์พริกไทยสามารถจำหน่าย หาชื้อ และพกติดตัวไว้ใช้ได้ โดยจะต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ขึ้นไป แต่มีข้อจำกัดในผู้ผลิต คือ ที่ห้ามมีส่วนผสมของน้ำมันพริกไทยหรือสารที่ออกฤทธิ์เกิน 10% และผลิตภัณฑ์ต้องมีน้ำหนักในช่วง 15-60 กรัม และต้องไม่มีส่วนผสมของ Chloroacetophenone (CN) และ Chlorobenzal malononltrile (CS)

• แคนาดา(Canada)
ประเทศแคนาดา อนุญาตให้ใช้สเปรย์พริกไทยในกรณีสำหรับการป้องกันตัว ทั้งจากสัตว์ โดยเฉพาะหมี และหมาป่า แต่ห้ามใช้กับมนุษย์

• ฟินแลนด์ (Finland)
ในประเทศฟินแลนด์ (Finland) ผู้ที่ครอบครองสเปรย์พริกไทยต้องได้รับใบอนุญาต ซึ่งจะออกให้เฉพาะวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันตัว และสำหรับอาชีพเฉพาะ เช่น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เป็นต้น ส่วนตำรวจสามารถครอบครอง และพกพาได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต ทั้งนี้ ผู้ผลิตจะต้องผลิตสเปรย์พริกให้มีส่วนผสมของสารที่ออกฤทธิ์หรือมีส่วนผสมของน้ำมันพริกไม่เกิน 5% และไม่เกิน 2% สำหรับส่วนผสมอื่น อาทิ Chloroacetophenone (CN) เป็นต้น

• อิตาลี (Italy)
สเปรย์พริกไทยจัดเป็นสิ่งสำหรับใช้ป้องกันตัวชนิดหนึ่ง สามารถจำหน่าย ครอบครอง และพกพาได้ ทั้งนี้ จะต้องมีสารที่ทำเกิดอาการตาบอดชั่วคราว น้อยกว่า 10% ส่วนสเปรย์พริกที่มีส่วนผสมของสาร Chlorobenzal malononltrile (CS) ถือว่าผิดกฎหมาย ห้ามจำหน่าย และพกพา

• โปแลนด์ (Poland)
ในโปแลนด์กฎหมายระบุว่า สเปรย์พริกไทยไม่จัดเป็นอาวุธ สามารถผลิต และจำหน่ายได้ และประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป สามารถครอบครอง และนำไปใช้เพื่อป้องกันตัวได้

• รัสเซีย (Russia)
ในรัสเซีย สเปรย์พริกไทยสามารถผลิต จำหน่าย ซื้อหา และพกพา เพื่อใช้ป้องกันตัวเองได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต แต่ต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ขึ้นไป และห้ามพกพาในที่สาธารณะ ส่วนผู้ผลิต และผู้จำหน่ายจะต้องมีใบอนุญาตเช่นกัน

• ออสเตรเลีย (Australia)
ในออสเตรเลีย สเปรย์พริกไทยเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ถือเป็นอาวุธ ห้ามจำหน่ายหรือพกติดตัว ยกเว้นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สามารถพก และใช้ในภารกิจได้

• สเปน (Spain)
ในประเทศสเปน สเปรย์พริกไทยสามารถหาซื้อ พกพา และใช้เพื่อป้องกันตัวเองได้ โดยจะต้องเป็นผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และจะต้องมีส่วนผสมของสารออกฤทธิ์ไม่เกิน 5%

• ฮ่องกง (Hong Kong)
ในฮ่องกง สเปรย์พริกจัดให้เป็นอายุธชนิดหนึ่งที่บัญญัติในกฎหมาย HK Laws Chap ตามมาตรา 238 ผู้ที่ครอบครองต้องได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานตำรวจแห่งชาติ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 100,000 เหรียญสหรัฐและจำคุกไม่เกิน 14 ปี

• ลัตเวีย (Latvia)
ในลัตเวีย สเปรย์พริก ถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมูอาวุธป้องกันตัว แต่ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปี ขึ้นไป สามารถหาซื้อ และพกพาเพื่อใช้ป้องกันตัวได้

• เนเธอร์แลนด์ (the Netherlands)
เนเธอร์แลนด์ กฎหมายระบุว่าเป็นอายุธชนิดหนึ่ง ห้ามจำหน่าย ครอบครองหรือพกพา ยกเว้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในทหารหรือตำรวจ สำหรับใช้ปฏิบัติภารกิจ

• แอฟริกาใต้ (South Africa)
หลายประเทศในแอฟริกาใต้ อาทิ บอตสวานา นามิเมีย เป็นต้น ประเทศในกลุ่มนี้ ไม่มีกฎหมายในการบังคับใช้สเปรย์พริกไทย ซึ่งสามารถผลิต จำหน่าย พกพา และใช้เพื่อป้องกันตัวได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต

• สวีเดน (Sweden)
ประเทศสวีเดนจัดให้สเปรย์พริกไทยเป็นอาวุธชนิดหนึ่ง แต่สามารถครอบครองได้ โดยผ่านการอนุญาตก่อน

• สหราชอาณาจักร (United Kingdom)
ในสหราชอาณาจักร สเปรย์พริกไทยถูกจัดให้อยู่ในหมวด 5 อาวุธปืน ซึ่งมีการผลิต ออกแบบหรือปรับให้ยิงในรูปของเหลวที่เป็นพิษได้ แต่สามารถครอบครอง โดยต้องได้รับใบอนุญาตเสียก่อน และประชาชนสามารถใช้เพื่อการป้องกันตัวได้ ห้ามใช้เพื่อเป็นอาวุธทำร้ายผู้อื่น