ครีมกันแดด ประเภท และวิธีใช้ครีมกันแดด

28664

ครีมกันแดด (sunscreen) คือ ผลิตภัณฑ์ทาผิวที่มีส่วนผสมของสารกันแดด (Sunscreen agent) เพื่อใช้ทาผิวสำหรับป้องกันอันตรายจากแสงแดดที่มีต่อผิวหนัง อันได้แก่ รังสีอัลตร้าไวโอเลต A (UVA), รังสีอัลตร้าไวโอเลต B (UVB) และรังสีที่ตามองเห็น (Visible Light) เพราะคนเราสามารถหลบจากแสงแดดได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานในที่โล่งแจ้ง และถึงแม้การได้รับแสงแดดในเวลาไม่นาน แต่หากได้รับบ่อย ก็จะทำให้ภูมิต้านทานของเซลล์ผิวหนังลดลง และสะสมจนเกิดมะเร็งผิวหนังได้เช่นกัน

นอกจากนั้น แสงแดดยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผิวหน้าเสื่อมสภาพ และเกิดปัญหาที่คนหนุ่มสาวไม่ต้องการ อาทิ เกิดรอยเหี่ยวย่น เกิดตีนกา ผิวหน้าหมองคล้ำ และหยาบกร้าน เกิดกระ เกิดฝ้า จนผิวหน้าแลดูแก่กว่าวัยอันควร

ปัจจุบัน แสงแดดเป็นเป็นที่พิสูจน์ได้แน่ชัดแล้วว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกิดมะเร็งผิวหนัง ทั้งมะเร็งผิวหนังชนิด nonmelanoma และmelanoma โดยเฉพาะชาวตะวันตกที่พบการเป็นมะเร็งผิวหนังเพิ่มมากขึ้น และมีความเสี่ยงมากกว่าคนเอเชียหลายเท่า ดังนั้น วิธีป้องกันมะเร็งผิวหนังที่ดีคือหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดเป็นระยะเวลานาน แต่โดยทั่วไปแล้วคนเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่สามารถป้องกันได้ คือ การสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด การใช่ร่มหรือที่บังแดด และสุดท้ายที่นิยม คือ การทาครีมกันแดด ซึ่งจะช่วยป้องกันมะเร็งผิวหนัง รวมทั้งยังช่วยบำรุงผิว ทำให้ผิวแลดูอ่อนกว่าวัย ป้องกันการเหี่ยวย่น การเกิดรอยตีนกา ป้องกันผิวหมองคล้ำ และการเกิดกระฝ้าต่างๆได้ด้วย

ทั้งนี้ ผิวหนังของแต่ละคนมีการตอบสนองต่อแสงแดดที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับสีผิวหรือปริมาณของเม็ดสีผิวหรือเมลานินเป็นสำคัญ (melanin pigment) โดยคนยุโรปที่มีผิวขาวจะมีปริมาณเมลานินที่ชั้นผิวหนังน้อย ทำให้รังสีแพร่เข้าไปในชั้นผิวหนัง และถูกดูดซับไว้มาก จึงเสี่ยงต่อมะเร็งผิวหนังได้สูง ส่วนผิวหนังของคนเอเชียที่ค่อนข้างดำหรือคนผิวดำในแถบประเทศแอฟริกาจะมีเม็ดสีเมลานินสูง ทำให้ช่วยกรองรังสี ช่วยกระจาย และสะท้อนรังสีได้มาก ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังน้อยกว่า

ความรู้เกี่ยวกับรังสี

รังสี UVB ในช่วงความยาวคลื่น 290 – 320 นาโนเมตร ถือเป็นรังสีหลักที่เหนี่ยวนำให้เกิด photocarcinogenesis โดยรังสี UVB จะเข้าทำปฏิกิริยากับ DNA ในเซลล์โดยตรง จนทำให้เกิดสาร cyclobutane pyrimidine dimmers และ thymine glygols ที่เข้ากระตุ้นการเกิดเซลล์มะเร็งได้ ส่วนรังสี UVA ในช่วงความยาวคลื่น 320 – 400 นาโนเมตร จะมีผลต่อผิวหนังน้อยกว่ารังสี UVB แต่ก็มีส่วนในการทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้เช่นกัน เพราะหากสัมผัสหรือได้รับสะสมเป็นเวลานานจะทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระขึ้นในเนื้อเยื่อ และต่อมาจะเข้ากระตุ้นให้เกิดเซลล์มะเร็งขึ้นได้ ด้วยการเหนี่ยวนำให้มีการเปลี่ยนแปลงของ DNA ในระดับเซลล์เกิดขึ้น

องค์ประกอบของแสงแดด
1. รังสีอินฟาเรด (infrared ray : ความยาวคลื่น 780-5000 นาโนเมตร) ประมาณ 56%
2. รังสีที่มองเห็น (visible light : ความยาวคลื่น 400-780 นาโนเมตร) ประมาณ 39%
3. รังสีอัลตราไวโอเลต (UV : ultraviolet ray) ปริมาณ 5% ซึ่งถือเป็นรังสีสำคัญที่ทำให้สภาพผิวมีปัญหา และเกิดมะเร็งผิวหนัง

ชนิดของรังสี UV
1. รังสี UVC
รังสี UVC มีช่วงคลื่นยาว 100-280 นาโนเมตร เป็นรังสี UV ที่มีพลังงานสูงสุด แต่ส่วนมากจะถูกดูดซับไว้ด้วยโอโซนในชั้นบรรยากาศของโลก

2. รังสี UVB
รังสี UVB มีช่วงคลื่นยาว 280-320 นาโนเมตร เป็นรังสี UV ที่มีพลังงานรองลงมาจาก รังสี UVC มีผลทำให้ผิวหนังเกิดการอาการผื่นแดง เกิดอาการแสบร้อน และไหม้ โดยเฉพาะผู้แพ้แสงแดดง่ายหรือมีการตากแดดเป็นเวลานาน

3. รังสี UVA
รังสี UVA มีช่วงคลื่นยาว 320-400 นาโนเมตร เป็นรังสี UV ที่มีพลังงานต่ำที่สุด เมื่อได้รับรังสีชนิดนี้จะมีผลต่อสภาพปัญหาผิหนัง อาทิ ผิวหนังเหี่ยวย่น เกิดริ้วรอย เกิดความหมองคล้ำ กระ และฝ้า จนผิวแลดูแก่กว่าวัย

ประวัติครีมกันแดด

ครีมกันแดดเริ่มมีการพัฒนาขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.1928 โดยใช้สาร benzyl salicylate และ benzyl cinnamate เตรียมอยู่ในรูปอิมัลชัน (emulsion) ในช่วงปี ค.ศ. 1930 ในประเทศออสเตรเลียได้มีการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์กันแดดที่ผสม 10% Salol (phenyl salicylate) ต่อมาในปี ค.ศ. 1943 ในสหรัฐอเมริกาได้มีการใช้สารกลุ่ม p-Aminobenzoic acid (PABA) โดยได้ผสมอนุพันธ์ของ PABA ในผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด ในยุคแรกๆนั้นให้ความสำคัญเฉพาะกับการป้องกันรังสี UVB คือ การปกป้องไม่ให้ผิวไหม้

ต่อมาได้เพิ่มความสนใจต่อ UVA โดย UVA สามารถทะลุผ่านผิวหนังได้ในระดับความลึก 1 มิลลิเมตร
และไปกระตุ้นให้เกิด singlet oxygen และ hydroxyl free radical ซึ่งสามารถไปทำให้เกิด lipid
peroxidation ได้มากกว่า UVB ถึง 10 เท่า

ประเภทครีมกันแดด

ประเภทครีมกันแดด (แบ่งตามคุณสมบัติ)
1. ครีมกันแดดดูดซับรังสี (chemical sunscreen)
ครีมกันแดดประเภทนี้ ประกอบด้วยสารเคมีที่มีคุณสมบัติในการดูดซับรังสีไว้ได้ ทำให้รังสีบางส่วนไม่สัมผัสกับผิวหนัง แต่จะปล่อยรังสีในช่วงคลื่นอื่นออกมาหลังการดูดซับไว้ แต่เป็นช่วงคลื่นที่ไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง สารที่ใช้ผสม และมีคุณสมบัติดูดวับรังสีได้ ได้แก่
– oxybenzone
– PABA
– salicylates
– cinnamates
– ฯลฯ

ทั้งนี้ ครีมกันแดดประเภทนี้มีข้อดีหลายประการ ได้แก่
– ไม่มีสีหรือมีสีอ่อนๆ
– มีคุณสมบัติในการบำรุงผิว
– มีราคาถูก

ส่วนข้อเสีย คือ บางคนอาจเกิดอาการแพ้ต่อสารเคมีที่ผสมได้ รวมถึงต้องมั่นทาครีมทุกๆ 1-2 ชั่วโมง เมื่อต้องตากแดดเป็นเวลานานๆ เพราะสารที่ผสมจะดูดซับรังสีไว้ในปริมาณที่จำกัด หากดูดซับไว้เต็มที่แล้วก็จะไม่สามารถดูดวับไว้ได้อีก ทำให้รังสีที่ได้รับต่อมากระทบต่อผิวหนังทั้งหมด

2. ครีมกันแดดสะท้อนรังสี (physical blocker)
ครีมกันแดดประเภทนี้ มีส่วนผสมหลักของ zinc oxide หรือ titanium dioxide ซึ่งส่วนมากจะเป็นสีขาว และมีคุณสมบัติช่วยป้องกันรังสีUV ได้เกือบทั้งหมด ทำหน้าที่สะท้อน และกระจายรังสี UVA และ UVB ออกไปจากผิวหนัง และหลังการทาจะมีเนื้อครีมบางส่วนถูกดูดซึมเข้าผิวหนังเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้น ครีมกันแดดประเภทนี้จึงไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ง่ายนัก

ข้อดีของครีมกันแดดประเภทนี้ คือ
– ไม่สลายตัวง่ายเมื่อสัมผัสกับแสงแดด จึงไม่ต้องทาซ้ำบ่อยๆ
– มีผลทำให้ผิวระคายเคืองน้อย ไม่เกิดอาการแพ้ง่าย

3. ครีมกันแดดแบบผสม (chemical-physical sunscreen)
ครีมกันแดดประเภทนี้ มีส่วนผสมของสารที่มีคุณสมบัติในการดูดวับ และสะท้อนรังสีเข้าด้วยกัน อีกทั้ง ยังช่วยลดผลข้างเคียงจากสารเคมีที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ง่าย เนื้อครีมมีส่วนผสมของสารเคมีที่เป็นสีขาว น่าใช้มากขึ้น ดังนั้น จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่รวมข้อดี และลดข้อด้อยของครีมกันแดดทั้งสองประเภทข้างต้น ซึ่งปัจจุบัน ครีมกันแดดที่วางจำหน่ายส่วนมากจะเป็นประเภทผสมผสาน

ประเภทครีมกันแดด (แบ่งตามผลทีมีต่อสีผิว)
1. Sun Tan เป็นผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดที่หลังการทาแล้ว เนื้อครีมจะซึมเข้าสู่เซลล์ผิว และทำหน้าที่เปลี่ยนสีผิวให้เข้มขึ้น แต่ไม่เกิดอันตรายต่อเซลล์ผิวแต่อย่างใด
2. Sunscreen เป็นผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดที่ทำหน้าที่กรองรังสี กระจาย และสะท้อนรังสีไม่ให้เข้าสู่เซลล์ผิวมาก รวมถึงช่วยในการปรับสมดุลของสีผิวที่หมองคล้ำหลังการตากแดด

ประเภทครีมกันแดด (แบ่งตามส่วนที่ทา)
1. ครีมกันแดดทาหน้า (Sunshade)
ครีมกันแดดประเภทนี้ มักมีส่วนผสมของซิงค์ออกไซด์หรือไททาเนียมไดออกไซด์ มีคุณสมบัติช่วยป้องกันรังสี UV ได้ทุกชนิด ใช้สำหรับการทาบริเวณที่บอบบาง อาทิ บริเวณใบหน้า ลำคอ และริมฝีปาก

2. ครีมกันแดดทาลำตัว (Sunscreen/Sunblock)
ครีมกันแดดประเภทนี้ มักมีส่วนผสมของสารเคมีหลายชนิดที่ผสมผสานกันระหว่างสารเคมีที่ทำหน้าที่ดูดซับ และสะท้อนรังสี UV ซึ่งประสิทธิภาพจะถูกระบุเป็นค่า SPF

สีผิว และค่า SPF ที่แนะนำ

ประเภทผิวหนัง สีผิว (ในร่มผ้า) ลักษณะผิวหลังถูกแสงแดด ค่า SPF ที่แนะนำ
1. สีขาว (White) ผิวไหม้แดง และเกิดอาการแสบร้อนได้ง่ายมาก หลังถูกแดดจะมีสีผิวไม่ดำคล้ำ ไม่มีสีผิวเข้ม มักตกกระ พบได้ในชนชาติผิวขาว นัยน์ตาสีฟ้า ได้แก่ ชาวยุโรปหรือชาวตะวันตก 15-30 หรือมากกว่า
2. สีขาว (White) ผิวไหม้แดง และเกิดอาการแสบร้อนได้ง่าย หลังถูกแดดจะมีสีผิวเป็นสีแทนขึ้น แต่ไม่ทำให้สีผิวเข้มขึ้น มักพบในชนชาติผิวขาว ตาสีฟ้าหรือน้ำตาลอ่อน ผมมีสีทองหรือทองแดง ได้แก่ ชาวยุโรป 15-30 หรือมากกว่า
3. สีขาว (White) ผิวมีโอกาสผิวไหม้แดง และเกิดอาการแสบร้อนได้ง่ายมากขึ้น หลังถูกแดดจะมีสีผิวแทนอ่อน ดำคล้ำเล็กน้อย สีผิวเข้มขึ้น พบได้ในชนชาติผิวขาวอมเหลือง ได้แก่ ชนชาติเอเชียในแถบโซนหนาว อาทิ จีนตอนบน ญี่ปุ่นบางแห่ง มองโกเลีย และรัชเชียตอนใต้ เป็นต้น 15-30 หรือมากกว่า
4. สีน้ำตาลอ่อน

(Light Brown)

ผิวมีโอกาสผิวไหม้แดง และเกิดอาการแสบร้อนได้เพียงเล็กน้อย สีผิวเกิดดำคล้ำพอประมาณ มีสีผิวเข้มขึ้นเป็นสีน้ำตาล ได้แก่ ชนชาติตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย 10-15
5. สีน้ำตาล (Brown) ผิวมีโอกาสผิวไหม้แดง และเกิดอาการแสบร้อนได้น้อยมากหรือไหม้ได้ยาก สีผิวดั้งเดิมมีสีแทนเข้มหรือเกือบดำ หลังถูกแดดสีผิวไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ได้แก่ ชาวอินเดีย ชาวอินเดียนาในอเมริกา เป็นต้น 10-15
6. สีน้ำตาลอมดำถึงสีดำ

(Dark brown or Black)

ผิวไม่ไหม้เลย โดยผิวดั้งเดิมมีสีดำเข้ม หลังถูกแดดสีผิวไม่มีการเปลี่ยน ได้แก่ ชาวนิโกรหรือชนชาติผิวดำในประเทศต่างๆ 6-10

เพิ่มเติมจาก : [1] อ้างถึงใน พิมพร สีลาพรพิสิฐ (2543)

ประเภทสารเคมีกันแดดที่ใช้ผสม

1. สารกันแดดประเภท Chemical
สารกันแดด Chemical เป็นสารที่มีคุณสมบัติดูดซับแสงอัลตร้าไวโอเลตได้ ทำให้มีปริมาณรังสีที่จะกระทบผิวหนังลดน้อยลง แบ่งได้ ดังนี้
1.1 PABA หรือ Paraaminobenzoic acid ปัจจุบันไม่มีการใช้แล้ว เพราะมีฤทธิ์ระคายเคือง บางรายมีอาการแพ้ง่าย และอาจเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง
1.2 PABA ester พัฒนามาจากกลุ่ม PABA มีคุณสมบัติต้านฤทธิ์ของสารเคมีอื่นอันไม่พึงประสงค์ แต่ยังคงประสิทธิภาพในการกันแดดเหมือนเดิม ได้แก่ Padimate-O
1.3 BENZOPHENONE ได้แก่
– Oxybenzone
– Sulisobenzone
1.4 CINNAMATES ได้แก่
– Octylmethyl Cinnamate
– Cinoxate
1.5 Salicylates ได้แก่ Homomenthyl Salicylate

2. สารกันแดดประเภท Physical
สารกันแดด Physical เป็นสารที่มีคุณสมบัติทึบแสง สามารถดูดซับรังสีไว้ได้ และกระจายหรือสะท้องรังสีออกไปจากผิวหนังได้ สารเคมีประเภท Physical ที่ใช้เป็นส่วนผสม ได้แก่ Titanium.Dioxide และ Zinc Oxide เป็นต้น

ค่า SPF หรือ ประสิทธิภาพสารกันแดด

ผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดทุกชนิดจะต้องมีการประเมินประสิทธิภาพของครีมกันแดดก่อนนำออกจำหน่าย ซึ่งค่าประสิทธิภาพของครีมกันแดดจะถูกระบุในค่าที่ชื่อ Sun Protecting Factor (SPF) หมายถึง ความสามารถของครีมกันแดดที่ทาแล้ว (2 มิลลิกรัม/ตารางเซนติเมตรผิวหนัง) ทำให้ผิวสามารถทนต่อแสงแดดได้นานในอัตราเท่าใดเมื่อเทียบกับผิวทั่วไปที่ไม่ได้ทาครีมกันแดด โดยความสามารถของผิวหนังที่ทนต่อแสงแดดได้ได้นั้น หมายถึง ระยะเวลาหลังการสัมผัสแสงแดดแล้วทำให้ผิวหนังเกิดอาการแดงน้อยที่สุด ซึ่งค่า SPF เป็นค่าที่เพิ่มขึ้นในอัตราส่วนเท่าตัวของค่าการทนแสงแดดได้ในผิวหนังที่ไม่ได้ทาครีมกันแดด ยกตัวอย่างเช่น

SPF 20 หมายถึง ครีมกันแดดมีประสิทธิภาพการกันแดดได้นาน 20 เท่า เมื่อเทียบกับผิวธรรมดาที่ไม่ได้ทาครีมกันแดด

ทั้งนี้ โดยทั่วไป ผิวหนังของคนเราสามารถทนต่อแสงแดดได้นานประมาณ 15 นาที ก่อนจะเกิดอาการไหม้แดง ดังนั้น ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 20 จะสามารถทนต่อแสงแดดได้นานประมาณ 20 เท่า ของ 15 นาที หรือประมาณ 300 นาที (5 ชั่วโมง) นั่นเอง

ข้อควรคำนึงเกี่ยวกับ SPF
1. ค่า SPF ที่ระบุจะน้อยหรือมากเท่าใด ก็ไม่ได้สามารถกรองหรือป้องกันรังสี UV ได้ 100%
2. SPF บ่งบอกประสิทธิภาพการกันรังสี UVB เท่านั้น เพราะเป็นค่าที่ได้จากการวัดระยะเวลาที่เกิดอาการผิวหนังไหม้แดด ซึ่งเกิดได้เฉพาะรังสี UVB จึงไม่สามารถบ่งบอกความสามรถในการกันรังสี UVA ได้
3. การใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงหรือประสิทธิภาพสูงเพียงใด ก็ไม่สามารถช่วยลดปัญหาของผิวหน้าจากแสงแดดได้ เพราะปัญหาผิวหน้าไม่ได้มาจากรังสี UVA และUVB เท่านั้น ซึ่งยังมีรังสีอื่น และปัจจัยอย่างอื่นที่ทำให้เกิดปัญหาผิวหน้าได้เช่นกัน
4. การทาครีมกันแดดในแต่ละคนอาจมีความหนาบางไม่เท่ากันหรือบางคนอาจทาหนาหรือบางกว่าค่ามาตรฐานการทาของการวัดค่า SPF คือ 2 มิลลิกรัม/ตารางเซนติเมตรผิวหนัง ดังนั้น หลังทาครีมกันแดดแล้ว ประสิทธิภาพการกันแดดหรือค่า SPF จะไม่ตรงตามที่ระบุได้

อันตรายจากครีมกันแดด

ครีมกันแดดบางชนิดมีการผสมสารเคมีที่อาจเกิดอันตรายต่อผู้ใช้ ได้แก่
1. ปรอทแอมโมเนีย
ปรอทแอมโมเนีย สามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังได้รวดเร็ว ออกฤทธิ์ทำลายอวัยวะภายในที่สำคัญ อาทิ ตับ ไต และระบบทางเดินหายใจ หากสัมผัสกับตาจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของนัยน์ตาขาว ทั้งนี้ สารชนิดนี้ถูกควบคุมไม่ให้ใช้เกิน 3%

2. ไฮโดรควิโนน
ไฮโดรควิโนน หากใช้ในปริมาณที่เข้มข้นมากหรือใช้ติดต่อกันนาน จะทำให้ผิวเปลี่ยนเป็นสีขาวผิดปกติ หรือมีรอยด่างขาวเกิดขึ้นทั่วบริเวณที่ทา ทั้งนี้ สารชนิดนี้ ห้ามใช้ผสมไม่เกิน 2% [1]

การแพ้ครีมกันแดด

ครีมกันแดดที่จำหน่ายในปัจจุบัน มักใช้ส่วนผสมของสารเคมีหลายชนิดที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน ทำให้ออกฤทธิ์ต่อผิวหนังที่แตกต่างกันตามมาด้วย ทำให้แต่ละคนมีโอกาสแพ้สารเคมีในครีมกันแดดได้มากขึ้น โดยเฉพาะครีมกันแดดประเภท chemical sunscreen ที่มีสารเคมีในกลุ่ม PABA และ Benzophenones รวมถึง antioxidant, preservative หรือ emulsifier ส่วนครีมกันแดดประเภท physical sunscreen ค่อนข้างปลอดภัย ต่อผิวหนัง และเกิดการแพ้ค่อนข้างน้อย เพราะไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ผิวหนัง

วิธีเลือกซื้อครีมกันแดด

1. เป็นครีมกันแดดที่ระบุคุณสมบัติว่าสามารถป้องกันได้ทั้งรังสี UVA และUVB
2. ชนิดของผิวหนังของผู้ใช้ ดังรายละเอียดของชนิดผิวหนัง 6 ชนิด ข้างต้น และสำหรับผิวคนไทย แนะนำให้เลือกซื้อครีมกันแดดที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป ซึ่งดูค่าในฉลาก
3. ลองทดสอบอาการแพ้ก่อนเลือกซื้อ ด้วยการทาบางๆบริเวณหลังมือ ซึ่งอาจทดสอบผลิตภัณฑ์จากคนอื่นที่ซื้อมาแล้ว
4. ความติดทนนานของเนื้อครีม และความคงประสิทธิภาพของค่า SPF อาทิ หากต้องการกันแดดจากกิจกรรมที่ร่างกายต้องแช่น้ำนานหรือว่ายน้ำ รวมถึงกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมาก ควรเลือกซื้อครีมกันแดดชนิด waterproof หรือ water-resistant เพราะมีคุณสมบัติเกาะติดผิวหนังได้ดี ละลายน้ำได้น้อย ทำให้ไม่ต้องทาซ้ำ โดย Waterproof และ Water-resistant คือ ครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพการกันแดด หรือมีค่า SPF ตามที่กำหนด และคงประสิทธิภาพได้นานประมาณ 80 นาที เมื่ออยู่ในน้ำหรือมีน้ำไหลชะ

วิธีใช้ครีมกันแดด

1. ทดสอบการแพ้ก่อน ด้วยการทาบางๆบริเวณหลังมือ
2. ให้ทาครีมเพียงบางๆให้ทั่วทุกบริเวณ โดยเฉพาะส่วนที่ไม่ได้ปกปิดด้วยเสื้อผ้า ไม่ควรทาหนาจนเลอะ
3. ให้ทาครีมกันแดดอย่างน้อย 30 นาที ก่อนออกทำกิจหรรมหรือสัมผัสแสงแดด และให้ทาซ้ำทุกๆ 2 – 3 ชั่วโมง หากยังทำกิจกรรมหรือสัมผัสแสงแดดนานกว่า 1-7 ชั่วโมง ซึ่งขึ้นอยู่กับค่า SPF ของครีมที่ใช้
4. หากต้องการแต่งหน้าร่วมกับการทาครีมกันแดด ให้ทาครีมกันแดดก่อนทุกครั้ง โดยเฉพาะครีมกันแดดที่ผสมสารกันแดดประเภท Chemical ส่วนครีมกันแดดที่ผสมสารประเภท Physical เช่น Titanium Dioxide และ Zinc Oxide อาจใช้ร่วมหรือทีหลังการใช้เครื่องแต่งหน้าก็ได้

เอกสารอ้างอิง

[1] เสาวลักษณ์ ปีกกลาง และอนงค์นาถ พรมพินิจ, การศึกษาค่าปกป้องแสงแดดของครีมกันแดด-
ที่มีจำหน่ายในพื้นที่ จังหวัดมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.