ปูนแดง และประโยชน์ปูนแดง

97940

ปูนแดง คือ ปูนที่มีส่วนผสมของปูนขาวกับผงขมิ้นร่วมกับเกลือป่นภายใต้สภาพที่มีความชื้นหรือมีการผสมน้ำ ซึ่งจะได้ก้อนปูนที่มีสีแดงส้มที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาของด่างจากปูนขาวกับสารสีเหลืองส้มของขมิ้น

คำว่า ปูนแดง เป็นคำเรียกลักษณะสีของปูนที่ปรากฏ คือ มีสีแดงส้ม แต่ทั้งนี้ สีที่ผสมได้อาจเป็นสีส้มอมแดงก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของผงขมิ้นที่ใช้ทำส่วนผสม เพราะขมิ้นบางสายพันธุ์จะให้สีเหลือง ซึ่งหากนำมาผสมจะได้ปูนแดงเป็นสีส้มอมแดง แต่บางพันธุ์ที่มีสีเหลืองอมส้มหรอมีสีส้มมาก เมื่อผสมกับปูนขาวแล้วก็จะได้ปูนแดงเป็นสีแดงอมส้มที่มีสีแดงที่เข้มข้น

ปูนแดง

ประโยชน์ของปูนแดง
1. ปูนแดงนิยมใช้ทำน้ำปูนใสสำหรับใช้ประโยชน์ในด้านอาหาร ทั้งในระดับอุตสาหกรรม และระดับครัวเรือน ได้แก่
– ใช้ทำขนมหรือของหวาน เช่น ขนมเปียกปูน ลอดช่อง เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ขนมมีความแข็งขึ้น มีความกรอบขึ้น รวมถึงช่วยในการต้านเชื้อจุลินทรีย์ ป้องกันอาหารบูดเน่า และเป็นแหล่งช่วยเสริมแคลเซียมให้แก่ร่างกาย
– ใช้ในการแช่ล้างผักหรือผลไม้ ซึ่งช่วยในการล้างยาฆ่าแมลง และช่วยตกตะกอนโลหะหนัก
– ใช้หมักเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่เปื่อยยุ่ยง่ายเมื่อถูกความร้อน ช่วยให้เนื้อคงรูปเดิมได้ดี
2. ปูนแดงใช้ประโยชน์ในทางยา ได้แก่
– การนำปูนแดงมาทาพอกบริเวณข้อมือ ข้อเข่า เพื่อช่วยลดอาการปวด และลดอาการอักเสบ หรือ นำปูนแดงมาทาพอกรักษาแผล ช่วยให้แผลแห้ง ลดน้ำหนองไหล
– ปูนแดงนำมาทาบางๆบนใบพลูสำหรับเคี้ยวกับหมาก ช่วยรักษาโรคฟันผุ และช่วยให้ฟันแข็งแรง
3. ปูนแดงใช้ประโยชน์ในทางการเกษตร ได้แก่
– ใช้ปูนแดงทาปลายกิ่งสำหรับการปักชำสำหรับช่วยให้รากงอกเร็ว และป้องกันการเน่าของรากจากเชื้อรา
– ใช้ปูนแดงทาแผลของเปลือกต้นไม้ เพื่อช่วยป้องกันเปลือกเน่าจากเชื้อรา และป้องกันด้วงเจาะต้นไม้
– ใช้ในการรักษาสภาพผักหรือผลไม้ให้เก็บได้นานขึ้น ด้วยการฉีดพรมหรือการแช่

การทำปูนแดงหรือผลิตปูนแดง
1. นำหินปูนหรือเปลือกหอยมาเผาไฟ ซึ่งจะใช้วิธีก่อกองไฟด้านล่าง และกองหินปูนไว้ด้านบน ซึ่งจะต้องคอยใส่ฟืนหรือเชื้อเพลิงให้ได้ความร้อนอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ ตามวิถีของชาวบ้านมักจะเผาประมาณ 3 วัน 3 คืน สำหรับเตาขนาดเล็ก แต่หากเตาขนาดใหญ่อาจใช้เวลานานมากกว่า 1 สัปดาห์
2. คอยมั่นตรวจสภาพการสุกขอหินปูน โดยการสังเกตง่ายๆ คือ เปลวไฟที่แทรกออกจากหินปูนจะมีเปลวสีทอง และก้อนหินปูนมีสีขาวทั่วก้อน ซึ่งจะต่างกับก่อนเผาที่มีลักษณะเป็นสีของหิน นอกจากนั้น อาจใช้วิธีนำบางก้อนที่เล็กๆออกมาบีบดู หากบีบแล้วแตกเป็นผงละเอียดก็แสดงว่าหินปูนสุกเป็นปูนขาวได้ที่แล้ว หลังจากนั้น ค่อยลดเชื้อเพลิงลงให้ดับ และปล่อยให้เย็น ก่อนจะลำเลียงออกจากเตา ซึ่งในขั้นนี้จะเรียกหินปูนที่เผาแล้วว่า ปูนก้อน
3. นำปูนก้อนเข้าเครื่องบดหรืออาจใช้วิธีการทุบ (ปริมาณน้อย) จนได้ผงสีขาวละเอียด ซึ่งจะเรียกผงนี้ว่า ปูนขาว (ประกอบด้วยแคลเซียม,Ca และออกซิเจน,O)
4. นำผงปูนขาวเทลงใส่บ่อผสมหรือที่เรียกว่าบ่อกรองที่ก่อด้วยอิฐมอญ อาจเป็นบ่อสีเหลี่ยมหรือบ่อวงกลม ลึกประมาณ 1 เมตร หรือ ขึ้นกับปริมาณที่ต้องการผสม
5. นำผงขมิ้น และเกลือเทลงผสม พร้อมใช้จอบหรือพลั่วคลุกให้เข้ากัน พร้อมกับเติมน้ำลงคลุกผสมจนได้น้ำปูนเหลวที่มีสีส้มแดงหรือแดงเรื่อตามชนิดของขมิ้นที่ใช้ ซึ่งขณะที่เติมน้ำลงผสมจะเกิดความร้อนแผ่ออกมามาก ผู้ทำหน้าที่คลุกผสม ควรระวังห้ามลงผสมในบ่อ โดยไม่สวมรองเท้าบูท หรือ ให้ใช้จอบยืนคลุกผสมเหนือบ่อจะปลอดภัยกว่า
6. เมื่อทำการกวนผสมจนเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว ให้ตักน้ำปูนแดงมากรองผ่านผ้าขาวบางลงในบ่อตาก เพื่อกรองตะกอนหรือเศษวัสดุอื่นออก จากนั้น จึงปล่อยให้น้ำแห้งประมาณ 3-4 วัน จะได้เนื้อปูนแดงที่มีลักษณะเกือบเป็นโคลน ซึ่งเรียกปูนที่จับตัวกันในบ่อว่า ปูนแดง
7. หลังจากนั้น ก็ทำการตักเนื้อปูนแดงใส่ถุงบรรจุหรืออาจปั้นเป็นก้อน แล้วนำมาผึ่งแดดให้แห้ง ก็ส่งจำหน่าย

ปูนแดง1

ขอบคุณภาพจาก www.subtawon.com