ปุ๋ยเคมี หลักการซื้อ และใช้ปุ๋ยเคมี

108831

ปุ๋ยเคมี (chemical fertilizer) ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 หมายถึง ปุ๋ยที่ได้จากสารอนินทรีย์หรือสารอินทรีย์สังเคราะห์ ที่อาจเป็นปุ๋ยเชิงเดี่ยว เช่น ปุ๋ยยูเรียหรือแอมโมเนียมซัลเฟต หรืออาจเป็นปุ๋ยเชิงผสม ปุ๋ยเชิงประกอบ ปุ๋ยสูตรต่างๆ รวมทั้งปุ๋ยอินทรีย์เคมี ซึ่งได้แก่ ปุ๋ยที่มีปริมาณธาตุอาหารที่แน่นอน แต่ไม่รวมถึง
1. ปูนขาว ดินมาร์ล ปูนปลาสเตอร์ ยิปซัม โดโลไมล์ หรือสารอื่นที่รัฐมนตรี กำหนดโดยประกาศในราชกิจนุเบกษา
2. สารอนินทรีย์หรืออินทรีย์ ทั้งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรือทำขึ้นก็ตาม โดยมุ่งหมายสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมหรือกิจการอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ปุ๋ยเคมี เป็นปุ๋ยที่ได้จากสารอนินทรีย์หรืออินทรีย์สังเคราะห์ ที่มีธาตุอาหารหลัก N-P-K โดยมักผลิตได้จากสารตั้งต้น คือ ก๊าซแอมโมเนีย (NH3) หรือผลิตได้จากกระบวนการสังเคราะห์น้ำมัน และนำมารวมกับกรด โดยผ่านขบวนการทางเคมี จะได้ธาตุ N-P-K ออกมาเป็นแม่ปุ๋ยสูตรต่างๆ แล้วแต่ว่าจะใช้กรดชนิดใดในการทำปฏิกิริยา (ดังนั้น หากใช้ปุ๋ยเคมีไม่ถูกวิธีจะทำให้ดินเป็นกรดหรือเค็มเร็ว)

chemical-fertilizer1

ธาตุอาหารในปุ๋ยเคมี แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. ธาตุอาหารหลัก ประกอบด้วย ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม
2. ธาตุอาหารรอง ประกอบด้วย แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน
3. ธาตุอาหารเสริม ประกอบด้วย เหล็ก แมงกานีส สังกะสี ทองแดง โบรอน โมลิดินัม และคลอรีน

หน้าที่ของแร่ธาตุ
1. ไนโตรเจน ใช้สำหรับบำรุงยอด ใบ กิ่ง และลำต้น สำหรับในกระบวนการสร้างอะมิโนแอสิด นิวคลีอิก แอสิด คลอโรฟิลล์ โปรตีน และเอนไซม์
2. ฟอสฟอรัส ใช้สำหรับบำรุงราก ดอก ผล สำหรับสร้างยีน เยื่อผนังเซลล์ และเอนไซม์ ทำหน้าที่สลายแป้งเป็นน้ำตาล และสังเคราะห์น้ำตาลเป็นแป้ง ทำหน้าที่เป็นตัวนำการสร้างพลังงานเพื่อนำแร่ธาตุส่งไปเลี้ยงส่วนต่างๆของต้นพืช
3. โพแทสเซียม ใช้สำหรับกระบวนการสร้างแป้ง และน้ำตาลในลำต้น ใบ ผลหรือเมล็ด เร่งการดูดซับไนโตรเจน และการสังเคราะห์แสง
4. แคลเซียม ใช้สำหรับบำรุงดอก ผล ขั้วผล และเมล็ด ปรับสมดุลฮอร์โมน
5. แมกนีเซียม ใช้สำหรับกระบวนการสร้างอาหาร และโปรตีน เป็นส่วนประกอบของคลอโรฟิลล์  ช่วยในการเคลื่อนย้ายฟอสฟอรัส ช่วยในการสังเคราะห์อะมิโนแอสิด ไขมัน วิตามิน และน้ำตาล
6. กำมะถัน ช่วยในการหายใจ การปรุงอาหาร เพิ่มกลิ่นของดอก และผล
7. เหล็ก ช่วยในการหายใจ บำรุงยอดอ่อนให้มีประสิทธิภาพการสังเคราะห์แสง และคลอโรฟิลล์ และช่วยในการดูดซึมอาหาร และเป็นองค์ประกอบของเอนไซม์หลายชนิด
8. ทองแดง ช่วยเสริมระบบฮอร์โมน เสริมการออกดอก ผล เพิ่มโมเลกุล และคลอโรฟิลล์ ช่วยในการลำเลียงเหล็กไปเลี้ยงส่วนต่างๆ  ช่วยในการคายน้ำ เพิ่มกลิ่น เพิ่มสี และรสหวาน
9. สังกะสี ช่วยในการสร้างน้ำย่อย ขยายดอก เพิ่มความแข็งแรง และช่วยต้านสภาวะอ่อนไหวจากสภาพการเปลี่ยนแปลงของอากาศ
10. แมงกานีส ช่วยในการสังเคราะห์แสง ช่วยสร้างส่วนสีเขียว กระตุ้นการทำงานของน้ำเลี้ยง เสริมการทำงานของธาตุเหล็ก และสร้างวิตามินที่ขาดแคลน
11. โมลิบดินั่ม ช่วยเสริม และตรึงธาตุไนโตรเจน เสริมสร้างส่วนสีเขียว เปลี่ยนไนเตรทให้เป็นไนไตรท์ ทำให้พืชนำไนโตรเจนไปใช้ได้ง่ายขึ้น
12. ซิลิก้า ช่วยสร้างความแข็งแรงให้แก่เซลล์พืช
13. โบรอน ช่วยในการสังเคราะห์แสง เสริมแคลเซียม โพแทสเซียม และโซเดียม ช่วยเพิ่มรส และขนาดผล
14. โซเดียม และคลอรีน ช่วยเร่งใบ และผลให้แก่เร็ว
15. วิตามินอี ช่วยลดความเครียดของพืช กระตุ้นการเจริญเติบโต
16. วิตามินบี ช่วยในการบำรุงราก ซ่อมแซมเซลล์ราก และช่วยสร้างเซลล์รากใหม่

การผลิตปุ๋ยเคมี
ประเทศไทยยังไม่มีโรงงานผลิตแม่ปุ๋ย เพราะต้นทุนการผลิตสูง ปัจจุบันจึงใช้วิธีการนำเข้าแม่ปุ๋ยจากต่างประเทศ เช่น ยูเรีย แอมโมเนียเหลว หินฟอสเฟต และโพแทสเซียมคลอไรด์ เป็นต้น แม่ปุ๋ยที่ได้จะนำมาผลิตปุ๋ยตามสูตรที่ต้องการ โดยการผสมแม่ปุ๋ยหนึ่งตัวหรือทั้งสามตัว เช่น ปุ๋ยสูตร 16–8–8 หมายความว่า ในเนื้อปุ๋ย 100 กิโลกรัม จะประกอบด้วยไนโตรเจน 16 กิโลกรัม ฟอสฟอรัส 8 กิโลกรัม และโปแตสเซียม 8 กิโลกรัม รวมเป็น 32 กิโลกรัม และส่วนที่เหลืออีก 68 กิโลกรัม จะเป็นสารเติมแต่ง (ฟิลเลอร์) เช่น ดินขาว (Clay) สำหรับเพิ่มปริมาณให้ครบในจำนวน 100 กิโลกรัม

ดินขาวที่ใช้ถือเป็นสารช่วยในการยึดเกาะของเนื้อปุ๋ย ทำให้ปั้นหรืออัดเป็นเม็ดได้ เม็ดปุ๋ยเกิดความแข็ง ไม่แตกร่วนเป็นผงในขณะเก็บรักษานานๆ รวมถึงช่วยเหนี่ยวรั้งแร่ธาตุอาหารหลัก โดยเฉพาะไนโตรเจน ไม่ให้สลายตัวเมื่อสัมผัสกับอากาศ แต่ดินขาวไม่ได้มีประโยชน์ต่อพืชมากนัก แต่ในทางกลับกันจะมีข้อเสียมากกว่า เพราะดินขาวมีคุณสมบัติช่วยในการยึดเกาะของอนุภาคดิน ซึ่งจะแทรกตัวในช่องว่างของดิน ทำให้เม็ดดินจับตัวกันแน่นขึ้น ซึ่งจะสังเกตได้ว่าแปลงเกษตรที่ใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมากหรือใช้ติดต่อกันนานๆ จะมีลักษณะเนื้อดินแน่น แข็ง จับตัวเป็นแผ่นหรือก้อน มีลักษณะแห้งง่ายเมื่อขาดน้ำ ไม่มีไส้เดือน เป็นต้น

ชนิดปุ๋ยเคมี
1. ปุ๋ยเชิงเดี่ยว (straight fertilizer)
เป็นปุ๋ยเคมีที่มีธาตุอาหารหลักเพียงธาตุเดียว อาจเป็นธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส หรือ โพแทสเซียม เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ที่มีธาตุไนโตรเจนเพียงธาตุเดียว หรือปุ๋ยสูตร 46-0-0

46-0-0

2. ปุ๋ยเชิงผสม (mixed fertilizer)
เป็นปุ๋ยเคมีที่มีการผสมของปุ๋ยเคมีเชิงเดี่ยวมากกว่าหนึ่งชนิดเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้ธาตุอาหารตามที่ต้องการ เช่น ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ที่เป็นการผสมแม่ปุ๋ยทั้งไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม

15-15-15

3. ปุ๋ยเชิงประกอบ (compound fertilizer)
เป็นปุ๋ยเคมีที่ผลิตขึ้นด้วยกระบวนการทางเคมีที่ประกอบด้วยธาตุปุ๋ยอย่างน้อยสองธาตุขึ้นไป ซึ่งธาตุปุ๋ยชนิดต่างๆจะอยู่รวมกันในสารประกอบเดียวกัน เช่น สารประกอบหรือแม่ปุ๋ยโพแทสเซียมไนเตรต (KNO3) ไดแอมโมเนียมฟอสเฟต [(NH4)2 HPO4] และโพแทสเซียมเมตาฟอสเฟต (KPO3)

สูตรปุ๋ยหรือเกรดปุ๋ย (fertilizer grade)
เป็นการใช้สัญญลักษณ์ตัวเลขสำหรับบ่งบอกเปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักของปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด  (total nitrogen) ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ (available P2O5)  และปริมาณโพแทสเซียมที่ละลายน้ำได้ (K2O) ซึ่งตัวเลขดังกล่าวจะเขียนไว้ที่กระสอบปุ๋ย

เช่น สูตร 15-15-15 สามารถอธิบายได้ว่า
1. ตัวเลขแรก บอกปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด 15 กิโลกรัม ในปุ๋ยหนัก 100 กิโลกรัม
2. ตัวเลขตัวที่สอง บอกปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ 15 กิโลกรัม ในปุ๋ยหนัก 100 กิโลกรัม
3. ตัวเลขตัวที่สาม บอกปริมาณโพแทสเซียมที่ละลายน้ำได้ 15 กิโลกรัม ในปุ๋ยหนัก 100 กิโลกรัม

แสดงว่า หากเกษตรกรซื้อปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 จำนวน 2 กระสอบ กระสอบละ 50 กิโลกรัม รวมเป็น 100 กิโลกรัม เท่ากับซื้อธาตุอาหารปุ๋ยเพียง 45 กิโลกรัม เท่านั้น แต่เกษตรกรสามารถซื้อแม่ปุ๋ยมาผสมให้เป็นปุ๋ยสูตรต่างๆ ได้ด้วยตนเองสำหรับใช้ตามความต้องการของชนิดพืชที่ปลูก แม่ปุ๋ยที่นิยมซื้อมาผสมเอง ได้แก่
1. แม่ปุ๋ยไนโตรเจน ได้แก่ ปุ๋ยยูเรีย ประกอบด้วยไนโตรเจนทั้งหมด ร้อยละ 46
2. แม่ปุ๋ยฟอสฟอรัส ได้แก่ ปุ๋ยทริปเปิลซุปเปอร์ฟอสเฟส ประกอบด้วยฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ร้อยละ 46 และปุ๋ยไดแอมโมเนียมฟอสเฟต ประกอบด้วยไนโตรเจนทั้งหมดร้อยละ 18 และมีฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ร้อยละ 46
3. แม่ปุ๋ยโพแทสเซียม ได้แก่ ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ ประกอบด้วยโพแทสเซียมที่ละลายน้ำได้ร้อยละ 60

เรโชปุ๋ย (fertilizer ratio) หมายถึง สัดส่วนอย่างต่ำที่เป็นเลขลงตัวระหว่างปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ และโพแทสเซียมที่ละลายน้ำได้ เช่น ปุ๋ยสูตร 15-15-15 แสดงค่าเรโชระหว่าง N : P2O5 : K2O เท่ากับ 1 : 1 : 1

อัตราปุ๋ย หมายถึง ปริมาณปุ๋ยแต่ละสูตรที่ใส่ให้แก่พืชต่อหน่วยพื้นที่หนึ่งไร่หรือต่อหนึ่งต้น ตัวอย่างการใส่ปุ๋ยที่มีเรโซเท่ากัน เช่น ปุ๋ยสูตร 10-10-10 และ 15-15-15 มีเรโซเท่ากันที่ เท่ากับ 1 : 1 : 1 ดังนั้น การใส่ปุ๋ยทั้งสองสูตรสามารถใช้ทดแทนกันได้ เพียงแค่ปรับปริมาณการใช้ตามขนาดพื้นที่ตามอัตราที่กำหนดเท่านั้น เช่น หากแต่ก่อนใส่ปุ๋ยสูตร 10-10-10 อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ แต่ต้องการเปลี่ยนใช้สูตร 15-15-15 ก็ปรับอัตราใช้เป็นเพียง 33.3 กิโลกรัม/ไร่ เท่านั้น ซึ่งปริมาณธาตุอาหารที่ใส่จะมีปริมาณเท่ากัน

หลักการซื้อปุ๋ยเคมี
1. เป็นปุ๋ยที่ได้รับการขึ้นทะเบียน และขออณุญาตผลิตอย่างถูกต้อง
– ตรวจสอบรายชื่อเลขทะเบียนข้างปุ๋ยจากกรมวิชาการเกษตรที่อนุญาตให้ผลิตได้
2. กระสอบปุ๋ยต้องประกอบด้วยข้อความเหล่านี้
– มีชื่อการค้าหรือชื่อยี่ห้อ
– มีหมายเลขทะเบียนผู้ผลิตหรือจำหน่าย
– ระบุคำว่า ปุ๋ยเคมี
– มีที่อยู่บริษัทผู้ผลิต
– ระบุสูตรปุ๋ยที่แน่นอน เช่น 15-15-15, 12-12-17 เป็นต้น
– บอกน้ำหนักสุทธิ (หน่วย กิโลกรัม) มีแบบ 25 กิโลกรัม และ 50 กิโลกรัม
3. ปุ๋ยปลอม ปุ๋ยแท้
– ปุ๋ยเคมีแท้ เมื่อบีบเม็ดปุ๋ยจะแตกยาก เม็ดปุ๋ยแข็ง
– ปุ๋ยเคมีแท้ หากสัมผัสน้ำจะอ่อนตัวยาก ปุ๋ยเคมีปลอม เมื่อสัมผัสน้ำจะยุ่ยง่าย
– ปุ๋ยเคมีแท้มีขนาดเม็ดปุ๋ยเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน ไม่มีเม็ดเล็กหรือใหญ่แตกต่างกัน

หลักการใช้ปุ๋ยเคมี
การใช้ปุ๋ยเคมีที่ประสิทธิภาพขึ้นกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ผู้ใช้ต้องพิจารณาหลักเกณฑ์อย่างน้อย 4 ด้าน คือ
1. การเลือกใช้ชนิดปุ๋ยให้ถูกต้อง
– ปุ๋ยสูตร ตัวเลขตัวแรกมาก เน้นบำรุงใบ กิ่ง และลำต้น โดยเฉพาะพืชผัก
– ปุ๋ยสูตร ตัวเลขตรงกลางมาก เน้นบำรุงราก และการสร้างเซลล์พืช จึงควรมีสูตรปุ๋ยนี้ในทุกชนิดพืชที่ใช้
– ปุ๋ยสูตร ตัวเลขที่สามมาก เน้นบำรุงผลหรือหัว อาทิ มันสำปะหลัง มันฝรั่ง
2. การใช้ในปริมาณที่เหมาะสม
– พืชแต่ละชนิดต้องการปุ๋ยที่แตกต่างกัน
– การใส่ปุ๋ยมากเกินความต้องการทำให้เสียค่าปุ๋ยโดยเปล่า และทำให้ดินเค็มเร็ว
3. การใส่ให้กับพืชในระยะที่เหมาะสม
– ระยะต้นกล้าหรือเร่งสร้างใบ กิ่ง และลำต้น ควรเน้นใส่ปุ๋ยที่มีสูตรตัวเลขอันแรกมาก เช่น 12-6-6
– ระยะก่อนออกดอก ออกดอก และติดผล ควรเน้นใส่ปุ๋ยที่มีสูตรตัวเลขอันแรกมาก เช่น 12-12-24
– ผักชนิดต่่างๆ ควรเน้นใช้ปุ๋ยที่ตัวเลขตัวแรกมาก เช่น 25-7-7
– ในฤดูที่ฝนตกชุก ควรหลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ย เพราะอาจทำให้ปุ๋ยละลาย และชะไปกับน้ำฝน
4. การใส่โดยใช้วิธีการที่ถูกต้อง
– พืชในระยะต้นอ่อนหรือพืชที่ลำต้นอ่อนนุ่ม ควรละลายปุ๋ยกับน้ำรด
– การใส่ปุ๋ยเม็ด ควรใส่ข้างลำต้น ให้ห่างจากโคนต้น 20-30 เซนติเมตร

ข้อดีปุ๋ยเคมี
– มีปริมาณธาตุอาหารต่อหน่วยน้ำหนักสูง ใช้ในปริมาณน้อยก็เพียงพอกับความต้องการของพืช
– ละลายน้ำได้ดี และปลดปล่อยธาตุอาหารได้เร็ว พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที
– หาซื้อง่ายตามท้องตลาด ตามร้านขายของด้านการเกษตร
– ถูกบรรจุในถุง สามารถขนส่ง และเคลื่อนย้ายได้ง่าย

ข้อเสียปุ๋ยเคมี
– มีส่วนผสมของดินขาว เมื่อใช้มากหรือใช้ในระยะเวลาต่อเนื่องหลายปีจะทำให้เนื้อดินแน่น ดินเกาะกันเป็นก้อน ระบายน้ำไม่ดี
– หากใส่ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวจะทำให้ปริมาณอินทรีย์วัตถุในดินน้อยลง ปริมาณจุลินทรีย์ และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในดิน เช่น ไส้เดือน มีปริมาณน้อยลง
– ดินมีความเป็นกรดเพิ่มมากขึ้นจากปริมาณธาตุอินทรีย์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าความเค็มในดินเพิ่มขึ้น
– หากใส่มากเกินไปอาจเป็นพิษต่อพืช
– หากใส่ไม่ถูกต้องอาจทำให้ธาตุอาหารสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายสูงขึ้น
– ต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องปุ๋ยเคมี หากเลือกซื้อโดยขาดความเข้าใจ เช่น ปุ๋ยสูตรใดเหมาะกับพืชที่ปลูกหรือปุ๋ยสูตรใดเหมาะกับระยะเติบโตของพืช อาจทำให้ซื้อปุ๋ยมาโดยไม่คุ้มค่า