ปุ๋ยอินทรีย์

55053

ปุ๋ยอินทรีย์ (organic fertilizer) หมายถึง ปุ๋ยที่ได้จากสารอินทรีย์หรือวัสดุอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นโดยกรรมวิธีต่างๆ อาทิ การสับ การบด การหมัก การร่อน การสกัด หรือด้วยวิธีการอื่นๆ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพด้วยย่อยสลายของจุลินทรีย์ก่อนที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อพืช

รูปแบบการผลิตปุ๋ยอินทรีย์
1. การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยการกองในหลุมหรือกองพื้นสูง และนำไปใช้โดยไม่ผ่านการอัดเม็ด
2. การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยการกองในหลุมหรือกองพื้นสูง และนำไปใช้โดยผ่านการอัดเม็ด

ความสำคัญของปุ๋ยอินทรีย์
ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นปุ๋ยที่มีความสำคัญต่อการปรับปรุงดิน และให้แร่ธาตุอาหารแก่พืช เพราะประกอบด้วยอินทรียวัตถุ และแร่ธาตุต่างๆที่จะทำให้ดินมีสภาพดีขึ้น พร้อมช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้อย่างเหมาะสม โดยปุ๋ยอินทรีย์มีความสำคัญ ดังนี้

organic-fertilizer1

1. ปุ๋ยอินทรีย์มีแร่ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และธาตุอาหารรอง รวมถึงจุลชีพที่พอเพียงหรือพอเพียงต่อความต้องการของพืช
2. การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในระยะแรกอาจทำให้พืชมีผลผลิตไม่มากนัก แต่หากใช้ในระยะยาว ผลผลิตพืชจะเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์ทำให้คุณสมบัติของดินดินดีขึ้นเรื่อยๆ
3. ปุ๋ยอินทรีย์ช่วยให้ความเป็นกรด-ด่างของดินมีความเหมาะสมต่อการเติบโตของพืช และช่วยให้ความเป็นกรด-ด่างเปลี่ยนแปลงได้ยากขึ้น รวมถึงช่วยในการดูดยึดธาตุอาหารไว้ในดินได้มากขึ้น
4. ช่วยให้อนุภาคของดินจับตัวกันเป็นก้อนหรือเม็ดดินได้ดี เนื้อดินไม่อัดตัวกันแน่น มีความร่วนซุย การถ่ายเทอากาศ การอุ้มน้ำ และการไหลซึมของน้ำในดินดีขึ้น
5. ช่วยให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดินสามารถเจริญเติบโตได้ดี เนื่องจากอินทรีย์วัตถุสามารถเอื้อประโยชน์ และสร้างสภาวะที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต

6. ช่วยเพิ่มความสามารถในการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุในดินให้ดีขึ้นจากปริมาณจุลินทรีย์ในดินที่เพิ่มขึ้น
7. เป็นปุ๋ยที่สามารถหาได้ง่าย และทำขึ้นได้ง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน รวมถึงวัตถุดิบที่ใช้มีราคาถูกสามารถใช้วัตถุดิบทั่วไปตามท้องถิ่น
8. มีวิธีการการใส่ไม่ยุ่งยาก และไม่เป็นอันตรายหรือมีผลข้างเคียงต่อเกษตรกร
9. ธาตุอาหารในปุ๋ยอินทรีย์มีโอกาสสูญเสียจากการซึม การไหลบ่าของน้ำ การเสื่อมสภาพ เนื่องจากสารอาหารหรือแร่ธาตุจะเป็นองค์ประกอบในสารอินทรีย์เหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม การใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพียงอย่างเดียวทำให้มีข้อเสียพอสมควร ได้แก่
– การใส่ปุ๋ยอินทรีย์มากเกินความจำเป็นจะเป็นการเพิ่มแร่ไนโตรเจนมากเกินควรทำให้พืชเติบโตเฉพาะในส่วนใบ และลำต้น ทำให้ผลผลิตของผลหรือเมล็ดน้อย
– ปุ๋ยอินทรีย์มีปริมาณธาตุอาหารหลักน้อย หากต้องการผลผลิตมากจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีที่มีแร่ธาตุอาหารหลักสูงร่วมด้วย
– การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในปริมาณมากอาจมีค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ค่าแรง ค่าน้ำมัน มากกว่าการใส่ปุ๋ยเคมีแต่เพียงอย่างเดียว

organic-fertilizer2

ชนิดปุ๋ยอินทรีย์
1. ปุ๋ยหมัก (composts fertilizer)
ปุ๋ยหมัก หมายถึง ปุ๋ยที่ได้จากการหมักซากพืช ซากสัตว์ รวมถึงมูลสัตว์ เพื่อให้จุลินทรีย์ย่อยสลายอินทรีย์สารจนผุพังกลายเป็นอาหารแก่พืช ด้วยการนำวัตถุดิบเหล่านั้นมากองรวมกัน และรดน้ำให้ชื้นแล้วนำผ้าพลาสติกมาคลุม และปล่อยให้เกิดการย่อยสลาย การแปรสภาพ จนกลายเป็นเศษอินทรีย์วัตถุสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม ที่มีลักษณะพรุน ยุ่ย มีความร่วนซุยจนถึงขั้นเป็นฮิวมัส ก่อนนำไปใช้บำรุงดินหรือว่านโรยแก่พืช

2. ปุ๋ยคอก (farmyard manure)
ปุ๋ยคอก หมายถึง ปุ๋ยที่ได้จากมูลของสัตว์ ทั้งในรูปของเหลว และของแข็งที่สัตว์ขับถ่ายออกมารวมถึงน้ำล้างคอก เศษฟาง และวัสดุรองคอกที่รวมกันกับมูลสัตว์ ปุ๋ยชนิดนี้ ไม่จำเป็นต้องเตรียมให้มีขนาดเล็ก เนื่องจากถูกย่อยจากตัวสัตว์มาแล้ว ถือเป็นปุ๋ยฮิวมัสที่ประกอบด้วยอินทรีย์สาร และจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์จำนวนมาก ทั้งนี้จะมีมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์ และอาหารที่สัตว์กิน ปุ๋ยคอกที่นิยมนำมาใช้มากในปัจจุบัน ได้แก่ มูลโค มูลกระบือ มูลสุกร มูลไก่ มูลนก และมูลสัตว์อื่นๆ

3. ปุ๋ยพืชสด (green manure)
ปุ๋ยพืชสด หมายถึง ปุ๋ยที่ได้จากต้นพืชในแปลงไร่นาที่ปลูกให้เจริญเติบโตจนถึงระยะที่เหมาะสมในการไถกลบลงดินขณะที่พืชยังยืนต้นอยู่ เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุหรือธาตุอาหารให้แก่ดินจาการเน่าเปื้อย และย่อยสลายหลังการไถกลบ และเป็นการเพิ่มปริมาณธาตุอาหาร และเชื้อจุลินทรีย์ให้แก่ดินโดยตรง โดยเฉพาะการปลูกพืชตระกูลถั่วที่มีเชื้อไรโซเบียม และธาตุไนโตรเจนที่พืชตระกูลถั่วตรึงได้ โดยพืชที่ปลูกจะเรียกว่า “พืชปุ๋ยสด” (green manure crop)

การผลิตปุ๋ยอินทรีย์
ขั้นตอนที่ 1
การเตรียมฟางข้าวหรือเศษวัชพืช  เชื้อจุลินทรีย์ซุปเปอร์พด.1 อัตราส่วนของเศษพืช 1,000 กก.  มูลสัตว์ 200-400 กก. และเชื้อจุลินทรีย์ พด.1 จำนวน 1 ซอง/ชั้น

ขั้นตอนที่ 2
ให้กองปุ๋ยชั้นที่ 1 โดยนำเศษพืชมาวางในพื้นที่กว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร ให้สูง 40 ซม.

ขั้นตอนที่ 3
ใส่มูลสัตว์ 50-100 กก. โดยโรยให้ทั่วบนพื้นที่กองเศษพืชเพื่อช่วยในการย่อยสลาย และเพิ่มธาตุอาหาร

ขั้นตอนที่ 4
รดน้ำที่ผสมหัวเชื้อซุปเปอร์ พด.1 ประกอบด้วยเชื้อจุลินทรีย์ 3 ชนิด ได้แก่ เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อแอคติโนไมซิท ด้วยการแช่น้ำไว้นาน 15 นาที ก่อนนำมารดบนหลังโรยมูลสัตว์ เพื่อให้เชื้อจุลินทรีย์เจริญเติบโต และช่วยย่อยสลายเศษพืช รวมถึงมูลสัตว์

ขั้นตอนที่ 5
ให้นำเศษพืชมากองทับอีกชั้น และทำตามขั้นตอนข้างต้น จนได้ชั้นประมาณ 4 ชั้น

ขั้นตอนที่ 6
ให้คลุมด้วยแสลนดำในฤดูร้อนเพื่อป้องกันแสงแดด และคลุมด้วยผ้าพลาสติกในฤดูฝนเพื่อป้องกันน้ำฝนไม่ให้ขัง แต่การคลุมผ้าพลาสติกควรเปิดผ้าเป็นระยะในวันที่ฝนไม่ตก

ขั้นตอนที่ 7
มั่นตรวจสอบความเรียบร้อยของกองปุ๋ยเป้นระยะขณะทำการหมัก เพื่อป้องกันสัตว์มาอาศัยอยู่ รวมถึงการขังของน้ำ และตรวจสอบสภาพการหมัก

ขั้นตอนที่ 8
เมื่อกองปุ๋ยหมักทั้ง 4 ชั้น มีการย่อยสลายที่สมบูรณ์แล้ว จะเป็นขั้นตอนการปรับปรุงคุณภาพของปุ๋ยด้วยการเพิ่มวัสดุปรับปรุงขนาดเล็ก เช่น ขี้เถ้า แกลบ ขี้เลื่อย เป็นต้น มาผสมกับมูลวัว และปุ๋ยเคมี ในอัตราส่วน วัสดุปรับปรุงขนาดเล็ก 1,000 กิโลกรัม + มูลสัตว์ 200-400 กิโลกรัม + ปุ๋ยเคมี 50-100 กิโลกรัม แล้วนำมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน

ขั้นตอนที่ 9
ให้รดน้ำกองปุ๋ยหลังการเพิ่มเศษวัสดุปรับปรุงแล้ว โดยน้ำที่ใช้รดให้ผสมด้วยหัวเชื้อซุปเปอร์ พด.1 จำนวน 3-5 ซอง อีกครั้ง

ขั้นตอนที่ 10
ทำการคลุมกองปุ๋ยด้วยสัสดุข้างต้น และมั่นดูแลรักษาจนปุ๋ยเกิดการย่อยสลายสมบูรณ์ ซึ่งอาจใช้เวลาตั้งแต่เริ่มขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย 4-6 เดือน ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้หมัก ทั้งนี้ควรมั่นกลับกองปุ๋ยทุก ๆ 15 วัน หากกองปุ๋ยมีความชื้นน้อยควรรดน้ำขณะกลับกองปุ๋ยทุกครั้ง

organic-fertilizer3

ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง
ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง หมายถึง ปุ๋ยที่ได้จากการหมักวัสดุอินทรีย์ และอนินทรีย์ธรรมชาติที่มีธาตุอาหารสูงจนสลายตัวอย่างสมบูรณ์ หรือเป็นการนำปุ๋ยอินทรีย์ที่ผ่านการหมักสมบูรณ์แล้วมาผสมกับวัสดุอินทรีย์หรืออนินทรีย์ธรรมชาติที่มีธาตุอาหารสูง เช่น มูลค้างคาว กระดูกป่น หินฟอสเฟต

คุณสมบัติปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง
1. ประกอบด้วยธาตุอาหารหลักในปริมาณสูงกว่าปุ๋ยอินทรีย์ทั่วไป
2. เหมาะสำหรับพืชทุกชนิด และสามารถผลิต และเลือกใช้ตามความเหมาะสมของดิน และพืช อัตราการใช้ทั่วไปที่แนะนำ คือ 25-50 กิโลกรัม/ไร่
3. สามารถปลดปล่อยธาตุอาหารให้แก่พืชอย่างช้า ๆ ทำให้ลดการสูญเสียธาตุอาหารลงดิน
4. ประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อดิน และพืช
5. เป็นปุ๋ยทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกร เพื่อลดหรือทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี
6. ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกร
7. วิธีทำไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน และเกษตรกรสามารถทำใช้ได้เอง

organic-fertilizer4

ปัจจัยที่สำคัญในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง คือ วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เนื่องจากวัตถุดิบแต่ละชนิดมีปริมาณธาตุอาหารแตกต่างกัน วัตถุดิบที่ที่ใช้ในการหมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ได้แก่ พืชตระกูลถั่ว มูลค้างคาว กระดูกป่น เศษปลา และแร่หินต่างๆ

นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับการเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสำหรับการย่อยสลาย โดยกรมพัฒนาที่ดินได้คัดเลือก และผลิตผลิตภัณฑ์สารเร่งดังกล่าวมาใช้ ได้แก่ สารเร่งซุปเปอร์ พด. 1 (เหมาะสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยสลายเซลลูโลสของพืช) สารเร่งซุปเปอร์ พด. 2 (เหมาะสำหรับการย่อยสลายโปรตีน ไขมัน และฟอสเฟต) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยสลายองค์ประกอบไนโตรเจน และไขมัน ลดการสูญเสียไนโตรเจน และลดกลิ่นแอมโมเนีย ส่วนสารเร่ง พด. 9 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปลดปล่อยฟอสฟอรัสจากวัตถุดิบที่ใช้ เช่น หินฟอสเฟต และกระดูกป่น เป็นต้น

ชนิดวัตถุดิบ และเปอร์เซ็นต์ธาตุอาหารสาหรับผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง
1. กากเมล็ดถั่วเหลือง
– ไนโตรเจน 7.0-10.0%
– ฟอสฟอรัส 2.1%
– โพแทสเซียม 1.1-2.7%

2. กากเมล็ดถั่วลิสง
– ไนโตรเจน 7.0-10.0%
– ฟอสฟอรัส 2.0-3.0%
– โพแทสเซียม 1.0-2.0%

3. กากเมล็ดละหุ่ง
– ไนโตรเจน 4.0-7.0%
– ฟอสฟอรัส 1.0-1.5%
– โพแทสเซียม 1.0-1.5%

4. กากเมล็ดฝ้าย
– ไนโตรเจน 6.0-9.0%
– ฟอสฟอรัส 2.0-3.0%
– โพแทสเซียม 1.0-2.0%

5. ปลาป่น
– ไนโตรเจน 9.0-10.0%
– ฟอสฟอรัส 5.0-6.0%
– โพแทสเซียม 3.8%

6. เลือดแห้ง
– ไนโตรเจน 8.0-13.0%
– ฟอสฟอรัส 0.3-1.5%
– โพแทสเซียม 0.5-0.8%

7. กระดูกป่น
– ไนโตรเจน 3.0-4.0%
– ฟอสฟอรัส 15.0-23.0%
– โพแทสเซียม 0.7%

8. หินฟอสเฟต
– ไนโตรเจน 0.1%
– ฟอสฟอรัส 15.0-17.0%
– โพแทสเซียม 0.10%

9. มูลค้างคาว
– ไนโตรเจน 1.0-3.0%
– ฟอสฟอรัส 12.0-15.0%
– โพแทสเซียม 1.8%

การผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงสูตรทั่วไป
การผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตรไนโตรเจน ในส่วนผสมการผลิต 100 กิโลกรัม ประกอบด้วย
– กากเมล็ดถั่วเหลืองหรือปลาป่น 60 กิโลกรัม
– มูลสัตว์หรือปุ๋ยหมักที่หมักสมบูรณ์แล้ว 40 กิโลกรัม
– สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 จำนวน 1 ซอง
– สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จำนวน 1 ซอง พร้อมละลายในกากน้ำตาล 25-30 ลิตร

ขั้นตอนการผลิต
1. เตรียมวัตถุ และผสมวัตถุดิบให้เข้ากัน ตามส่วนผสมของปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงขั้นต้น
2. ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 จำนวน 1 ซอง ผสมในสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ที่ขยายเชื้อในกากน้ำตาล พร้อมคนให้เข้ากัน 10-15 นาที หลังจากนั้นเทราดบนกองวัตถุดิบ และคลุกเคล้าให้เข้ากัน
3. ตั้งกองปุ๋ยหมักเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือเตรียมในหลุมซีเมนต์สี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่มีความสูง 30-50 เซนติเมตร พร้อมใช้วัสดุคลุมรักษาความชื้น
4. ให้กลับกองปุ๋ยหมักทุกๆ 5 วัน หากกองปุ๋ยหมักให้ให้รดน้ำ และควบคุมความชื้นระหว่างหมัก 30 เปอร์เซ็นต์
5. ระหว่างการหมักควรดูแลอย่างสม่ำเสมอ และสังเกตเชื้อจุลินทรีย์ที่เจริญในกองปุ๋ย และอุณหภูมิกองปุ๋ยจะสูงขึ้น 45-55 องศาเซลเซียส หลังหมัก 3-5 วัน
6. สังเกตกองปุ๋ยจะมีอุณหภูมิลดลงเท่ากับภาย ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 9-12 วัน
7. เติมสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 และ พด.9 อย่างละ 1 ซอง พร้อมคลุกเคล้าให้ทั่วกอง และหมักต่อเป็นเวลา 3 วัน จึงนำไปใช้งานได้

การผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตรฟอสฟอรัส เป็นการเพิ่มแร่หินฟอสเฟตที่มีปริมาณฟอสฟอรัสสูง หมักร่วมกับปุ๋ยหมัก  และใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.9 สำหรับละลายหินฟอสเฟตให้อยู่ในรูปฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่อพืช
ส่วนผสมที่ใช้ในการผลิต 100 กิโลกรัม
– หินฟอสเฟต 80 กิโลกรัม
– รำข้าว 10 กิโลกรัม
– ปุ๋ยหมัก 10 กิโลกรัม
– สารเร่งซุปเปอร์ พด.1, พด.3 และ พด.9 อย่างละ 1 ซอง
– สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ที่ขยายเชื้อในกากน้ำตาล 25-30 ลิตร

ขั้นตอนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตรฟอสฟอรัส
1. ผสมหินฟอสเฟตร่วมกับรำข้าว และปุ๋ยหมักตามส่วนผสมข้างต้นให้เข้ากัน
2. นำสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 พด.3 และพด.9 จำนวน 1 ซอง ผสมในน้ำของกากน้ำตาลที่ผสมสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ประมาณ 25-30 ลิตร คนให้เข้ากันประมาณ 5-10 นาที และนำมารดบนกองปุ๋ยที่ผสมเสร็จแล้วในข้อ (1) พร้อมคลุกเคล้าเข้ากันเพื่อปรับความชื้นให้สม่ำเสมอทั่วกอง
3. ตั้งกองปุ๋ยเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือผสมในขั้นตอนแรกๆในหลุมสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีความสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร แล้วใช้วัสดุคลุมกองให้มิดชิด เพื่อรักษาความชื้น
4. หมักกองปุ๋ยเป็นเวลา 10-15 วัน พร้อมนำไปใช้ได้

ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตรกรมพัฒนาที่ดิน
เป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงสูตรที่ให้ปริมาณไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เท่ากับ 3-4, 5-9 และ 1-2 เปอร์เซ็นต์ ในปริมาณการผลิต 100 กิโลกรัม

ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตร 1
– กากเมล็ดถั่วเหลือง 40 กิโลกรัม
– รำละเอียด 10 กิโลกรัม
– มูลสัตว์ 10 กิโลกรัม
– หินฟอสเฟต 24 กิโลกรัม
– กระดูกป่น 8 กิโลกรัม
– มูลค้าวคาว 8 กิโลกรัม
– สารเร่งซุปเปอร์ พด.1, พด.3 และพด.9 อย่างละ 1 ซอง
– สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ที่ขยายเชื้อในกากน้ำตาล 25-30 ลิตร

ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตร 2
– กากเมล็ดถั่วเหลือง 40 กิโลกรัม
– รำละเอียด 10 กิโลกรัม
– มูลสัตว์ 10 กิโลกรัม
– หินฟอสเฟต 24 กิโลกรัม
– กระดูกป่น 16 กิโลกรัม
– สารเร่งซุปเปอร์ พด.1, พด.3 และพด.9 อย่างละ 1 ซอง
– สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ที่ขยายเชื้อในกากน้ำตาล จำนวน 25-30 ลิตร

ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงสูตร 3
– กากเมล็ดถั่วเหลือง 40 กิโลกรัม
– ราละเอียด 10 กิโลกรัม
– มูลสัตว์ 10 กิโลกรัม
– หินฟอสเฟต 40 กิโลกรัม
– กระดูกป่น 16 กิโลกรัม
– สารเร่งซุปเปอร์ พด.1, พด.3 และพด.9 อย่างละ 1 ซอง
– สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ที่ขยายเชื้อในกากน้ำตาล จำนวน 25-30 ลิตร

ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงสูตร 4
– ปลาป่น 30 กิโลกรัม
– มูลสัตว์ 30 กิโลกรัม
– หินฟอสเฟต 24 กิโลกรัม
– มูลค้างคาว 16 กิโลกรัม
– สารเร่งซุปเปอร์ พด.1, พด.3 และพด.9 อย่างละ 1 ซอง
– สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ที่ขยายเชื้อในกากน้ำตาล จำนวน 25-30 ลิตร

ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงสูตร 5
– กากเมล็ดถั่วเหลือง 40 กิโลกรัม
– ราละเอียด 10 กิโลกรัม
– มูลสัตว์ 10 กิโลกรัม
– หินฟอสเฟต 24 กิโลกรัม
– มูลค้างคาว 16 กิโลกรัม
– สารเร่งซุปเปอร์ พด.1, พด.3 และพด.9 อย่างละ 1 ซอง
– สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ที่ขยายเชื้อในกากน้ำตาล จำนวน 25-30 ลิตร

วิธีการขยายเชื้อสารเร่งซุปเปอร์ พด.2
1. ผสมกากน้ำตาลต่อน้ำ อัตราส่วน 5 กิโลกรัม ต่อน้ำ 50 ลิตร
2. โรยสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ลงผสม จำนวน 1 ซอง คนให้เข้ากัน
3. ปิดฝาตั้งไว้ในที่ร่มเป็นเวลา 3 วัน สามารถนำมาพร้อมใช้

มาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง
มาตรฐานที่ยึดเป็นเกณฑ์ของปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงที่ดี กำหนดโดยกรมพัฒนาที่ดินว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานปัจจัยการผลิตทางการเกษตร พ.ศ. 2550 ประกอบด้วย ดังนี้
1. ต้องประกอบด้วยปริมาณอินทรียวัตถุมากกว่าหรือเท่ากับ 20% โดยน้ำหนัก
2. สัดส่วนระหว่างคาร์บอนต่อไนโตรเจน น้อยกว่าหรือเท่ากับ 20 : 1
3. มีค่าการนาไฟฟ้า น้อยกว่าหรือเท่ากับ 15 เดซิซีเมนส์/เมตร
4. มีค่าความเป็นกรด-ด่าง ในช่วง 5.5 – 10
5. ประกอบด้วยธาตุอาหารหลัก คือ
– ไนโตรเจน (N) มากกว่าหรือเท่ากับ 1.0% โดยน้ำหนัก
– ฟอสฟอรัส (P2O5) มากกว่าหรือเท่ากับ 2.5% โดยน้ำหนัก
– โพแทสเซียม (K2O) มากกว่าหรือเท่ากับ 1.0% โดยน้ำหนัก และประกอบด้วยธาตุอาหารหลักทั้ง 3 ชนิด (N, P2O5, K2O) รวมกันในช่วง 9%-20% โดยน้ำหนัก
6. มีปริมาณความชื้น ไม่มากว่า 35% โดยน้ำหนัก
7. มีปริมาณหิน กรวด ไม่มากว่า 2% โดยน้ำหนัก
8. มีเศษพลาสติก เศษแก้ว วัสดุมีคม และโลหะอื่น ๆ ไม่มากว่า 0.01% โดยน้ำหนัก
9. ปริมาณโลหะหนัก
– Arsenic (As) ไม่มากว่า 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
– Cadmium (Cd) ไม่มากว่า 5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
– Chromium (Cu) ไม่มากว่า 300 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
– Copper (Cu) ไม่มากว่า 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
– Lead (Pb) ไม่มากว่า 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
– Mercury (Hg) ไม่มากว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม