ลิควิดเปเปอร์/น้ำยาลบคําผิด

37852

ลิควิดเปเปอร์ หรือ น้ำยาลบคําผิด เป็นอุปกรณ์สำนักงานที่มีการใช้มากในด้านงานเอกสารสำหรับใช้ทาหรือป้ายทับคำผิดบนเอกสารเพื่อลบหรือการเขียนทับคำผิดนั้น มีจำหน่ายทั้งแบบแปรงป้าย และแบบหัวลูกลื่น

วิธีลบหมึกหรือทำให้หมึกบนกระดาษถูกลบหรือจางหายสามารถทำได้ 3 วิธี คือ
1. ใช้น้ำยาลบหมึกที่ทำให้สีจาง
น้ำยาชนิดนี้เป็นน้ำยาที่สามารถผสมขึ้นเองได้ ดังนี้
– ผสมน้ำมะนาว 1 ส่วน กับน้ำ 1 ส่วน เป็นสารละลายตัวที่ 1
– ผสมกับน้ำยาซักผ้าขาว 1 ส่วน น้ำ 2 ส่วน เป็นสารละลายตัวที่ 2

การใช้น้ำยาที่ผสมได้จะใช้กับสำลีชุบสารละลายตัวที่ 1 พอหมาดๆ แตะหรือป้ายบนคำผิด ทิ้งไว้สักครู่ หากเปียกมากให้ใช้กระดาษทิชชูซับ จากนั้นใช้สำลีชุบสารละลายตัวที่ 2 พอหมาดๆ แตะซับคำผิดจนรอยหมึกจางหาย เมื่อเอกสารแห้งก็สามารถเขียนทับได้ลิควิดเปเปอร์

2. ใช้น้ำยาฟอกสี
เป็นน้ำยาที่มีสารเคมีออกฤทธิ์ในการฟอกสีได้ ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้สารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรด์ที่มีโซเดียมออกซีคลอไรด์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 แต่ไม่มากกว่าร้อยละ 6 วิธีการใช้จะใช้สำลีชุบน้ำยาพอหมาดๆ แตะทับบนคำผิดจนสีหมึกจางหาย

3. ใช้ลิควิดเปเปอร์ หรือ น้ำยาลบคําผิด
ลิควิดเปเปอร์ หรือ น้ำยาลบคําผิด เป็นวิธีที่นิยมใช้ลบคำผิดในปัจจุบัน ที่ประกอบด้วยสารเคมีทำหน้าที่ในการเคลือบทับคำผิด โดยลิควิดเปเปอร์ที่ดีต้องมีคุณสมบัติในด้านต่างๆ ได้แก่
– สามารถเคลือบทับเป็นฟิล์มปิดทับคำผิดได้เรียบเนียน ทั้งนี้ ขึ้นกับปริมาณน้ำยาที่เรากดทับ
– สามารถเกาะติดเอกสารได้ดี หลุดลอกยาก
– ไม่ทำปฏิกิริยากับหมึกบนกระดาษ
– ไม่ทำปฏิกิริยากับเอกสารหรือทำให้เอกสารบิดเบี้ยว เป็นรู หรือเสียหาย
– มีความอ่อนตัว และยืดยุ่นได้ดีเมื่อแห้งตัว
– มีความหนืด ไม่เหลวเป็นน้ำเลอะเอกสาร
– สามารถแห้งตัวได้เร็ว
– เมื่อแห้งตัวจะเรียบเนียนเป็นสีเดียวกันกับเอกสาร สามารถเขียนทับด้วยหมึกอีกครั้งได้ง่าย
– ขณะเขียนทับน้ำยาที่แห้งแล้วจะไม่แตกเป็นผงง่าย

ชนิดของลิควิดเปเปอร์
1. ชนิดที่ใช้สารอินทรีย์เป็นตัวทำละลาย เป็นชนิดที่มีการใช้สารอินทรีย์เป็นตัวทำละลาย ได้แก่ แอลกอฮอล์ คีโตน เบนซีน โทลูอีน อีเทอร์ ไกลคอน คาร์บอนเตตระคลอไรด์ รวมถึงสารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดอื่นๆ
2. ชนิดที่ใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย เป็นชนิดที่ใช้น้ำเป็นตัวทำละลายเป็นหลัก แต่อาจผสมสารอื่นเพื่อให้น้ำยามีการละลายตัว และป้องกันการตกตะกอน เช่น แอลกอฮอล์ อีเทอร์ เป็นต้น

ส่วนประกอบของลิควิดเปเปอร์

1. ผงสี เป็นสารให้สีที่สามารถปิดคลุมพื้นผิวของรอยหมึกบนเอกสาร และทำหน้าที่อื่นๆ เช่น ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของฟิล์ม ลดความเงาของฟิล์ม ลดความลื่นของฟิล์ม ป้องกันการเสื่อมสภาพของน้ำยาหรือฟิล์มที่แห้งบนเอกสาร เป็นต้น โดยทั่วไปจะนิยมใช้สารที่ให้สีขาวที่กลมกลืนกับสีของเอกสารมากที่สุด ที่นิยมใช้ ได้แก่ ไททาเนียมไดออกไซด์ และซิลิกาไดออกไซด์ ร้อยละ 10-20

2. เนื้อลิควิดเปเปอร์หรือสารนำสี เป็นสารที่ทำหน้าที่เป็นสารเคลือบหรือเป็นชั้นฟิล์มปกปิดรอยหมึกร่วมด้วยกับสารให้สี สารเหล่านี้มักเป็นสารที่ได้จากกระบวนการทางปิโตรเคมี เช่น อะคริลิก เรซิน (acrylic resin) อะคริลิก อีมัลชัน (acrylic emulsiion) และพอลิไวนิลอะวิเตท (polyvinyl acetate) เป็นต้น สารเหล่านี้ต้องมีคุณสมบัติที่ดีต่างๆ คือ
– สามารถละลาย และรวมตัวกับสารให้สีทีดี
– ไม่รวมตัวหรือแยกตัวตกตะกอนออกจากตัวทำละลาย
– แห้งตัวได้เร็ว
– สามารถเกิดเป็นขั้นฟิล์มบางๆ
– เนื้อฟิล์มมีความแข็งแรง ไม่แตกเปราะง่าย
– ไม่สะท้อนแสงหรือเป็นมันวาว

3. ตัวทำละลาย เป็นสารที่ทำหน้าละลายเนื้อลิควิดเปเปอร์หรือสารนำสี และช่วยปรับความหนืดของน้ำยา ตัวทำละลายที่ใช้แบ่งเป็นน้ำ และตัวทำละลายอินทรีย์ตามที่กล่าวข้างต้น ซึ่งต้องใช้ในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อให้มความหนืดของน้ำยาที่เหมาะสม โดยทั่วไปจะใช้ในปริมาณร้อยละ 40-80 สารตัวทำละลายนี้ควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
– มีความระเอียดไม่เกิน 40 ไมโครเมตร
– มีจุดเดือดในช่วงอุณหภูมิ 60-120 องศาเซลเซียส
– สามารถละลายเนื้อลิควิดเปเปอร์หรือสารนำสีได้อย่างดี
– ไม่ทำปฏิกิริยากับหมึกหรือละลายหมึก
– ตัวทำละลายอินทรีย์ ควรแห้งภายใน 1 นาที ตัวทำละลายด้วยน้ำ ควรแห้งภายใน 3 นาที
– กำลังซ่อนแสงไม่น้อยกว่าร้อยละ 90

ตัวทำละลายชนิด  halogenated hydrocarbon ใช้เป็นส่วนผสมประมาณร้อยละ 75 มีจุดเดือดในช่วง 70-170 องศาเซลเซียส เช่น tricholorethane, tricholorethylene เป็นต้น
ตัวทำละลายชนิด  halogenated hydrocarbon ที่ใช้ผสมกับสารละลายอินทรีย์ จะใช้เป็นส่วนผสมสารละลายอินทรีย์ประมาณร้อยละ 25

4. สารเติมแต่ง เช่น พลาสติไซเซอร์ เพื่อป้องกันการเปราะของน้ำยาเมื่อแห้ง ดิสเพอร์เซนต์ (dispersant) เพื่อป้องกันการแยกตัวของสาร และการตกตะกอนของสารละลาย

ลักษณะการใช้ และข้อควรระวัง
ลักษณะการใช้งานลิควิดเปเปอร์แบ่งเป็น 2 แบบ ตามลักษณะของผลิตภัณฑ์ คือ
1. แบบแปรงป้าย เป็นชนิดที่มีแปรงยึดติดกับฝาปิดขวด แปรงนี้ใช้สำหรับจุ่มน้ำยาเพื่อนำมาป้ายบนคำผิด
2. แบบหัวลูกลื่น เป็นชนิดที่มีหัวลูกลื่นควบคุมการไหลของน้ำยา เมื่อใช้กดหัวลูกลื่น และบีบขวดน้ำยาเล็กน้อย

ก่อนใช้น้ำยาลิควิดเปเปอร์แต่ละครั้งต้องเขย่าก่อน และหลังใช้ต้องปิดฝาให้สนิท