สเปรย์กันยุง/ยาทากันยุง ส่วนผสม และข้อควรระวัง

29732

สเปรย์กันยุง และยาทากันยุง เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับฉีดพ่นหรือทาตามร่างกายเพื่อป้องกันยุงกัด โดยมีส่วนผสมของเคมีสังเคราะห์หรือสารสกัดสมุนไพรที่สามารถไล่ยุงได้

สเปรย์กันยุง เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดชนิดน้ำที่บรรจุในภาชนะที่มีหัวฉีดสเปรย์ สามารถใช้โดยการฉีดสเปรย์ให้พ่นเป็นละอองฝอยขนาดเล็กตามส่วนต่างๆของร่างกาย

ยาทากันยุง เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดชนิดน้ำที่บรรจุในภาชนะที่ไม่มีหัวฉีดสเปรย์ สามารถใช้โดยวิธีการชโลมบนฝ่ามือสำหรับทาบริเวณต่างๆของร่างกาย

คุณสมบัติสเปรย์กันยุง และยาทากันยุงที่ดี
1. สามารถออกฤทธิ์ป้องกันยุงหรือแมลงได้หลายชนิด
2. สามารถออกฤทธิ์ได้นานหลายชั่วโมง โดยไม่ขึ้นกับความเข้มข้น และไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกาย
3. ไม่ทำให้เกิดอาการระคายเคือง ผดผื่นหรือการอักเสบแก่ผิวหนัง
4. ไม่มีกลิ่นเหม็นหรือกลิ่นฉุนของส่วนผสม ควรให้กลิ่นหอมน่าใช้
5. ไม่ทำให้เกิดสีบริเวณผิวหนังเมื่อฉีดพ่นหรือทาสารละลาย
6. หาซื้อง่าย ราคาไม่แพง

กันยุง

ชนิดของสเปรย์กันยุง และยาทากันยุง
1. เคมีสังเคราะห์ป้องกันยุง

ส่วนผสม
สเปรย์กันยุง และยาทากันยุง ที่พบในท้องตลาดมักมีส่วนผสมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือผสมกัน โดยผลิตออกมาในรูปของสารละลาย ได้แก่
1. DEET (diethyltoluamide) 5-25%
2. ไดเมทิล พทาเลต (dimethyl phthalate)
3. เอทิลบิวทิลอเซติลามิโน โพรพิโนเอต (ethyl butylacetylamino propionate)
4. Icaridin หรือ Picaridin (2-(2-hydroxyethyl)-1-piperridinecarboxylic
acid 1-methylpropyl ester)  5-20 %
5. Ethyl butylacetylamino propionate มีความเข้มงวดของปริมาณที่ใช้ในเด็ก
6. IR3535 (3-[N-Butyl-N-acetyl]-aminopropionic acid, ethyl ester)

ยาทากันยุงไม่สามารถฆ่ายุงได้ ใช้เพื่อป้องกันยุงเท่านั้น ประสิทธิภาพการกันยุงจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารเคมี โดยปกติจะสามารถป้องกันได้ประมาณ 2-6 ชั่วโมง

ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารออกฤทธิ์จำพวก deet ผู้ใหญ่ควรใช้ที่ความเข้มข้น 15-20% ส่วนเด็กควรใช้ที่ความเข้มข้นไม่เกินร้อยละ 10

การใช้ยากันยุงในรูปของสารละลายเคมีสังเคราะห์ยังสามารถใช้ในรูปแบบอื่นนอกเหนือจากการทา ได้แก่ การใช้ชุบเสื้อผ้า หมอน มุ้ง แล้วตากให้แห้งสำหรับนำมาป้องกันยุง

ข้อแนะนำการใช้
1. ก่อนใช้ควรฉีดพ่นหรือทาบริเวณผิวหนังเล็กน้อยเสียก่อน เพื่อทดสอบอาการแพ้หรือระคายเคือง
2. ชนิดสเปรย์ หากใช้บนใบหน้าให้สเปรย์ใส่มือเสียก่อนแล้วค่อยลูบไล้ตามใบหน้า
3. ไม่ควรใช้บริเวณที่มีเสื้อผ้าปกคลุมหรือหากต้องการใช้สำหรับเสื้อผ้าบางๆ ให้ใช้เล็กน้อย เพียงบางๆเท่านั้น
4. ไม่ควรฉีดพ่นใกล้กับอาหารหรือขณะรับประทานอาหาร
5. ไม่ควรใช้ในปริมาณมาก และติดต่อกันเป็นประจำ
6. หลังใช้ควรล้างมือ และอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณที่ทาด้วยสบู่หรือน้ำยาทำความสะอาดทุกครั้ง

7. เมื่อยากันยุงหมดฤทธิ์สามารถทาตามจุดบริเวณเดิมได้

8. ไม่ควรใช้หากอาศัยอยู่ในห้องที่มีระบบปรับอากาศหรืออยู่ในมุ้งที่ยุงไม่สามารถเข้ามาได้

ข้อควรระวัง
1. ห้ามดื่มเป็นเด็ดขาด
2. ห้ามใช้สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี และหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงให้นมบุตร
3. ห้ามทาหรือฉีดพ่นบริเวณบาดแผลหรือผิวหนังที่มีผื่นหรือการอักเสบ
4. ห้ามทาหรือฉีดพ่นบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น เปลือกตา ขอบตา ริมฝีปาก รักแร้
5. ควรเก็บให้พ้นจากมือเด็ก

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์
1. ซอฟเฟล สารออกฤทธิ์ DEET 12% กลิ่นฟลอร่า เฟรช และตะไคร้ มีทั้งแบบโลชั่น และเสปรย์
2. กย.15 สารออกฤทธิ์ DEET 15%, 24% และ IR3535 10% แบบโลชั่น
3. ออฟ ฟอร์ คิด สารออกฤทธิ์ DEET 7.5% แบบโลชั่น
4. ออฟ แฟมิลี่ สารออกฤทธิ์ DEET 15% แบบโลชั่น
5. ออฟ แอคทีฟ สารออกฤทธิ์ DEET 15% แบบสเปรย์
6. Sketolene SO Soft สารออกฤทธิ์ DEET 12% แบบโลชั่น
7. Sketolene Shield สารออกฤทธิ์ DEET 15% แบบโลชั่น
8. Sketolene Nature สารออกฤทธิ์ IR3535 10% แบบสเปรย์

2. สารสกัดจากพืช
ส่วนผสม
1. สารสกัดหรือน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากพืชต่างๆ เช่น ตะไคร้ ดาวเรือง แมงลัก มะนาว มะกรูด ส้ม ยูคาลิปตัส เป็นต้น
2. แอลกอฮอล์
3. น้ำ

สเปรย์หรือยาทากันยุงที่ผลิตจากสารธรรมชาติสามารถออกฤทธิ์กันยุงได้ตั้งแต่ 2-6 ชั่วโมง ตามความเข้มข้นของสารสกัดที่ใช้

ประสิทธิภาพสเปรย์ และยาทากันยุง
1. ผู้ที่มีเหงื่อมาก เหงื่อจะชะล้างยาออกได้เร็วทำให้ประสิทธิภาพลดลง
2. อุณหภูมิ และความชื้นสูง รวมถึงกระแสลม มีผลต่อการระเหยของยาได้เร็ว นอกจากนั้น อุณหภูมิ และความชื้นสูงยังทำให้ผู้ใช้มีเหงื่ออกมากกว่าปกติ
3. ยาแต่ละชนิดมีผลต่อยุงแต่ละชนิดไม่เท่ากัน
4.  ความเข้มข้นของตัวยาในผลิตภัณฑ์มีผลต่อประสิทธิภาพโดยตรง แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้
5. ลักษณะการฉีดพ่น และการทาที่ทั่วถึงจะช่วยป้องกันยุงกัดตามส่วนต่างๆได้ดี