ถุงมือยาง (Latex gloves) ชนิด และประโยชน์ถุงมือยาง

26209

ถุงมือยาง (Latex gloves) เป็นวัสดุสวมใส่มือที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในทางการแพทย์ และอุตสาหกรรม เนื่องจาก มีความบาง กระชับมือ และที่สำคัญ คือ ไม่เกิดอาการแพ้ได้ง่าย

ถุงมือยางมีการคิดค้น และผลิตขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 19 ณ โดยนายแพทย์ชื่อ วิลเลียม ฮัลสเตด (Dr. William Halstead) แพทย์ศัลยกรรมประจำโรงพยาบาลจอห์น ฮอพกินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากการทำงานของพยาบาลที่มักเกิดอาการปวดแสบ ปวดร้อน และเป็นผื่นคันที่บริเวณมือจากเกิดอาการแพ้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค ทำให้นายแพทย์วิลเลียมฮัลสเตด

การผลิตในช่วงแรกเริ่มจากการหล่อแม่พิมพ์รูปมือด้วยปูนปลาสเตอร์ ก่อนนำไปขึ้นรูปด้วยยางเป็นถุงมือบางๆ ทั้งนี้ เมื่อทดลองนำมาใช้ พบว่า ถุงมือที่ผลิตขึ้นสามารถป้องกัน และลดอาการแพ้ได้ หลังจากนั้น จึงได้มีการผลิตถุงมือยางเพิ่มมากขึ้นจนนิยมใช้แพร่หลายในภาคต่างๆจนมาถึงปัจจุบัน

ชนิด และการใช้งานถุงมือยาง
1. ถุงมือยางทางการแพทย์ (Medical glove)
ถุงมือยางที่ใช้ในทางการแพทย์จะมีลักษณะบาง กระชับ ยืดหยุ่นได้ดีกว่าถุงมือยางชนิดอื่น แบ่งได้ 2 ชนิด คือ
1.1 ถุงมือยางสำหรับการผ่าตัด (Surgical glove)
ถุงมือยางชนิดนี้ นิยมใช้ในทางศัลยกรรม มีลักษณะเด่น คือ มีความบางสูง มีความยืดหยุ่นสูง แต่มีความแข็งแรง ขนาดความยาวถึงข้อศอก มีการระบุข้อความผ่านกรรมวิธีการฆ่าเชื้อ 100% สามารถใช้ได้เพียงครั้งเดียว แล้วทิ้ง
1.2 ถุงมือสำหรับการตรวจโรค (Examination glove)
ถุงมือยางชนิดนี้ นิยมใช้ในงานตรวจโรคทั่วไป มีลักษณะเด่น คือ มีความบางสูง มีความกระชับ แต่จะสั้นกว่าชนิดผ่าตัด คือ มีความยาวแค่ข้อมือ แต่ใช้ได้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งเหมือนกัน

2. ถุงมือยางสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม (Industrial glove)
ถุงมือยางงานอุตสาหกรรม มีลักษณะเด่น คือ ถุงมือมีขนาดใหญ่ และแข็งแรง อาจมีขนาดบางหรือหนา ขึ้นอยู่กับลักษณะงาน

3. ถุงมือยางสำหรับครัวเรือน (Household glove)
ถุงมือยางสำหรับครัวเรือนมักเป็นการใช้งานทำความสะอาดเป็นหลัก ขนาดปานกลาง มีความยาวถึงข้อศอก ไม่บางหรือหนาเกินไป หรือมีการใช้ขนาดบางในบางลักษณะงาน สวมใส่สบายมือ มีความแข็งแรง ทนทานต่อการใช้งาน

ประโยชน์ถุงมือยาง
1. ป้องกันสารเคมี ป้องกันเชื้อโรค ป้องกันความร้อน เป็นฉนวนป้องกันไฟฟ้า
2. ลดการแพ้จากการใช้ถุงมือชนิดอื่น
3. ป้องกันอุบัติเหตุจากเครื่องมือ และแรงเสียดสีที่จะเป็นอันตรายต่อมือ
4. ป้องกันการปนเปื้อนที่จะเข้าสู่ผลิตภัณฑ์
5. เพิ่มแรงเฉื่อยในการจับหมุน ช่วยให้ทุ่นแรงขึ้น

การผลิตถุงมือยาง
วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตถุงมือยางส่วนใหญ่จะเป็นน้ำยางข้น 60% โดยเฉพาะน้ำยางข้นที่ได้จากยางพาราที่หาได้ง่ายในประเทศ ทั้งนี้ การผลิตน้ำยางข้นจะใช้หลักการปั่นแยกด้วยเครื่องปั่นเป็นหลัก โดยเฉพาะการปั่นแยกด้วยเครื่องเซนตริฟิวส์ ที่นิยมใช้กันมากในเชิงพาณิชย์

กระบวนการผลิตถุงมือยางมีขั้นตอนสำคัญ คือ การจุ่ม (Dipping) ลงในน้ำยางคอมปาวด์ (Compound latex) เพื่อเป็นการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ โดยใช้เบ้ามือ (Former) เป็นแม่พิมพ์ที่ทำจากโลหะ พลาสติก เซรามิก แก้ว อะลูมิเนียมหรือวัสดุอื่นๆ

น้ำยางคอมปาวด์สำหรับการขึ้นรูปถุงมือยางประกอบด้วยน้ำยางข้น และสารเคมี ที่ผสมรวมกันในสูตรต่างๆตามชนิดถุงมือที่ต้องการผลิต ตัวอย่างสูตรเคมีของน้ำยางคอมปาวด์สำหรับถุงมือยางบางชนิด ดังตารางด้านล่าง

สารเคมี ส่วนในร้อยส่วนของน้ำหนักยางแห้ง (phr)
60% Concentrated latex 100
10% KOH 0.3
20% Potassium laurate 0.2
50% Sulphur 0.5
50% ZDC 0.75
40% SOBE 0.5
40% Wingstay L 0.75
50% ZnO 0.4

 

กระบวนการผลิตถุงมือยาง
1. การเตรียมน้ำยางคอมปาวด์
น้ำยางคอมปาวด์เตรียมได้ด้วยการผสมน้ำยางข้น (Concentrate latex) กับสารเคมีในรูปของเหลว ตามสูตรที่ต้องการ สารเคมีที่ใช้ผสม ได้แก่
– สารทำให้ยางเกิดปฏิกิริยาคงรูป (Vulcanizing agent)
– สารกระตุ้นปฏิกิริยา (Accelerator agent)
– สารตัวเติม (Filler)

น้ำยางข้นที่ผสมรวมตัวกับสารเคมีต่างๆได้ดีแล้วจะถูกนำเข้าบ่มไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง ก่อนตรวจสอบคุณภาพของน้ำยาง ได้แก่
– อัตราการบวมพอง (Swelling index)
– ส่วนประกอบที่เป็นของแข็งทั้งหมด (Total solid content : TSC)
– ค่าความเป็นกรดด่าง

2. การติดตั้ง และเตรียมเบ้ามือ
เริ่มต้นจากการนำเบ้ามือแม่พิมพ์มาติดตั้งบนสายโซ่ลำเลียง ก่อนจะลำเลียงเข้าสู่การทำความสะอาด แบ่งย่อยได้เป็น
– การล้างเบ้ามือด้วยกรด
– การล้างกรดด้วยน้ำสะอาด
– การล้างเบ้ามือด้วยด่าง
– การขัดทำความสะอาด อาจใช้ลูกกลิ้งหรือแปรงขัด พร้อมฉีดน้ำล้าง
– การล้างด้วยน้ำร้อน
– การอบเบ้ามือให้แห้ง

3. การจุ่มขึ้นรูปถุงมือยาง
เมื่อเตรียมเบ้ามือเสร็จ และได้น้ำยางผสมสารเคมีที่ผ่านการบ่มแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการจุ่มเพื่อผลิตถุงมือยางธรรมชาติ ซึ่งมีหลายวิธีดังนี้
3.1 การจุ่มโดยตรง (Straight dipping)
ทำโดยจุ่มแม่แบบ (Former) ที่แห้งและสะอาดลงในน้ำยางผสมสารเคมี แล้วค่อยๆนำแม่แบบขึ้นมาช้าๆ สำหรับความเร็วของการจุ่มและการยกพิมพ์จากน้ำยางจะขึ้นกับความเร็วของการเคลื่อนที่และมุมที่พิมพ์ลงจุ่มและเคลื่อนออกจากน้ำยาง การเคลื่อนพิมพ์ต้องทำให้นิ่งเพื่อให้ได้แผ่นฟิล์มยางที่เรียบ นำไปทำให้แห้งและทำให้ยางสุกต่อไป ถ้าต้องการทำให้ฟิล์มหนาขึ้น จะต้องทำให้ยางชั้นแรกแห้งเพียงบางส่วน แล้วจุ่มแม่แบบลงในน้ำยางผสมสารเคมีอีกครั้งหนึ่ง การจุ่มซ้ำจะจุ่มกี่ครั้งก็ได้จนได้ความหนาของฟิล์มที่ต้องการ
3.2 การจุ่มโดยใช้สารช่วยให้ยางจับแม่แบบ (Coagulant dipping)
ทำโดยจุ่มแม่แบบที่สะอาดลงในสารละลายของสารช่วยให้ยางจับแม่แบบ ทำให้แห้งหมาดๆ แล้วจึงจุ่มลงในน้ำยางผสมสารเคมี ทิ้งไว้ตามเวลาที่กำหนดแล้วค่อยๆนำแม่แบบขึ้นทำให้ฟิล์มยางแห้งและทำให้ยางสุก
ต่อไป สารช่วยให้ยางจับแม่แบบที่นิยมใช้คือสารละลายของเกลือแคลเซียม เช่น แคลเซียมคลอไรด์ (CaCl2) แคลเซียมไนเตรต (Ca(NO3)2) ความหนาของฟิล์มยางขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งในการจุ่ม ชนิดและความเข้มข้นของสารช่วยให้ยางจับแม่แบบ เวลาในการจุ่มและปริมาณของแข็งทั้งหมดในน้ำยางผสมสารเคมี
3.3 การจุ่มโดยใช้สารช่วยให้ยางไวต่อความร้อน (Heat-sensitive dipping)
การจุ่มวิธีนี้ต้องทำให้แม่แบบร้อนประมาณ 50 – 80 ºC แล้วจึงจุ่มแม่แบบลงในน้ำยางผสมสารเคมีที่เติมสารช่วยให้ยางไวต่อความร้อนแล้ว ทิ้งไว้ช่วงเวลาหนึ่งจึงนำแม่แบบขึ้น แล้วทำให้ฟิล์มยางแห้งและทำให้ยางสุกต่อไป สารช่วยให้ยางไวต่อความร้อนที่นิยมใช้ได้แก่ Polyvinyl methyl ether ความหนาของฟิล์มยางขึ้นกับคุณสมบัติของน้ำยางผสม อุณหภูมิ ความจุความร้อนของแม่แบบ และเวลาในการจุ่ม วิธีนี้เหมาะกับผลิตภัณฑ์ที่มีความหนามาก

4. การทำให้ฟิล์มยางแห้งและสุก (Drying and Vulcanizing)
ผลิตภัณฑ์ยางที่ผ่านกระบวนการจุ่มแล้ว จะถูกทำให้แห้งและสุกในตู้อบลมร้อน (Hot-air oven) โดยฟิล์มยางจะถูกทำให้แห้งบางส่วนบนแม่แบบที่อุณหภูมิค่อนข้างต่ำ ประมาณ 80 – 90 ºC แล้วจึงนำไปอบให้ยางสุกที่อุณหภูมิสูงกว่า 100 ºC เพื่อป้องกันปัญหาการพุพองหรือเกิดฟองอากาศที่ยางได้

5. การม้วนขอบ (Beading)
การม้วนขอบทำโดยใช้ลูกกลิ้งที่เป็นแปรงหรือยางที่ไม่แข็งมากนัก หมุนม้วนด้านเปิดของถุงมือขณะที่ยังอยู่บนพิมพ์ การม้วนขอบจะทำขณะที่ยางเพิ่งจับเป็นเจลบนพิมพ์แห้งพอควรและยังไม่คงรูปจะทำให้ได้ขอบที่ม้วนติดกันดีเพราะยางมีความเหนียว

6. การถอดผลิตภัณฑ์จากพิมพ์ (Stripping)
ขั้นตอนการถอดผลิตภัณฑ์ออกจากพิมพ์อาจใช้คนและใช้ลมดันหรือน้ำฉีดในการถอดผลิตภัณฑ์ถุงมือยางออกจากพิมพ์ ในบางครั้งอาจมีการใช้น้ำหรือน้ำแป้งช่วยให้ถอดได้ง่ายขึ้น แต่จะต้องทำการอบแห้งอีกครั้ง

7. กระบวนการพิเศษสำหรับการจุ่มน้ำยาง
นอกจากขั้นตอนข้างต้นแล้ว อาจมีกระบวนการอื่นๆซึ่งอาจมีในกระบวนการผลิตหรือแยกจากกระบวนการผลิตขึ้นกับชนิดของผลิตภัณฑ์ที่จะผลิต กระบวนการดังกล่าว ได้แก่ การล้างด้วยน้ำร้อน (Leaching) การบุด้านในด้วยเส้นใย (Flocking) การคลอริเนต (Chlorination) [1], [2] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

ขอบคุณภาพจาก www.sritranggroup.com/

เอกสารอ้างอิง
[1] กิตติพล บุญทอง, 2557, การประยุกต์ใช้เทคนิคซิกซ์ ซิกม่า-
เพื่อเพิ่มจำนวนผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับข้อกำหนด-
ในกระบวนการผลิตถุงมือยางสำหรับตรวจโรค.
[2] ชมพูนุท ลิขิตสุวรรณกูล, 2544, ผลของสารเคมีต่อปริมาณโปรตีน-
ที่ละลายน้ำได้ในถุงมือยางธรรมชาติ.