กลูต้าไธโอน เพื่อผิวขาวและขับสารพิษ

28040

กลูต้าไธโอน (glutathione) หรือเรียกย่อ GSH (γ-glutamyl-cysteinyl- glycine; GSH) เป็นสารที่อยู่ในเซลล์ร่างกายที่มนุษย์หรือสัตว์สามารถสังเคราะห์ขึ้นเองได้ ปัจจุบันเป็นสารที่นิยมใช้ในด้านความสวยความงามเพื่อผิวขาว และเป็นอาหารเสริม ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

กลูต้าไธโอน เป็นสารในกลุ่มไตรเปปไทด์ (tripeptide) ประกอบด้วยกรดอะมิโน 3 ชนิดยึดเกาะกัน คือ กลูตามีน (glutamine) ซีสตีอีน (cystenine) และไกลซีน (glycine) โดยมีสารประกอบซัลไฮดริก (SH) ร่วมเกาะบริเวณตำแหน่งซีสตีอีน มีสูตรเป็น C10H17N3O6S

กลูต้าไธโอน ในร่างกายพบมากในเซลล์ในส่วนของ cytosol ของเซลล์ประมาณร้อยละ 85-90 ส่วนที่เหลือพบที่องค์ประกอบต่างๆของเซลล์ เช่น ไมโตคอนเดรีย เป็นต้น ส่วนของนอกเซลล์พบในปริมาณน้อย เช่น ในเลือดพบ 2-20 มิลลิโมล/ลิตร เท่านั้น

กลูต้าไธโอน

โครงสร้างกลูต้าไธโอน

สถานะกลูต้าไธโฮน
อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของกลูต้าไธโอนจัดเป็นอาหารเสริมชนิดกรดอะมิโนถูกขึ้นทะเบียนในบัญชีรายชื่อส่วนประกอบที่สำคัญของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่กำหนดตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา ฉบับราชกิจนุเบกษา 18 ตุลาคม 2549 ที่กำหนดให้มีส่วนประกอบของแอล-กลูต้าไธโอน (L-glutathione) ไม่เกิน 250 มิลลิกรัม และเป็นผลิตภัณฑ์ที่แนะนำให้รับประทานได้ไม่เกิน 250 มิลลิกรัม/วัน ดังนั้น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของแอล-กลูต้าไธโอน มากกว่า 250 มิลลิกรัม จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณส่วนประกอบเกินค่ากำหนด

ฤทธิ์ทางยาของกลูต้าไธโอน
1. ต้านอนุมูลอิสระ และกำจัดสารพิษภายในเซลล์
กลูต้าไธโอนสามารถถูกออกซิไดซ์ด้วยสารอนุมูลอิสระหรือสารพิษกลายเป็น GSSG ได้ง่าย นั่นหมายความว่า อัตราส่วนของ GSH กับ GSSGจะชี้บ่งถึงอัตราการเกิดออกซิไดซ์อนุมูลอิสระ และสารพิษต่างๆภายในเซลล์ เช่น ยาฆ่าแมลง และกำจัดวัชพืช โลหะหนัก เป็นต้น ซึ่งอัตราส่วนนี้จะแสดงถึงความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ และการกำจัดสารพิษของร่างกาย กระบวนการต้านอนุมูลอิสระหรือสารพิษจะมีหมู่ซัลไฮดริก (SH) ทำหน้าที่สำคัญในการยึดเกาะกับอนุมูลอิสระหรือสารพิษภายในเซลล์ กลายเป็นสาร GSSG หรือสารในกลุ่มของกรดเมอแคพทูริค (mercapturic acid) ที่สามารถละลายน้ำได้ดี และกำจัดออกจากร่างกายต่อไป

2. เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
GSH มีความสำคัญต่อระบบภูมิต้านทานทำหน้าที่กระตุ้นการทำงานของเซลล์ลิมโฟซัยชนิดที (T cell) และ polymorpho nuclear leukocytes ช่วยจับกินสิ่งแปลกปลอม และต้านการติดเชื้อ Influenza virus ได้

โดยปริมาณ GSH ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ปริมาณ TH cell (CD4+ ) และ Cytotoxic T cell (CD8+ ) ซึ่ง TH cell ทำหน้าที่ในการช่วย เซลล์ลิมโฟซัยชนิดบี ในการสร้างแอนติบอดี ทั้งนี้ การทำงานของกลูต้าไธโอนในการเสริมสร้างภูมิต้านทานจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากได้รับวิตามินซี และอีในปริมาณที่เพียงพอ

3. เสริมสร้าง และซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอ
กลูต้าไธโอนทำหน้าที่ในการเสริมสร้างเซลล์ และซ่อมแซมเซลล์ ด้วยการทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การเสริมสร้างโปรตีน การเสริมความแข็งแรงของเม็ดเลือดแดง ช่วยกระตุ้นการซึมผ่านของสารอาหารเข้าสู่เซลล์ ปกป้อง และซ่อมแซมดีเอ็นเอไม่ให้ถูกทำลาย รวมถึงการป้องกันการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็ง

หน้าที่ดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับเซลล์ทำให้กลูต้าไธโอนมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกาย ทำให้อวัยวะต่างๆไม่โทรมเร็ว ดูอ่อนเยาว์ ร่างกายแข็งแรง และมีสุขภาพที่ดี

Medical ampoules and syringe

กลูต้าไธโอนเป็นสารสำคัญที่ทำหน้าที่ cofactor และช่วยในการคงตัวของเซลล์เม็ดเลือดแดง ในรูปของรีดักซิ่งกลูต้าไธโอน หากมีปริมาณน้อยจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย การควบคุมระดับกลูต้าไธโอนให้เป็นสารรีดิวซ์จะอาศัยเอนไซม์ NADPH ที่เกิดจากฟอสโฟกลูโคเนต และเอนไซม์กลูต้าไธโอนรีดักเตส (glutathione reductase)

สำหรับบางคนที่ขาดเอนไซม์ glucose-6-phosphate dehydrogenase ทำให้ไม่สามารถสร้าง NADPH ได้เพียงพอจะทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกง่าย และทำให้เกิดโรคโลหิตจางได้

เนื้อเยื่อที่เกิดภาวะเครียดออกซิเดชันจะทำให้เกิดไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) เกิดขึ้นภายในเนื้อเยื่อ ทั้งนี้ ร่างกายจะอาศัยกลูต้าไธโอนเข้าสลายไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ให้กลายเป็นน้ำโดยใช้เอนไซม์ glutathione peroxidase เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา

นอกจากนั้น กลูต้าไธโอนยังทำหน้าที่รักษาสภาพของฮีโมโกลบินที่มีเหล็กเป็นแกนกลางของโมเลกุล ที่เกิดสภาพภาวะเครียดออกซิเดชันที่เกิดจากฮีโมโกลบินขนส่งออกซิเจน และการเกิดอนุมูลอิสระในเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งจะช่วยรักษาสภาพของเซลล์เม็ดเลือดแดงได้อีกทาง

ในวัยผู้สูงอายุจะพบปริมาณกลูต้าไธโอนในร่างกายที่น้อยลงตามอายุที่มากขึ้น มีผลต่อความแข็งแรงของเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ทำให้แตกสลายง่าย นอกจากนั้น ปริมาณกลูต้าไธโอนที่น้อยลงตามวัยยังมีผลต่อความเปร่งปรั่ง ความเนียนขาวของผิวพรรณ จึงมักทำให้แลดูแก่ ผิวหนังหยาบก้าน ดำคล้ำง่ายเมื่ออายุสูงขึ้น ทั้งนี้ ภาวะการขาดกลูต้าไธโอนจะส่งผลต่อการทำงานของวิตามิน ซี และวิตามิน อี บกพร่องไป

การนำมาใช้ประโยชน์
กลูต้าไธโอนที่มีจำหน่ายในปัจจุบันมักอยู่ในรูปผงหรือสารละลาย รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกลูต้าไธโอน มีชื่อทางการค้า คือ Tationil มักมีจุดประสงค์ในด้านต่างๆ คือ
1. เพื่อผิวขาว
การใช้กลูต้าไธโอนเพื่อผิวขาวมักใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นผงในแคปซูลหรือการเข้ารับการฉีดเข้าเส้นเลือดโดยตรง ซึ่งความจริงแล้วการใช้ในลักษณะนี้ เป็นผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้กลูต้าไธโอน โดยผิวขาวที่เกิดขึ้นจะเกิดจากการที่ร่างกายมีปริมาณกลูต้าไธโอนสูงกว่าภาวะปกติมีผลยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสที่เกี่ยวข้องกับเม็ดสีผิวทำให้เม็ดสีผิวเปลี่ยนจากสีน้ำตาลดำเป็นสีขาวชมพู ซึ่งจะมองดูผิวพรรณออกขาวชมพูมากขึ้น

กระบวนการยับยั้งการสร้างเม็ดสีของกลูต้าไธโอน
1. เข้ายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรสิเนส สำหรับการสังเคราะห์เม็ดสีเมลานิน ด้วยการจับที่บริเวณมีทองแดงเป็นส่วนประกอบ
2. เข้าเปลี่ยนกระบวนการสังเคราะห์เม็ดสีเมลานิน จากสีสีน้ำตาลดำเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแดง
3. เข้ากำจัดสารอนุมูลอิสระ และเสารปอร์ออกไซด์ ที่มีส่วนกระตุ้นเอนไซม์ไทโรสิเนสในกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานิน
4. ปรับเปลี่ยนสาร และเพิ่มประสิทธิภาพความเป็นพิษต่อเซลล์สร้างเม็ดสีเมลานิน

2. อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ
ด้วยหน้าที่ของกลูต้าไธโอนที่กล่าวมาข้างต้นมีบทบาทสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพ ได้แก่ การต้านอนุมูลอิสระ และกำจัดสารพิษภายในเซลล์ การเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และการเสริมสร้าง และซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอ ซึ่งเป็นที่ปราถนาของคนทั่วไปที่จะทำให้ตนมีสุขภาพที่ดี

ในกลุ่มคนบางรายอาจมีภาวะกลูต้าไธโอนในร่างกายต่ำ ซึ่งจำเป็นต้องเสริมกลูต้าไธโอนให้ร่างกายเพิ่มขึ้นมักใช้ผลิตภัณฑ์กลูต้าไธโอนเป็นอาหารเสริมเพื่อสุขภาพหรือการฉีดเข้าเส้นเลือดโดยตรง

3. การลดพิษ และขับสารพิษ
การลดพิษ และกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย เช่น ยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืช เป็นต้น เนื่องจากกลูต้าไธโอนช่วยในการซ่อมแซมเซลล์ที่ได้รับการเสียหายจากพิษ และสามารถทำปฏิกิริยาลดพิษจากสารพิษที่ได้รับ โดยเฉพาะหมู่ซัลไฮดริล (-SH) ในกลุ่มของสารซีสตีอีน (cystenine) จะมีบทบาทสำคัญในการคอนจูเกชันกับสารพิษต่างๆที่แปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ด้วยการสร้างพันธะโควาแลนต์นำพาสารเหล่านั้นออกสู่ร่างกายหรือเปลี่ยนรูปสาร เป็นสารในกลุ่มของกรดเมอแคพทูริค (mercapturic acid) ที่มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี ทำให้สามารถกำจัดออกจากร่างกายได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น ยังใช้กลูต้าไธโอนฉีดเข้าเส้นเลือดสำหรับการรักษาผู้ที่ได้รับพิษจากโลหะหนัก เช่น พิษจากแคดเมียม พิษจากตะกั่ว พิษจากปรอท เป็นต้น นอกจากนี้ยัง พบว่า กลูจ้าไธโอนสามารถลด และป้องกันการถูกทำลายของตับจากพิษของแอลกอฮอล์ พิษของบุหรี่ พิษของสารเคมี และพิษของยาบางชนิด

4. การใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ได้แก่
– การใช้รักษาโรคทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน เนื่องจากกลูต้าไธโอนมีคุณสมบัติในการช่วยซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอ โดยเฉพาะเซลล์ประสาท และต้านการเสื่อมของเซลล์ได้

ลักษณะการนำมาใช้
1. การรับประทาน ทั้งในรูปชนิดผง และชนิดเม็ด เพื่อให้เกิดการดูดซึมบริเวณลำไส้เล็กเข้าสู่กระแสเลือด และเซลล์ต่อไป
2. การฉีดเข้าเส้นเลือดในรูปสารละลายของน้ำเกลือ ซึ่งต้องใช้อัตราส่วนการละลายที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถซึมเข้าสู่เซลล์เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้อัตราการเจือจางในปริมาณที่พอเหมาะสมจะทำให้การทำงานของกลูต้าไธโอนอยู่ในระดับที่ปลอดภัย และช่วยลดอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น

ข้อควรระวังในการใช้
1. กลูต้าไธโอนในรูปผลิตภัณฑ์ยาเม็ดหรือผงโดยการรับประทานจะเกิดผลน้อย เนื่องจากจะถูกย่อยสลายเป็นสารอื่นได้ง่ายในระบบทางเดินอาหาร จึงมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด แต่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการดูดซึมได้ด้วยการหลีกเลี่ยง และลดปริมาณการถูกย่อยบริเวณกระเพาะอาหารให้สามารถส่งผ่านไปยังบริเวณลำไส้ที่มีการดูดซึมสารเข้าสู่กระแสเลือดให้มากที่สุด อาทิ การรับประทานยาหลังรับประทานอาหาร การดื่มน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ และดื่มน้ำตามเป็นระยะ หลังจากดื่มน้ำครั้งแรก เพื่อลดปริมาณความเข้มข้นของกรด และช่วยการดูดซึมกลูต้าไธโอนบริเวณลำไส้ให้มากที่สุด

2. การฉีดกลูต้าไธโอนเข้าเส้นเลือดในปริมาณมากอาจทำให้เกิดการช็อค ความดันต่ำ หายใจลำบากและเสียชีวิตได้ง่าย

3. ผิวขาวที่อาจเกิดขึ้นจากผลการใช้กลูต้าไธโอนเป็นเพียงผลที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น หากหยุดใช้สีผิวจะกลับมาตามสภาพเดิม รวมถึงอาจมีอาการแพ้สำหรับบางรายที่มีภูมิไวต่อสารนี้

4. การใช้กลูต้าไธโอนในปริมาณมากหรือติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะทำให้เม็ดสีที่ตาลดลง ตารับแสงได้น้อย มีผลต่อการมองเห็นในระยะต่อมา

5. การใช้กลูต้าไธโอนในปริมาณมากจะทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของกลูต้าไธโอนเอง ส่งผลกลับกันเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

6. การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์กลูต้าไธโอนในบางแห่งอาจมีการโฆษณาชวนเชื่อเกินความเป็นจริงหรือผลิตภัณฑ์ที่ซื้ออาจเป็นของปลอมที่หากใช้แล้วอาจมีผลต่อร่างกายได้ซึ่งต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนทุกครั้ง

7. การใช้สารกลูต้าไธโอนทั้งการรับประทานหรือการฉีด ควรได้รับการแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะการฉีดควรได้รับการปฏิบัติจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

8. การใช้สารกลูต้าไธโอนมักเห็นผลดีในวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ และจะมีประสิทธิภาพน้อยลงเมื่อใช้ในวัยที่มีอายุมากขึ้น เนื่องจากร่างกายมีการเสื่อมของเซลล์จึงยากแก่การฟื้นฟู และปริมาณสารที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกลูต้าไธโอนจะน้อยลงตามวัย ดังนั้น การใช้ในวัยผู้ใหญ่อายุมากหรือวัยผู้สูงอายุจึงไม่มีประสิทธิภาพนัก

9. หากพบมีอาการผิดปกติ ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย