รังสีเอกซ์ (x-ray) คุณสมบัติ และประโยชน์รังสีเอกซ์

150698

รังสีเอกซ์ (x-ray) เป็นรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติเป็นทั้งคลื่น และอนุภาค เช่นเดียวกับรังสีแกมมา แต่มีช่วงความยาวคลื่นต่ำกว่ารังสีแกมมา คือ ประมาณ 0.1 – 100 อังสตอม (Å) หรือ 0.01 – 10 นาโนเมตร (nm) แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ รังสีเอกซ์ที่มีความยาวคลื่นสั้นกว่า 1 อังสตอม (Å) และรังสีเอกซ์ที่มีความยาวคลื่นมากกว่า 1 อังสตอม (Å)

คุณสมบัติรังสีเอกซ์

1. เป็นรังสีประเภทคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่นเดียวกับรังสีแกมมา แต่มีช่วงความยาวคลื่นต่ำกว่า คือ ประมาณ 0.01 – 100 Å (อังสตรอม)
2. มีคุณสมบัติเหมือนกับแสงสว่างธรรมดา มีความเร็วการเดินทางในสุญญากาศเท่ากับความเร็วแสง คือ 3.8×108 m/s นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติการสะท้อน การหักเห และเบี่ยงเบน เหมือนกับแสงสว่างธรรมดา
3. เคลื่อนที่เป็นเส้นตรง และไม่ถูกทำให้เบี่ยงเบนโดยสนามแม่เหล็ก และไฟฟ้า
4. ทำให้วัตถุบางอย่างเรืองแสงได้ ซึ่งวัตถุจะต้องมีสารบางอย่างที่ทำให้เรืองแสงได้
5. เป็นรังสีก่อไอออน เมื่อผ่านในตัวกลางที่เป็นอากาศหรือก๊าซ
6. ทำให้เกิดรอยดำบนแผ่นฟิล์มถ่ายรูปได้ เช่นเดียวกับแสงสว่าง
7. ทะลุทะลวงผ่านวัตถุต่าง ๆ ได้ดี สามารถทะลุผ่านเนื้อเยื่อมนุษย์ และสัตว์ พลาสติก เสื้อผ้า แต่ไม่สามารถผ่านโลหะตะกั่วหรือคอนกรีตหนาๆได้
8. ถูกดูดกลืนโดยวัตถุที่มีเลขเชิงมวลสูง
9. มีสมบัติเช่นเดียวกับแสง เช่น การสะท้อน (reflection) การหักเห (refraction) การเลี้ยวเบน (diffraction)
10. ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารชีวเคมีในสิ่งมีชีวิต เช่น เซลล์ของร่างกายถูกทำลาย หรือเกิดการกลายพันธุ์ (Mutation) ถ้าได้รับรังสีเป็นจำนวนมาก และเป็นเวลานาน

ซึ่งเหล่านี้ เป็นคุณสมบัติของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แต่มีคุณสมบัติอื่นที่ไม่สามารถใช้คุณสมบัติของคลื่นอธิบายได้ เช่น การเปลี่ยนระดับชั้นพลังงานในอะตอมหรือโมเลกุล โดยความแตกต่างเฉพาะชั้นพลังงานมีค่าเฉพาะค่าหนึ่ง ซึ่งรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ได้จะต้องมีพลังงานเท่ากับค่านี้ หรือมากกว่า คุณสมบัตินี้ จึงทำให้รังสีแม่เหล็กไฟฟ้าถูกมองเป็นอนุภาค

ในแง่ของอนุภาค รังสีแม่เหล็กไฟฟ้าจะต้องมีพลังงานกำกับไปด้วยค่าหนึ่งเสมอ โดยสมการที่รวมคุณสมบัติของความเป็นคลื่น และอนุภาคเข้าไว้ด้วยกัน และสามารถคำนวณเพื่อเปลี่ยนค่าเฉพาะของคุณสมบัติแต่ละประเภทไปมาได้แสดงในสมการด้านล่าง [1],[2],[3]

E = hv = hc/λ = 12.396/λ

E = พลังงานของรังสีแม่เหล็กไฟฟ้า (J)
h = ค่าคงที่ของพลังค์ 6.626×10-34 (J∙s)
c = ความเร็วแสง 2.997×108 (m/s)
λ = ความยาวคลื่น (m)

รังสีเอกซ์ เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนสภาวะของระดับพลังงานของอะตอมจากระดับพลังงานสูงไปสู่ระดับพลังงานต่ำ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากการสลายตัวของสารกัมมันตรังสี (Radioisotope) และที่มนุษย์ผลิตขึ้นจากกลไกทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่ออะตอมได้รับการกระตุ้น (excite) จะทำให้บริเวณวงโคจรอิเล็กตรอนของอะตอมนอกนิวเคลียสได้รับผลกระตุ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนจากสภาวะปกติ (ground state) ไปสู่สภาวะกระตุ้น (excited state) และจะลดระดับพลังงานกลับมาสู่สภาวะปกติ ในกระบวนการกลับเข้าสู่สภาวะปกตินั้นจะเกิดการแทนที่ในที่ว่างจากชั้นอิเล็กตรอนวงนอกซึ่งมีพลังงานสูงเข้าแทนที่อิเล็กตรอนที่ถูกกระตุ้นให้หลุดออกไปจากวงโคจร การแทนที่นี้ก่อให้เกิดการปลดปล่อยพลังงานส่วนเกินออกมาในรูปคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือโฟตอน คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ปลดปล่อยออกมานี้เรียกว่า “รังสีเอกซ์เรือง (fluorescent x-ray)”

ประวัติการค้นพบรังสีเอกซ์

ศาสตราจารย์เรินต์เกน (Wilhelm Conrad Röntgen) เป็นผู้ค้นพบรังสีเอกซ์คนแรก เมื่อปี ค.ศ.1895 ขณะที่กำลังศึกษารังสีแคโทด แล้วพบว่า แผ่นกรองแสงที่ทำจากกระดาษ และเคลือบด้วยสารประกอบแบเรียม แพลทิโนไซยาไนด์ (barium platinocyanide) เรืองแสง ขณะที่วางอยู่ห่างหลอดรังสีแคโทดออกไป 120 เซนติเมตร และขณะเดียวกันเขาได้สังเกตเห็นตัวอักษร “A” ที่เคลือบสารแบเรียม แพลทิโนไซยาไนด์ ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 20 ฟุต ก็เกิดการเรืองแสงขึ้นเช่นกัน ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในระยะของหลอดรังสีแคโทด ซึ่งเขาได้ตั้งข้อสังเกตว่า จะต้องมีรังสีชนิดหนึ่งที่มองไม่เห็น และมีอำนาจทะลุทะลวงสูง สามารถผ่านออกจากหลอดรังสีแคโทดไปกระทบแผ่นเรืองรังสี ซึ่งในครั้งแรกที่พบนั้น ไม่ทราบว่าคือรังสีอะไร จึงเรียกรังสีนี้ว่า รังสีเอกซ์

Wilhelm Conrad Röntgen

จากนั้น เขาใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์ทาการสังเกตศึกษาการทะลุทะลวง (Penetration) ของรังสีเอกซ์ผ่านกระดาษ หนังสือ ไม้ และโลหะ รวมถึงคนด้วย ทั้งนี้ เขาได้ถ่ายภาพมือภรรยาด้วยรังสีเอกซ์เป็นภาพแรกไว้อีกด้วย เรินต์เกนจึงได้รับการประกาศว่าเป็นผู้ค้นพบรังสีเอกซ์ ต่อมาเขาจึงได้รับรางวัลโนเบล (Nobel prize) สาขาฟิสิกส์เป็นคนแรก ในปี 1901 [1]

ประเภทรังสีเอกซ์

1. รังสีเอกซ์ที่มีสเปกตรัมแบบต่อเนื่อง
เป็นรังสีเอกซ์ที่ได้มาจากเครื่องกำเนิดรังสีเอกซ์โดยการเร่งให้อนุภาคมีประจุวิ่งเข้าชนเป้าโลหะ เช่นอิเล็กตรอนให้มีความเร็วสูงวิ่งเข้าชนเป้า โลหะ เมื่ออิเล็กตรอนสูญเสียความเร็วก็จะปล่อยพลังงานออกมาในรูปของรังสีเอกซ์ที่มีลักษณะของสเปกตรัมแบบต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่า เบรมส์ชตราลุง (Bremsstrahlung)

2. รังสีเอกซ์ที่มีสเปกตรัมแบบเฉพาะตัว หรือรังสีเอกซ์เฉพาะตัว
เป็นรังสีเอกซ์ที่ได้มาจากการสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสีซึ่งเป็นการกระตุ้นโดยอาศัยพลังงานจากภายในอะตอม โดยเกิดการเปลี่ยนชั้นวงโคจรของอิเล็กตรอนจากชั้นพลังงานสูงกว่ามายังชั้นพลังงานตำกว่า การ เปลี่ยนชั้นพลังงานนี้ จะปล่อยพลังงานส่วนเกินออกมาในรูปของรังสีเอกซ์เฉพาะตัว (Characteristic x-rays) นอกจากนั้นยังมีการเกิดรังสีเอกซ์ที่มีลักษณะของสเปกตรัมแบบเฉพาะตัวจากการกระตุ้น โดยอาศัยพลังงานจากภายนอกอะตอม ซึ่งสามารถเกิดรังสีเอกซ์ที่มีลักษณะของสเปกตรัมแบบเฉพาะตัว ตามชนิดของเป้าโลหะที่ใช้ลดความเร็วของอิเล็กตรอนในเครื่องกำเนิดรังสีเอกซ์
1) การกระตุ้นโดยพลังงานจากการเปลี่ยนแปลงภายในอะตอม
การกระตุ้นแบบนี้ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงภายในอะตอม ซึ่งอะตอมในกลุ่มนี้จะเป็นอะตอมของธาตุกัมมันตรังสี ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลาโดยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงทางนิวเคลียร์
– การเกิดรังสีเอกซ์เฉพาะตัวจากการชนของรังสีแกมมาภายในอะตอม
เกิดจากการที่นิวเคลียสของธาตุกัมมันตรังสีที่อยู่ในสภาวะกระตุ้นปล่อยพลังงานออกมาเพื่ออยู่ในสภาวะพื้น โดยพลังงานที่ปล่อยออกมาจะอยู่ในรูปของรังสีแกมมา ซึ่งเมื่อรังสีแกมมาออกมาจากนิวเคลียสจะ มีโอกาสชน และถ่ายเทพลังงานให้กับอิเล็กตรอนรอบนิวเคลียส จนเมื่ออิเล็กตรอนได้รับพลังงานมากพอจนหลุดจากอะตอมจะเกิดที่ว่างภายในอะตอม อิเล็กตรอนที่อยู่ในชั้นพลังงานสูงกว่าจะเคลื่อนที่ลงมาแทนที่และปล่อยพลังงานออกมาในรูปของรังสีเอกซ์

– การเกิดรังสีเอกซ์เฉพาะตัวจากการชนของอนุภาคเบต้าภายในอะตอม
นิวเคลียสของธาตุกัมมันตรังสีจะสลายตัวโดยให้อนุภาคเบต้าออกจากนิวเคลียส เมื่ออนุภาคเบต้าออกจากนิวเคลียสมีโอกาสที่จะชน และถ่ายเทพลังงานให้อิเล็กตรอนที่โคจรอยู่รอบอะตอม เมื่ออิเล็กตรอนได้รับพลังงานมากพอ ทำให้หลุดออกจากอะตอม อิเล็กตรอนในชั้นโคจรที่มีพลังงานสูงกว่าจะเคลื่อนที่ลงมาแทนที่พร้อมทั้งปล่อยพลังงานส่วนเกินออกมาในรูปของรังสีเอกซ์

– การเกิดรังสีเอกซ์เฉพาะตัวจากการจับอิเล็กตรอน (Electron capture)
อิเล็กตรอนที่โคจรอยู่ชั้นในใกล้นิวเคลียสจะถูกจับหรือดึงดูดเข้าสู่นิวเคลียส ทำให้เกิดที่ว่างขึ้น ซึ่งอิเล็กตรอนในชั้นพลังงานสูงกว่าจะเข้ามาแทนที่แล้วปล่อยพลังงานออกมาในรูปของรังสีเอกซ์

2) การกระตุ้นโดยอาศัยพลังงานจากภายนอกอะตอม
พลังงานจากภายนอกอะตอมอาจอยู่ในรูปของอนุภาคที่มีพลังงานสูงหรือโฟตอน (Photon) เมื่ออนุภาคพลังงานสูงหรือโฟตอนผ่านเข้าไปในอะตอมของธาตุ มีโอกาสที่จะชน และถ่ายเทพลังงานให้กับอิเล็กตรอนในอะตอม เมื่อพลังงานที่ถ่ายเทให้สูงมากพอจนอิเล็กตรอนหลุด จากอะตอม ทำให้เกิดที่ว่างขึ้น อิเล็กตรอนในชั้นระดับพลังงานที่มากกว่าจะเคลื่อนที่ลงมาแทนที่ในชั้นระดับพลังงานที่ต่ำกว่า พร้อมทั้งปล่อยพลังงานส่วนเกินออกมาเป็นรังสีเอกซ์เฉพาะตัว


สังเกตได้ว่ารังสีเอกซ์เฉพาะตัวที่ได้จากการกระตุ้นโดยอาศัยพลังงานภายนอกอะตอม และการสลายตัวแบบการเปลี่ยนแปลงภายในจะได้รังสีเอกซ์เฉพาะตัวของธาตุเดิม แต่รังสีเอกซ์ที่ได้จากการสลายตัวโดยการชนของอนุภาคเบต้า และการสลายตัวแบบจับอิเล็กตรอนจะเป็นรังสีเอกซ์เฉพาะตัวของธาตุใหม่ เนื่องจากเป็นการสลายตัวที่มีการเปลี่ยนแปลงภายในนิวเคลียส

การลดทอนหรือการดูดกลืนรังสีเอกซ์

รังสีเอกซ์ เมื่อเคลื่อนที่ผ่านตัวกลางใดๆ บางส่วนของรังสีเอกซ์จะถูกดูดกลืนโดยอันตรกิริยาต่างๆ บางส่วนก็จะกระเจิงออกไปเหลือเพียงรังสีเอกซ์บางส่วนที่ผ่านออกมาได้ ซึ่งเรียกปรากฏการณ์นี้ ว่าการลดทอนรังสี (Attenuation) โดยปริมาณของรังสีที่ผ่านเข้าสู่หัววัดรังสีจะถูกลดทอนลงตามความหนาของตัวกลาง การลดทอนทางรังสีสามารถอธิบายได้โดยอาศัยสมการของแลมเบิร์ต (Lambert’s law)

𝐼 = 𝐼𝑒−𝜇𝑥

I = ความเข้มรังสีเอกซ์เมื่อมีตัวกลางขวางกัน
I = ความเข้มรังสีเอกซ์เมื่อไม่มีตัวกลางขวางกัน
μ = ค่าสัมประสิทธิ์การลดทอนเชิงเส้น หรือ การดูดกลืนเชิงเส้น (Linear attenuation coefficient) เมื่อรังสีเอกซ์เคลื่อนที่ผ่านตัวกลาง มีหน่วยเป็น cm-1
x = ค่าความหนาตัวกลางที่รังสีเอกซ์เคลื่อนที่ผ่าน มีหน่วยเป็น cm
e = ค่าคงตัวยูเลอร์ (Euler’s constant ) มีค่าเท่ากับ 2.718

เครื่องกำเนิดรังสีเอกซ์

เครื่องกำเนิดรังสีเอกซ์ประกอบด้วยอุปกรณ์ที่สำคัญ คือ หลอดรังสีเอกซ์ (X-ray tube) ซึ่งเป็นหลอดแก้วสุญญากาศ ภายในมีขั้วไฟฟ้า 2 ขั้ว คือ ขั้วลบ (แคโทด) หรือไส้หลอด (filament) และขั้วบวก (แอโนด) หรือ เป้า (target) ขั้วทั้ง 2 ต่อเข้ากับแหล่งจ่ายไฟฟ้า เมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านเข้าไปในไส้หลอดซึ่งทำจากทังสเตน (tungsten) แล้วจะเกิดความร้อนจนเพิ่มอุณหภูมิสูงประมาณ 2,000 องศาเซลเซียส หรือมากกว่า ทำให้อิเล็กตรอนหลุดออกจากไส้หลอด และถูกเร่งให้เคลื่อนที่ไปกระทบกับเป้า ซึ่งทำจากโลหะผสมระหว่างทังสเตนกับวัสดุอื่นเช่น โมลิบดินัม (molybdenum) หรือรูเนียม (rhenium)

เนื่องจากทังสเทนมีเลขเชิงอะตอมสูง จุดหลอมเหลวสูง และส่งผ่านความร้อนได้ดี เมื่ออิเล็กตรอนความเร็วสูงกระทบกับเป้า จะสูญเสียพลังงานไปเป็นความร้อน (≥99%) และส่วนพลังงานที่เหลือจะเปลี่ยนเป็นรังสีเอกซ์ [3]

กระบวนการเกิดรังสีเอกซ์

เมื่ออิเล็กตรอนความเร็วสูงจากไส้หลอดกระทบเป้า รังสีเอกซ์จะเกิดขึ้นจากกระบวนการที่สำคัญ คือ [3]
1. เมื่ออิเล็กตรอนจากไส้หลอดชนกับอิเล็กตรอนในวงโคจรอะตอมของเป้า และสามารถทำให้เกิดการแตกตัวเป็นไอออน ด้วยการผลักอิเล็กตรอนให้หลุดออกจากอะตอม เมื่ออิเล็กตรอนที่อยู่ในวงโคจรอื่นที่ห่างออกไปเข้ามาแทนที่ว่าง ก่อนจะปลดปล่อยพลังงานออกในรูปรังสีเอกซ์ ซึ่งเรียกว่า รังสีเอกซ์เฉพาะตัว (characteristic X-ray)

จากภาพด้านล่าง อิเล็กตรอนจากวง L เข้ามาแทนที่ว่างในวง K รังสีเอกซ์ที่เกิดขึ้นเรียกว่า รังสีเอกซ์เฉพาะตัวเค (K-characteristic X-ray) หากเป็นการแทนที่ว่างในวง L หรือ M ก็จะเรียกว่ารังสีเอกซ์เฉพาะตัวแอล (L-characteristic X-ray) และรังสีเอกซ์เฉพาะตัวเอ็ม (M-characteristic X-ray) พลังงานของรังสีเอกซ์ชนิดนี้มีค่าเฉพาะเท่ากับผลต่างของพลังงานยึดเหนี่ยวอิเล็กตรอนในวงโคจรเริ่มต้นกับวงโคจรสุดท้าย ซึ่งอะตอมของเป้า

แต่ละชนิดจะมีการเรียงลำดับของอิเล็กตรอนแตกต่างกัน ดังนั้น พลังงานของรังสีเอกซ์จะเปลี่ยนไปเมื่อชนิดของเป้าเปลี่ยนไป กล่าวคือ พลังงานของรังสีเอกซ์เฉพาะตัวเคจากทังสเทนมีค่าแตกต่างจากตะกั่ว รังสีเอกซ์ชนิดนี้มีชื่อว่า แคแรกเทอริสติก ซึ่งหมายถึง มีลักษณะเฉพาะตัวตามชนิดของเป้านั่นเอง

2. เมื่ออิเล็กตรอนจากไส้หลอดวิ่งเข้าใกล้นิวเคลียสของเป้า เมื่อนั้น อิเล็กตรอนจะเกิดการเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่ เพราะแรงจากประจุบวกของนิวเคลียส และอิเล็กตรอนเองมีพลังงานลดลง โดยการปล่อยพลังงานออกมาในรูปของรังสีเอกซ์ ที่มีชื่อเรียกว่า เบรมส์ชตราลุง (bremsstrahlung) ซึ่งมีพลังงาน (E) เท่ากับผลต่างของพลังงานอิเล็กตรอนก่อนผ่านเข้าอะตอม (Ei) และหลังจากออกจากอะตอม (Ef) ดังสมการด้านล่าง

E = Ei + Ef

ดังนั้น เบรมส์ชตราลุงจึงมีพลังงานได้หลายค่า ขึ้นอยู่กับว่าอิเล็กตรอนที่วิ่งเข้าชนสามารถเข้าใกล้นิวเคลียสได้มากเพียงใด และมีการสูญเสียพลังงานเพียงใด แต่จะมีค่าพลังงานสูงสุดเท่าพลังงานของอิเล็กตรอน เช่น อิเล็กตรอนที่มีพลังงานจลน์ 70 keV เมื่อทำให้เกิดเบรมส์ชตราลุง ก็จะมีพลังงานตั้งแต่ 0 จนถึง 70 keV ไม่เกินกว่านี้

ประโยชน์รังสีเอกซ์

1. ทางด้านการแพทย์
ใช้ถ่ายภาพสำหรับทางการแพทย์ อาทิ การเอกซ์เรย์ปอดเพื่อตรวจหามะเร็งปอด การเอกซ์เรย์กระดูก เพื่อตรวจการหลุด การแตกหักของกระดูก การเอกซ์เรย์ร่างกายเพื่อตรวจหาตำแหน่งวัตถุหรือโลหะ เป็นต้น

2. ทางด้านดาราศาสตร์
– ใช้เพื่อถ่ายภาพดาราจักรที่ตามนุษย์มองไม่เห็น

3. ทางด้านความมั่นคง และอากาศยาน
– ใช้ถ่ายภาพเพื่อค้นหาวัตถุอันตราย วัตถุระเบิด ซึ่งใช้มากในสนามบินสำหรับตรวจสัมภาระของผู้โดยสาร

4. ทางด้านอุตสาหกรรม
– ใช้ตรวจหาความหนาแน่นของวัตถุหรือโลหะ
– ใช้ตรวจหารอยร้าวหรือรอยรั่วของชิ้นงาน
– รังสีเอกซ์พลังงานต่ำที่มีความยาวคลื่นในช่วง 0.13-0.41 nm และให้พลังงานประมาณ 3.5-9 KeV ถูกนำมาใช้ในการแยกสารอินทรีย์ระเหย (Volatile Organic Compound) ออกจากไนโตรเจน โดยที่สารอินทรีย์ระเหยมีค่าพลังงานไอออไนเซชัน 8.82 eV และไนโตรเจนมีค่าพลังงานไอออไนเซชัน 15.58 eV ซึ่งมีประสิทธิภาพในการแยกสารอินทรีย์ระเหยออกจากไนโตรเจนร้อยละ 43 ที่ความเข้มข้นสารอินทรีย์ระเหย 2 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร และความต่างศักย์ไฟฟ้า 600 V ในอัตราการไหล 1 ลิตร/นาที นอกจากนั้น ยังได้มีการนำรังสีเอกซ์พลังงานต่ำมาใช้ในการแยกคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากฮีเลียม โดยคาร์บอนไดออกไซด์มีค่าพลังงานไอออไนเซชัน 13.78 eV และฮีเลียมมีค่าพลังงานไอออไนเซชัน 24.587 eV ซึ่งมีประสิทธิภาพในการแยกคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากฮีเลียมร้อยละ 14 ที่ความเข้มข้นคาร์บอนไดออกไซด์ 4.7 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร และความต่างศักย์ไฟฟ้า 600 V ในอัตราการไหล 1 ลิตร/นาที อีกทั้งได้มีการนำรังสีเอกซ์พลังงานต่ำมาใช้ในการสลายโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic aromatic hydrocarbon) เมื่อโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนผ่านรังสีเอกซ์พลังงานต่ำเป็นเวลา 0.022-0.067 วินาที ทำให้โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนมีการสลายร้อยละ 30 ที่อัตราการไหล 90 ลิตร/นาที [4]

เอกสารอ้างอิง
[1] ศุภกร จันทร์ประภา, 2557, การพัฒนาคุณสมบัติทางไฟฟ้าของช็อตต์กีย์ไดโอด-
ที่แพร่ด้วยแพลตทินัมโดยการฉายรังสีเอกซ์.
[2] สัมพันธ์ วงศ์นาวา, 2547, เอกซเรย์ฟลูออเรสเซนซ์.
[3] นวลฉวี รุ่งธนเกียรติ. 2545. วิทยาศาสตร์นิวเคลียร์.
[4] อภิชาต เปลี่ยนเจริญ, 2551, การศึกษาความเป็นไปได้ในการเกิด-
ปฏิกิริยาวอเตอร์แก๊สชิฟต์ย้อนกลับจาก-
คาร์บอนไดออกไซด์และไฮโดรเจนที่ความดันบรรยากาศ-
ด้วยรังสีเอกซ์พลังงานต่ำ.