ผ้าปิดปาก ปิดจมูก หน้ากากอนามัย และวิธีทำผ้าปิดปาก ปิดจมูก

42519

ผ้าปิดจมูก (Mask) เป็นวัสดุที่ใช้สวมใส่บริเวณใบหน้า เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่จะแพร่กระจายผ่านทางอากาศจากแหล่งกำเนิดเชื้อโรคหรือผู้ป่วยติดเชื้อเข้าสู่คนปกติหรือคนที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งเชื้อที่ลอยในอากาศ เชื้อจากสารคัดหลั่ง และเลือด

นอกจาก ประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว ผ้าปิดจมูกยังสามารถช่วยป้องกันมลพิษทางอากาศประเภทฝุ่นละอองได้อีกด้วย แบ่งชนิดผ้าปิดจมูกได้ ดังนี้
1. ผ้าปิดจมูกชนิดธรรมดา
ผ้าปิดจมูกชนิดธรรมดามี 2 ลักษณะ คือ ชนิดผ้า โดยวัสดุที่ใช้ในการผลิตคือผ้า เช่น ผ้าสำลี ผ้าสาลู และผ้าเส้นใยสังเคราะห์ โดยวัสดุที่นิยมใช้ในการผลิต คือ ใยสังเคราะห์ ผ้าปิดจมูกชนิดธรรมดา ทั้งชนิดผ้า และชนิดเส้นใยสังเคราะห์ มีลักษณะสวมใส่สบาย สะดวกในการใช้ โดยใช้สำหรับป้องกันฝุ่นละอองขนาดใหญ่ และฝุ่นละอองที่กระจายอยู่ในอากาศ

ผ้าปิดจมูกชนิดธรรมดา ใช้สำหรับป้องกันละอองขนาดใหญ่ และละอองฟุ้งกระจายในอากาศ มักแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำหรือผู้ที่อยู่ในภาวะที่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้สวมใส่ เช่น ผู้ป่วยที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำ ผู้ป่วยวัณโรคระยะแพร่กระจายเชื้อผู้ที่เป็นหวัด เป็นต้น

การปฏิบัติเมื่อใช้ผ้าปิดจมูกชนิดธรรมดา
1. ไม่ใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูกร่วมกับผู้อื่น
2. ให้เปลี่ยนผ้าปิดปาก ปิดจมูกทันทีที่เปียกชื้นหรือเปื้อน
3. หลังใช้แล้วไม่นำมาคล้องคอ
4. หลังถอดผ้าปิดปาก ปิดจมูก ต้องล้างมือ

2. ผ้าปิดจมูกชนิดกรองพิเศษ
ผ้าปิดจมูกชนิดกรองพิเศษ คือ ผ้าปิดจมูกโดยเฉพาะที่ใช้สำหรับป้องกันมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ และร่างกายอย่างรุนแรง โดยผ้าปิดจมูกชนิดกรองพิเศษมีหลายชนิดจึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม ในที่นี้กล่าวถึงชนิด N95 ผ้าปิดปาก ปิดจมูกชนิดนี้ สามารถป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้โดยสามารถกรองอนุภาคขนาด 1-5 ไมครอน ได้อย่างน้อยร้อยละ 95

การปฏิบัติเมื่อใช้ผ้าปิดจมูกชนิดกรองพิเศษ
1. เปลี่ยนผ้าปิดปาก ปิดจมูกใหม่ทันทีเมื่อมีรอยเปื้อนต่างๆหรือชื้นแฉะ
2. ให้ใช้เฉพาะบุคคล ไม่ใช้ร่วมกับคนอื่น
3. ผ้าปิดจมูกที่เคยใช้ หากต้องการเก็บไว้ใช้ใหม่ ให้พิจารณาว่ามีการเปื้อนมากน้อยเพียงใด ทำความสะอาดได้หรือไม่ โดยเฉพาะด้านที่สัมผัสกับอากาศภายนอก รวมทั้งไม่หัก/พับ/งอ เนื่องจาก ทำให้เสียรูปทรง และเกิดรอบยับซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการกรองเชื้อโรคลดลง
4. ล้างมือก่อนการสวมใส่ และหลังการถอดใส่ทุกครั้ง
5. การไอ จาม หรือพูดคุยขณะสวมใส่ผ้าปิดปาก ปิดจมูกชนิดกรองพิเศษอาจทำให้อากาศภายนอกรั่วเข้าไปได้
6. การสวมใส่ผ้าปิดปาก ปิดจมูกชนิดกรองพิเศษที่ไม่กระชับแนบสนิทมีผลต่อประสิทธิภาพของการกรองเชื้อโรค

การเลือกใช้ผ้าปิดจมูก
1. ชนิดคลุมเต็มใบหน้า (Full Face Mask) เมื่อสวมใช้จะต้องครอบมิดทั่วทั้งใบหน้า
2. ชนิดคลุมครึ่งใบหน้า (Half Face Mask) เมื่อสวมใช้ จะต้องครอบมิดทั่วบริเวณจมูก ทั่วปาก และคาง
3. ชนิดคลุมเฉพาะส่วนสำคัญของใบหน้า (Quarter Face Mask) เมื่อสวมใช้ จะต้องครอบมิดเฉพาะบริเวณจมูก และปาก

หน้ากากอนามัย (Protective Mask)
1. หน้ากากป้องกันก๊าซพิษ
หน้ากากป้องกันก๊าซพิษ เช่น หน้ากากคาร์บอนฟิลเตอร์ เป็นหน้ากากที่ผลิตได้จากแผ่นกรอง ที่สามารถกรองป้องกันก๊าซพิษไม่ให้ถูกสูดผ่านเข้าทางลมหายใจ ประสิทธิภาพการกรองหรือป้องกันก๊าซพาจะขึ้นอยู่กับชนิดของแผ่นกรอง

2. หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง และมลพิษ
หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง และมลพิษ เป็นหน้ากากที่ผลิตได้จากเยื่อกระดาษ หรือผ้า มีทั้งชนิดที่มีแผ่นกรอง และชนิดไม่มีแผ่นกรอง หน้ากากชนิดนี้ หากใช้เยื่อกระดาษ หรือผ้าอย่างเดียวจะต้องมีความละเอียดสูง เพราะฝุ่นละอองมีขนาดเล็กมาก และหากเสริมแผ่นกรองเข้าไปด้วยจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกรองได้มากขึ้น

หน้ากากชนิดนี้ นอกจาก กรองฝุ่นละอองขนาดเล็กได้แล้ว ยังสามารถกรองจุลินทรีย์หรือเชื้อโรคได้บางส่วนด้วย อีกทั้งมีน้ำหนักเบา และสวมใส่ง่าย แต่มีข้อเสีย คือ ช่องว่างของผ้ากรองหรือแผ่นกรองมีขนาดเล็กมาก ทำให้สูดหายใจลำบาก สวมใส่ได้ไม่นาน และหน้ากากนี้ หากใช้แล้วควรทิ้ง ไม่ควรนำกลับมาใช้ใหม่ ส่วนประสิทธิภาพการจะแตกต่างกัน เช่น หน้ากากกันฝุ่นชนิด N-95 มีประสิทธิภาพกรองเชื้อโรคขนาด 0.3 ไมครอน ได้ 95% แต่เชื้อแบคทีเรีย และไวรัส ส่วนมากจะผ่านเข้าไปได้ เพราะเชื้อส่วนมากมีขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอน

3. หน้ากากสวมใส่ขณะผ่าตัด (Surgical Mask)
หน้ากากสวมใส่ขณะผ่าตัด เป็นหน้ากากที่ใช้มากในทางการแพทย์ โดยเฉพาะเวลาผ่าตัดคนไข้ ซึ่งแพทย์ และพยาบาลจะต้องสวมทุกครั้งขณะทำการผ่าตัด ช่วยป้องกันการติดเชื้อจากเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่อาจกระเด็นเข้าตา ปาก และจมูก รวมถึงช่วยป้องกันเสมหะหรือน้ำลายของแพทย์ที่อาจจะกระเด็นเข้าแผลผ่าตัดหรือปนเปื้อนไปกับอุปกรณ์ผ่าตัด แต่หน้ากากชนิดนี้ ไม่สามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรคหรือเชื้อของโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆได้

4. หน้ากากชนิดเปลี่ยนแผ่นกรอง
หน้ากากชนิดนี้ ใช้แล้วไม่ต้องทิ้ง แต่นำมาใช้ซ้ำได้ ด้วยการถ่ายแผ่นกรองอากาศใหม่ แต่ต้องคอยทำความสะอาดส่วนอื่นๆของหน้ากาก มีข้อดี คือ น้ำหนักเบา ใช้งานได้สะดวก ใช้งานได้ทนนาน เนื่องจาก ทำด้วยยาง แต่มีข้อเสีย คือ เมื่อสวมใส่จะพูดคุยกับคนอื่นลำบาก เพราะหน้ากากคลุมชิดทั่วบริเวณปาก

5. หน้ากากที่มีเครื่องดูดอากาศ
หน้ากากที่มีเครื่องดูดอากาศ เป็นหน้ากากที่ติดตั้งมอเตอร์ดูดอากาศไว้ส่วนหน้า ก่อนส่งอากาศผ่านแผ่นกรองเข้าสู่ช่องหายใจภายในหน้ากาก

6. หน้ากากป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจ (Respiratory Protective Mask)
หน้ากากป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจ เป็นหน้ากากที่สามารถกรองเชื้อโรคจากอากาศภายนอกได้ โดยมีส่วนประกอบเป็นแผ่นกรองอากาศ และกรองเชื้อเป็นหัวใจหลัก และแตกต่างจากหน้ากากป้องกันฝุ่นละออง คือ แผ่นกรองมีความละเอียดสูง หรือมีระบบกำจัดเชื้อติดตั้งด้วย สามารถกรองเชื้อที่มีขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้ โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับคุณสมบัติของแผ่นกรองเป็นสำคัญ เช่น
– ระบบแผ่นกรองที่กรองเชื้อโรคด้วยการอาศัยช่องว่างขนาดเล็ก
– ระบบการกรองด้วย Electrostatic เป็นระบบที่ใช้ไฟฟ้าสถิตเป็นตัวดักจับอนุภาคฝุ่นหรือเชื้อโรคขนาดเล็กอีกทั้ง บางยี่ห้อมีการเคลือบด้วยสารกำจัดเชื้อโรคได้ด้วย

วิธีทำผ้าปิดจมูก
1. การจัดเตรียมวัตถุดิบ
– การตัดผ้าสาลู ซึ่งสามารถตัดผ้าสาลูเพื่อการตัดเย็บเป็นผ้าปิดจมูกได้ขนาดที่มาตรฐาน ขนาดกว้าง 10 นิ้ว ยาว 14.2 นิ้ว
– การตัดผ้าสำลี ซึ่งสามารถตัดผ้าสำลีเพื่อการตัดเย็บเป็นผ้าปิดจมูกได้ขนาดที่มาตรฐาน กว้าง 9.2 นิ้ว ยาว 8.2 นิ้ว
– การเตรียมใส่ไส้ในผ้า การใส่ไส้ในผ้าซึ่งต้องใส่สำลีไว้ในผ้าสาลูให้ได้กึ่งกลางของผ้าสาลูทั้งทางด้านกว้างและทางด้านยาว เมื่อพับผ้าสาลูอีกด้านหนึ่งทบกับอีกด้านหนึ่ง ผ้าสำลีต้องชนขอบส่วนพับพอดี
– การตัดยางยืดให้ได้ขนาดยาว 12 นิ้ว

2. การเย็บด้วยจักรอุตสาหกรรม
การเย็บผ้าปิดจมูกด้วยจักรอุตสาหกรรมซึ่งต้องเย็บทั้งสี่ด้าน โดยใส่ยางยืดสองด้าน เพื่อเป็นสายในการคล้องหูด้วย

3. การบรรจุหีบห่อเตรียมส่ง โดยหีบห่อหนึ่งมีจำนวนทั้งหมด 100 ชิ้น

การควบคุมคุณภาพ
ผ้าปิดจมูกที่คุณภาพ คือ ผ้าปิดจมูกที่สะอาด ไม่มีกลิ่น การตัดเย็บได้มาตรฐาน กล่าวคือมีขนาดเท่ากันทุกชิ้น ด้ายเย็บไม่หลุด มีความคงทน มีวิธีการควบคุมคุณภาพ ดังนี้
1. ดูแลความสะอาดของพื้นที่การผลิตให้สะอาดอยู่เสมอ
2. มีมาตรการควบคุมให้พนักงานรักษาความสะอาด
3. ควบคุมการตัดเย็บผ้าปิดจมูกของพนักงานให้ได้มาตรฐาน
4. อบฆ่าเชื้อผลิตภัณฑ์ก่อนการบรรจุเพื่อจัดส่ง

การผลิตผ้าปิดจมูกสามารถทำได้ทั้งในระดับอุตสาหกรรม และครัวเรือนเพื่อเสริมรายได้ การทำผ้าปิดจมูกในระดับครัวเรือนมักจะเกิดปัญหาในเรื่องการตัดเย็บที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้โรงงานหรือผู้รับซื้อปฏิเสธสินค้า และนิยมสั่งซื้อผ้าปิดจมูกที่ผลิตจากโรงงานซึ่งได้มาตรฐาน และราคาถูกกว่า

โรงงานจะสั่งซื้อผ้าปิดจมูกมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานของแต่ละโรงงาน และความเสี่ยงจากมลพิษทางอากาศภายในโรงงานมากหรือน้อยเพียงใดด้วย ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงเรื่องการเลือกชนิดของหน้ากากอนามัยหรือผ้าปิดจมูก ซึ่งบางโรงงานมีความจำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยแบบพิเศษและป้องกันสูงสุดโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายมาก เช่น โรงงานกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตสารเคมี เป็นต้น แต่บางโรงงานซึ่งส่วนใหญ่มีการผลิตสินค้าโดยทั่วไปนั้น สามารถใช้ผ้าปิดจมูกป้องกันฝุ่นละอองในเบื้อต้นก็มีความเพียงพอ

ลักษณะการใช้ผ้าปิดจมูกในโรงงานอุตสาหกรรมมีจุดประสงค์ เพื่อป้องกันอัตรายจากมลพิษทางอากาศต่อระบบทางเดินหายใจแล้ว ยังเป็นการป้องกันน้ำลายปนเปื้อนชิ้นงานด้วย เพราะฉะนั้น ผ้าปิดจมูกในโรงงานอุตสาหกรรมมักจะเป็นวัสดุสิ้นเปลือง ที่ต้องมีการเบิกใช้เป็นประจำทุกวัน นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการผลิต มีการเบิกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่นำกลับมาใช้ซ้ำ เพราะฉะนั้น แต่ละโรงงานจะต้องมีการใช้ผ้าปิดจมูกจำนวนมาก แต่บางโรงงานอาจมีข้อจำกัดในการเบิกใช้ เช่น กำหนดให้พนักงานสามารถเบิกใหม่ได้ สัปดาห์ละ 1 ผืน เดือนละ 4 ผืน หรือปีละไม่เกิน 10 ผืน เป็นต้น ซึ่งการใช้พนักงานจะต้องนำไปซัก เพื่อกลับมาใช้งานใหม่ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วโรงงานที่ได้มาตรฐานจะกำหนดให้มีการเปลี่ยนผ้าปิดจมูกทุกวัน เพื่อสุขภาพของพนักงานตามมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยในการทำงาน